อ่าน 2,100 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 86/2555: 24 กรกฎาคม 2555
มูลค่าความเสียหายจากมลพิษลำตะคอง 5 ล้านบาท

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
sopon@area.co.th

          การสำรวจเบื้องต้นนี้มุ่งชี้ให้เห็นถึงความรับผิดชอบของโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยสารพิษทำลายสิ่งแวดล้อม กรณีโรงน้ำแข็งในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา โดยสมควรจ่ายค่าทดแทนเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการกระทำของโรงงานซึ่งถือเป็นการละเมิดต่อผลประโยชน์ของบุคคล ชุมชนและนครแห่งนี้โดยรวม
          ตามที่มีข่าวว่าโรงงานผลิตน้ำแข็งแห่งหนึ่งได้ปล่อยสารแอมโนเนียลงคลองลำตะคองในเขตตัวเมืองนครราชสีมา จนปลาตายนับแสนตัว “ที่เน่าตายหลายร้อยตัวกำลังมีไข่อยู่เต็มท้อง ทั้งปลาตะเพียน ปลากรายตัวขนาดยาวกว่า 1 เมตร ปลานิล ปลาสูบ ปลาข้าว ปลาหมอ เป็นต้น รวมทั้งปลาตัวเล็กตัวน้อยอีกมากมาย” {1} เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ที่ผ่านมานั้น ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส และประธานก่อตั้งมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย และคณะได้ออกสำรวจเบื้องต้นเพื่อประเมินค่าความเสียหายเบื้องต้นจากมลพิษในกรณีนี้เมื่อวันเสาร์ที่ 21กรกฎาคม 2555 และจึงได้จัดทำรายงานฉบับนี้นำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาเพื่อหามาตรการป้องกันและแก้ไขในโอกาสต่อไป
          สารที่สร้างมลพิษในครั้งนี้คือ “แอมโมเนีย” (Ammonia) ซึ่งเป็นสารประกอบเคมีของธาตุไนโตรเจน และไฮโดรเจน (NH3) โดยเป็นแก๊สไม่มีสี มีกลิ่นฉุน สามารถละลายน้ำได้ดี  ระดับความเข้มข้นของแอมโมเนียที่มีผลกระทบต่อสัตว์น้ำ แบ่งเป็นช่วงได้ดังนี้ (มิลลิกรัมต่อลิตร)
          0.1 - 0.4 สัตว์เจริญเติบโตช้า
          0.5 - 1 สัตว์มีอาการเครียด หายใจเร็ว
          2 - 3 สัตว์มีอาการเครียด หายใจเร็ว อ่อนแอ เกิดการติดเชื้อจากแบคทีเรีย และเริ่มตาย
          4 - 7 อัตราการตายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง {2}
          โดยปกติในแม่น้ำลำคลองควรมีแอมโมเนียไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัมต่อลิตร {3} แต่จากการตรวจสอบที่เกิดเหตุกลับมีปริมาณสูงถึง 8.4 มิลลิกรัมต่อลิตร {4}
          ในกรณีปลาตายนับแสนตัวที่ลำตะคองนี้ ค่าความเสียหาย หรือผลกระทบเชิงลบ รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการปรับสภาพให้กลับคืนสู่ปกติในเบื้องต้น มีดังนี้
