ในภาวะวิกฤติโควิด-19 นี้ หลายคนคงอยากรู้ว่าอนาคตของตลาดอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัยจะไปทางไหน แต่ก่อนจะรู้ว่าจะไปทางไหน เราควรรู้ก่อนว่าแล้วสถานการณ์ที่แท้จริงเป็นอย่างไร ศูนย์ข้อมูลที่ ดร.โสภณดำเนินการอยู่มีข้อมูลที่ชัดเจนที่สุด แต่อาจไม่ได้รับการเสนอในสื่อที่หลากหลาย เนื่องจากเป็นข้อมูลทางวิชาการ ไม่ได้เป็นข่าวที่ชาวบ้านทั่วไปสนใจมากนัก
หลายคนอยากทราบว่าขณะนี้มีสินค้าที่อยู่อาศัยเหลืออยู่ในมือผู้ประกอบการอยู่เท่าไหร่ ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทยเป็นแหล่งข้อมูลเดียวที่ภาครัฐและภาคเอกชนสามารถรับรู้ข้อมูลที่ชัด ลึกและทันสมัยและเป็นกลางที่สุดโดยไม่ต้องเสียงบประมาณนับร้อยล้านต่อปี เราเป็นศูนย์ข้อมูลที่ไม่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใดๆ ไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม เพราะเรามั่นใจว่าการรู้ความจริง จะทำให้เราสามารถกำหนดนโยบายและแผนที่ถูกต้องในการพัฒนาธุรกิจหรือพัฒนาประเทศชาติของเราได้
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) กล่าวว่าศูนย์ข้อมูลเป็นหน่วยงานที่สำรวจข้อมูลอย่างกว้างขวาง และต่อเนื่องที่สุดในประเทศไทย พบว่า ณ เดือนเมษายน 2563 พบว่า ในเวลานี้ยังมีสินค้าในมือของผู้ประกอบการพัฒนาที่ดินอยู่ทั้งหมด 223,519 หน่วยรอผู้มาซื้ออยู่ โดยมีมูลค่ารวมกันประมาณ 954,121 ล้านบาท หรือเฉลี่ยเป็นเงินหน่วยละ 4.269 ล้านบาทเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล หากประมาณการรวมทั่วประเทศ คาดว่าน่าจะมีจำนวนรวมถึง 368,806 หน่วย รวมเป็นเงิน 1,354,940 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 3.674 ล้านบาทต่อหน่วย
เฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ปรากฏว่า
1. สินค้าสำคัญกลุ่มใหญ่ที่สุดขายในราคา 2-3 ล้านบาท จำนวน 69,354 หน่วย หรือ 31% หรือราวหนึ่งในสามของทั้งหมด รองลงมาเป็นในระดับราคา 3-5 ล้านบาท จำนวน 58,817 หน่วย หรือ 26% สำหรับสินค้าราคาต่ำกว่า 2 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นระดับราคาค่อนข้างต่ำมีอยู่รวมกันในตลาดเพียง 23% ของทั้งหมด หรือราว 50,677 หน่วย
2. ห้องชุดเป็นสินค้าที่เหลือขายอยู่มากที่สุดโดยห้องชุดเหลือขายอยู่ 95,558 หน่วย หรือ 43% ของสินค้าทั้งหมด รองลงมาคือ ทาวน์เฮาส์ จำนวน 69,482 หน่วย (31%) และบ้านเดี่ยว 37,129 หน่วย (17%)
3. ห้องชุดที่มีหน่วยรอขายมากที่สุดอยู่ที่ระดับราคา 2-3 ล้านบาท จำนวน 30,546 หน่วย ในมูลค่ารวม 74,991 ล้านบาท
4. ส่วนทาวน์เฮาส์ที่เหลือขายมากที่สุดคือทาวน์เฮาส์ในระดับราคา 2-3 ล้านบาทเช่นกัน จำนวนทั้งสิ้น 34,255 หน่วย รวมมูลค่าถึง 85,955 ล้านบาท
5. ส่วนบ้านแฝดเหลือขายอยู่มากที่สุดในระดับราคา 3-5 ล้านบาท จำนวน 11,530 หน่วย มีมูลค่ารวมกันถึง 44,698 ล้านบาท และ
6. บ้านเดี่ยวเหลือขายอยู่มากที่สุดในระดับราคา 5-10 ล้านบาท จำนวน 14,598 หน่วย มูลค่ารวม 101,225 ล้านบาท
ภาวะในขณะนี้กลุ่มที่น่าห่วงใยที่สุดก็คือกลุ่มห้องชุด เพราะหากสร้างไม่แล้วเสร็จก็ไม่สามารถเข้าอยู่ได้ทั้งหมด ต่างจากสินค้าแนวราบที่ยังสามารถก่อสร้างเป็นระยะๆ ได้ ในจำนวน 223,519 หน่วยที่รอขายอยู่นี้ สร้างเสร็จ 100% มีเพียง 16% หรือ 35,763 หน่วย ในกรณีห้องชุดอย่างเดียวที่รอขายอยู่ 95,558 หน่วยนั้น ที่เสร็จ 100% มี 23% หรือ 21,978 หน่วยเท่านั้น ที่เหลือหากมีวิกฤติเกิดขึ้น ก็คงสร้างค้างเติ่งไว้ และอาจกลายเป็นอาคารสร้างค้างเช่นที่เคยเกิดขึ้นในปีวิกฤติ 2540
ตามข้อมูลนี้ เราก็จะสามารถเห็นได้ชัดเจนว่า
1. การจะพยายาม “ถูลู่ถูกัง” ให้บริษัทพัฒนาที่ดินต่างๆ ผลิตที่อยู่อาศัยออกมามากๆ เพื่อให้มีรายได้มากมายเช่นก่อนอาจทำไม่ได้ ขืนทำไปก็ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย อาจทำให้เกิดปัญหาหนี้เสียได้
2. รัฐควรออกมาตรการในการคุ้มครองผู้บริโภค แต่ไม่ใช่เป็นการทำให้ผู้ประกอบการเสียหาย ยิ่งผู้บริโภคได้รับการคุ้มครอง ยิ่งทำให้ผู้บริโภคมั่นใจในตลาดมากขึ้น ผู้ประกอบการก็ยิ่งค้าขายได้มากขึ้น
3. ผู้ประกอบการ นักลงทุน สถาบันการเงิน ผู้บริโภค ฯลฯ ควรติดตามสถานการณ์โดยใกล้ชิด มีข้อมูลครบถ้วน อย่าได้ตัดสินใจตามข้อมูลที่ไม่ควบถ้วน และบิดเบือน
ข้อมูลของศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทยมาจากการสำรวจภาคสนามอย่างต่อเนื่องและทันสมัยที่สุดคือนับถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2563 ศูนย์ข้อมูลแห่งนี้มีความเป็นอิสระและเป็นกลางเพราะไม่มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรายใหญ่มานั่งเป็นกรรมการ มาล่วงรู้ข้อมูลเอาไปใช้ประโยชน์ของตนเองก่อน!
สนใจสมัครเป็นสมาชิกของศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย ติดต่อได้ที่ โทร. 02.295.3905 ต่อ 114