          1. สำหรับปลาที่ตายไปจากการกระทำของโรงงานในครั้งนี้ ในเบื้องต้นทางราชการประเมินไว้ว่ามีมูลค่าประมาณ 100,000 บาท สำหรับปลาที่ตายไปเกือบ 3,000 กิโลกรัม {5} หากพิจารณาจากราคาขายส่งปลา ณ ตลาดไท จะพบว่าราคาปลามีความหลากหลาย {6} ทั้งชนิดและขนาดของปลา  หากใช้ราคาปานกลางสำหรับปลาทั่วไป และขนาดปานกลาง อาจอนุมานได้ว่ามีราคากิโลกรัมละ 50 บาท ก็คงเป็นราคาประมาณ 150,000 บาท (สำหรับน้ำหนัก 3,000 กิโลกรัม) อย่างไรก็ตามยังอาจมีสัตว์น้ำอื่นที่สูญเสียไปจากสารพิษในครั้งนี้ที่คงมีมูลค่าพอสมควร จึงประมาณการความสูญเสียสัตว์น้ำนี้อยู่ที่ประมาณ 200,000 บาท
          2. ค่าบำบัดน้ำ ทั้งนี้ได้สอบถามข้อมูลจากบริษัทบำบัดน้ำเสียในกรณีนี้ 2 แห่งคือ บจก.ไทยจุลินทรีย์ (http://thaimicroorganisms.com) โดยคุณนิตย์ ตั้งสุกุล (โทร.084.666.609 086.376.7080) และ บจก.ฉัตรวัฏฏ์ (http://www.จุลินทรีย์เข้มข้น.com) โดยคุณวิริยา รัชเวทย์ (โทร. 081.843.3263 081.843.3263) สำหรับการบำบัดคลองลำตะคองที่มีความกว้างประมาณ 8 เมตร ลึก 1 เมตร ยาว 3 กิโลเมตร นั้น บริษัทแรกเสนอราคา 300,000 บาท เป็นระยะเวลา 1 เดือน ส่วนบริษัทที่สองยินดีช่วยราชการเป็นเชิงทดลองกึ่งให้เปล่าเป็นเงินเพียง 50,000 บาท ใช้ระยะเวลาบำบัดประมาณ 1 สัปดาห์ ในกรณีนี้คณะผู้ประเมินค่าทรัพย์สินจึงประมาณการเราคาตลาดเบื้องต้นในการบำบัดเป็นเงินประมาณ 200,000 บาท
          3. ค่าพันธุ์ปลาทดแทน ซึ่งศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดนครราชสีมา ได้จัดเตรียมพันธุ์ปลา จำนวน 200,000-300,000 ตัวมาปล่อยทดแทนปลาที่ตายไปหลังจากการบำบัดน้ำแล้ว {7} ทั้งนี้พันธุ์ปลาตัวหนึ่งมีราคาเฉลี่ยประมาณ 20 สตางค์ต่อตัว {8} จึงรวมเป็นเงินประมาณ 40,000 – 60,000 บาท  อย่างไรก็ตามอัตราการรอดของปลาที่มีประมาณ 10% โดยพิจารณาจากการเลี้ยงปลาหมอไทยในบ่อดิน อัตรารอด 40% {9} แต่ถ้าเป็นปลาการ์ตูนขาวในทะเลกระบี่จะมีอัตรารอดเพียง 10% ซึ่งยังมากกว่าอัตรารอดจากการปล่อยปลาธรรมดา 10 เท่า แต่หากดูแลอย่างดีจะมีอัตรารอดสูงถึง 27% {10} ดังนั้นการปล่อยปลาประมาณ 200,000 – 300,000 ตัวต่อครั้งต้องปล่อยถึงประมาณ 10 ครั้งจึงจะทดแทนปริมาณปลาที่สูญเสียไปได้ ดังนั้นจึงมีมูลค่ารวมถึงประมาณ 400,000 – 600,000 บาทในการสร้างปลาขึ้นทดแทน ดังนั้นในกรณีนี้คณะผู้ประเมินจึงประเมินไว้เป็นเงิน 500,000 บาท
          4. ในระหว่างนี้ถึงช่วงเวลาที่ปลามีอายุเพียงพอที่จะนำมาบริโภคได้อาจใช้เวลาพอสมควร โดยอายุของปลาช่อนที่ขายได้ในตลาดมีอายุประมาณ 1 ปี {11} อายุปลาดุกขายได้คือ 3 เดือน {12} และหากพิจารณาถึงปลาอื่น ๆ จึงอาจกล่าวได้ว่า กว่าปลาจะมีอายุพอจะนำมาบริโภคได้อาจใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 4 เดือนโดยเฉลี่ย  ในระยะเวลาดังกล่าวจึงเป็นความสูญเสียโอกาสของชาวบ้านที่จะจับสัตว์น้ำมาบริโภค และอาจต้องซื้อในตลาดเปิดในราคาที่แพงกว่าต้นทุนในการจับ ในที่นี้อาจคิดเป็นเงินประมาณ 166,667 บาท โดยคำนวณจากค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูชีวิตสัตว์น้ำตามข้อ 4 ซึ่งอาจใช้เวลาราว 1 ปี แต่ในกรณีการขาดโอกาสการบริโภคในช่วง 4 เดือนแรกนี้ จึงควรเท่ากับเงิน 500,000 บาท x 4 เดือนที่ไม่สามารถจับสัตว์น้ำได้ / 12 เดือนในการฟื้นฟู
          5. โอกาสในการผลิตน้ำประปาก็เสียหายไปจากสารพิษที่โรงงานดังกล่าวทำรั่วลงลำตะคองด้วยเช่นกัน ตามปกติการประปาของเทศบาลนครนครราชสีมา สูบน้ำทางท่อจากลำตะคองมาผลิตน้ำประปา แต่น้ำบางส่วนก็สูบจากน้ำผิวดินของลำตะคองบริเวณโรงกรองน้ำอัษฎางค์ เขตเทศบาลนครนครราชสีมา ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ รพ.มหาราชนครราชสีมา โดยสูบขึ้นมาใช้วันละประมาณ 30,000 ลูกบาศก์เมตร {13} หากไม่สามารถสูบน้ำมาทำน้ำประปาประมาณ 30 วัน ก็เป็นปริมาณน้ำถึง 900,000 ลูกบาศก์เมตร จากข้อมูลของการประปานครหลวงและการประปาส่วนภูมิภาค รวมทั้งการประปาเทศบาลนครนครราชสีมาพบว่าราคาขายเฉลี่ยคงเป็นเงินประมาณ 10 บาทต่อลูกบาศก์เมตร {14} โดยต้นทุนผลิตน้ำประปาอยู่ที่ระบบน้ำดิบ ระบบผลิตน้ำประปา ระบบส่งจ่ายน้ำประปา อย่างไรก็ตามหากสมมติให้ต้นทุนน้ำดิบเป็นเงินเพียง 20% ของราคาขาย ความสูญเสียนี้จึงเป็นเงิน 1,800,000 บาท หรือเท่ากับ 20% ของ 9,000,000 บาท (น้ำจำนวน 900,000 ลูกบาศก์เมตร ๆ ละ 10 บาท)
          6. ตามรายงานข่าวยังกล่าวว่า ชาวบ้านประมาณ 1,000 ครอบครัวต้องทนกับกลิ่นเหม็นคละคลุ้งของปลาที่ตายจำนวนมหาศาล หากในระหว่างการจัดการทำความสะอาด ต้องย้ายที่อยู่อาศัยไปพักชั่วคราวเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาสุขภาพเป็นเวลา 1 คืน ๆ ละ 1,000 บาทต่อครอบครัว ก็เป็นเงินค่าเสียหายรวม 1,000,000 บาท ที่ละเมิดต่อการอยู่อาศัยตามปกติของชาวบ้าน
          7. นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากเหตุการณ์ครั้งนี้โดยหน่วยราชการหลายแห่งทั้งจากส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น ต้องระดมสรรพกำลังในการทำความสะอาดเบื้องต้น พิสูจน์ สอบสวน ตรวจสอบ เป็นเวลาหลายวันติดต่อกัน กรณีนี้มีค่าใช้จ่ายที่แน่นอนโดยประมาณการว่ามีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาปฏิบัติงานแก้ไขปัญหานี้ โดยเป็นระดับสูงจำนวน 30 คน มีค่าใช้จ่ายต่อวัน ๆ ละ 3,000 บาท (รวมค่าเดินทาง เงินเดือนและค่าใช้จ่ายอื่น) เป็นเวลา 4 วันทำงาน และระดับกลาง-ล่าง จำนวน 100 คน ๆ ละ 500 บาท เป็นเวลา 10 วันทำงาน รวมเป็นเงินประมาณ 860,000 บาท
          8. ค่าเฝ้าระวัง โดยที่โรงงานดังกล่าวได้ทำลายสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง จึงควรมีการเฝ้าระวังเป็นระยะ ๆ โดยมีเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมงเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี และมีการสุ่มตรวจสอบคุณภาพน้ำในคลองด้านหลังโรงงานทุกเดือน โดยประมาณการค่าเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังเป็นเงินเดือนละ 24,000 บาท (อัตราต่ำเท่าการจ้างยาม 3 กะ) และค่าตรวจสอบคุณภาพน้ำอีกครั้งละ 5,000 บาท เป็นเวลา 12 เดือน รวมเป็นเงิน 360,000 บาท
          โดยรวมแล้ว ในเบื้องต้นความสูญเสียจากโรงงานน้ำแข็งในครั้งนี้เป็นเงินรวม 5,074,667 บาท โดยแยกเป็น:
          1. ปลาที่ตายไปมีมูลค่า 200,000 บาท
          2. ค่าบำบัดน้ำให้คืนสู่สภาพเดิม 200,000 บาท
          3. ค่าพันธุ์ปลาทดแทน 500,000 บาท (โดยต้นทุนค่าผลิตปลาทดแทนสูงกว่าราคาปลาปัจจุบัน)
          4. ค่าเสียโอกาสจับสัตว์น้ำ 166,667 บาท
          5. ค่าเสียโอกาสในการผลิตน้ำประปา 1,800,000 บาท
          6. ค่าย้ายที่อยู่อาศัยชั่วคราว 1,000,000 บาท
          7. ค่าใช้จ่ายของส่วนราชการในการแก้ไขปัญหา 860,000 บาท
          8. ค่าเฝ้าระวัง 348,000 บาท
          โดยสรุปแล้วความสูญเสียเป็นเงินส่วนนี้ เป็นสิ่งที่โรงงานที่เป็นต้นเหตุต้องจ่ายเพื่อการแก้ไขปัญหาและในฐานที่ละเมิดต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้โรงงานนี้และโรงงานอื่นที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงคือริมแม่น้ำหรืออยู่ในย่านชุมชน ควรมีระบบป้องกันการก่อมลพิษที่ได้รับการตรวจสอบอย่างโปร่งใสจากทางราชการโดยเผยแพร่ต่อชุมชนโดยรอบอย่างสม่ำเสมอ และควรมีการประกันภัยให้ครอบคลุมวงเงินข้างต้น เพื่อเบิกจ่ายเพื่อชดใช้ค่าเสียหายข้างต้นได้ในทันที
          ผลการสำรวจนี้ควรเป็นกรณีตัวอย่างของการเรียกร้องความเสียหายจากกิจการอุตสาหกรรมต่อไป และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสิ่งแวดล้อมจะดำเนินการกับโรงงานต่าง ๆ โดยเคร่งครัด องค์กรเคลื่อนไหวเอกชนหรือ NGOs ควรเข้าศึกษาสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง สื่อมวลชนต่าง ๆ ควรติดตามสถานการณ์โดยใกล้ชิด เพื่อให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม และให้กรณีความเสียหายเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นอีกในประเทศไทย

อ้างอิง
{1}       เร่งมือกู้”ลำตะคอง” น้ำเป็นพิษ ปลาลอยตายนับแสน http://www.naewna.com/local/14241
{2}       พื้นฐานการดูแลรักษาโรคปลา http://www.arohouse.com/article/?action=view&catID=0000123&pid=0000262
{3}       มาตรฐานของแม่น้ำลำคลองและคุณภาพของน้ำในแหล่งน้ำประเภทต่าง ๆ  http://web.ku.ac.th/schoolnet/snet6/envi3/subwater1/standard.htm และที่ http://www.pcd.go.th/info_serv/reg_std_water05.html
{4}       พบหลักฐานโรงน้ำแข็งปล่อยแอมโมเนีย ส่งฟ้องพรุ่งนี้ http://breakingnews.nationchannel.com/home/read.php?newsid=641805&lang=T&cat=
{5}       ผงะปลากว่า3ตันถูกสารพิษลอยตายเป็นแพลำตะคอง http://www.dailynews.co.th/thailand/135947 และ โคราชถกหาสาเหตุปลา “ลำตะคอง” ตาย ลั่นพบใครผิดฟันทั้งแพ่งอาญา – บุกตรวจโรงน้ำแข็ง http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9550000086806
{6}       ราคาปลาน้ำจืด ณ ตลาดไท ณ วันจันทร์ที่ 23 กรกฎาคม 2555 http://www.talaadthai.com/price/default.php?gettid=13&getdate=&pageno=1&selday=&selmonth=&selyear=
{7}       คาดเหตุปลาลอยตายเกลื่อนลำตะคองไม่เกี่ยวกับน้ำเน่าเสีย http://www.mcot.net/cfcustom/cache_page/388621.html
{8}       ราคาจำหน่ายพันธุ์สัตว์น้ำ (กรณีสิงบุรี) http://www.fisheries.go.th/sf-singburi/web2/index.php?option=com_content&view=article&id=8&Itemid=10
{9}       การเพาะเลี้ยงปลาหมอไทย  http://www.fisheries.go.th/if-korat/index.php?option=com_content&view=article&id=24:2009-09-09-08-14-48&catid=1:2009-08-04-06-15-39&Itemid=51
{10}     การทดลองปล่อยปลาการ์ตูนส้มขาวโดยใช้กรงครอบดอกไม้ทะเล บริเวณเกาะห้าเหนือ จ.กระบี่ http://kucon.lib.ku.ac.th/cgi-bin/KUCON.exe?rec_id=010404&database=KUCON&search_type=link&table=mona&back_path=/KUCON/mona&lang=thai&format_name=TFMON และอีกชิ้นหนึ่งของ ราตรี สุขสุวรรณ์ และ เกียรติศักดิ์ เอี่ยนเล่ง http://www.dmcr.go.th/elibrary/elibraly/book_file/Book20110408115958.pdf
{11}     อายุของปลาช่อนเพื่อการพาณิชย์ประมาณ 1 ปี http://www.fisheries.go.th/it-network/knowledge/snackhead/Snackhead%20fish23.htm
{12}     อายุปลาดุกขายได้คือ 3 เดือน http://www.rakbankerd.com/agriculture/open.php?id=1110&s=tblblog
{13}     ประมงโคราชตรวจปลา “ลำตะคอง” ตายเป็นเบือ-คาดเหตุปล่อยสารพิษลงลำน้ำ http://manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9550000086601
{14}     อัตราค่าน้ำ การประปานครหลวง http://www.mwa.co.th/ewt/mwa_inter/watercost.html และอัตราค่าน้ำของการประปาส่วนภูมิภาค http://www.pwa.co.th/service/tariff_rate.html และการประปาเทศบาลนครนครราชสีมา http://110.164.64.56/water/p15.html รวมทั้งบทวิเคราะห์ ที่ http://board.dserver.org/t/tedkun2000/00000001.html และที่ http://202.129.59.73/pp/pwa/pwa.htm

คณะผู้ศึกษา
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย อ.วสันต์ คงจันทร์ กรรมการมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย และ อ.เอกชัย เปลี่ยนโพธิ์ กรรมการมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย และนางวิไลพรรณ หลวงยา สมาชิกมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย

ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved