มีคนคาดการณ์ว่าต่อไปห้องชุดจะมีคนอยู่อาศัยน้อยลงเพราะแออัด คนกลัวโควิด จะย้ายไปอยู่บ้านเดี่ยว-ทาวน์เฮาส์ชานเมืองแทน
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ในฐานะนักวิชาการและผู้ประเมินค่าทรัพย์สินที่สำรวจวิจัยตลาดอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2537 พบว่ามีแนวโน้มจริงที่ห้องชุดเปิดตัวน้อยลง บ้านแนวราบและทาวน์เฮาส์เปิดตัวมากขึ้นตามลำดับ
ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2563 มีการเปิดตัวโครงการใหม่ 20,249 หน่วย ปรากฏว่า เป็นห้องชุด 6,919 หน่วย หรือเพียง 34% หรือราวหนึ่งในสามเท่านั้น สินค้ากลุ่มใหญ่ที่สุดกลับเป็นทาวน์เฮาส์นอกเมือง จำนวน 9,419 หน่วย หรือราว 47% รองลงมาเป็นบ้านเดี่ยว 2,278 หน่วยหรือ 11% และบ้านแฝด 8% แสดงว่าห้องชุดเสื่อมความนิยมลงในขณะนี้อย่างชัดเจน ทั้งที่ในรอบ 10 ปีที่ศูนย์ข้อมูลฯ สำรวจมา พบว่าห้องชุดเปิดตัวมากที่สุดถึง 50-60% ทุกปี
สาเหตุที่ห้องชุดเปิดตัวน้อยลงก็เพราะสินค้าห้องชุดยังเหลือขายอยู่เป็นจำนวนมาก โดย ณ ไตรมาสที่ 1/2563 มีสินค้าที่อยู่อาศัยเหลือขายอยู่ทั้งหมด 225,618 หน่วย เป็นห้องชุดรอขายอยู่ประมาณ 96,170 หน่วย หรือราว 43% ของห้องชุดทั้งหมด ส่วนทาวน์เฮาส์มีรอขายอยู่ 70,215 หน่วย หรือ 31% ของทั้งหมด ดังนั้นการเปิดตัวห้องชุดจึงน้อยลงนั่นเอง
มีบางคนย้ายออกจากห้องชุดในเมืองจริงเพราะไม่ต้องการสัมผัสลิฟท์ หรือใช้สาธารณูปโภค สาธารณูปการร่วมกับบุคคลอื่น บางคนถึงขนาดย้ายออกไปอยู่ชั่วคราวแถวเขาใหญ่ หรือตามริมทะเล เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศให้ดูเบาบางลง ซึ่งก็เคยเกิดขึ้นแล้วในช่วงเกิดน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ที่บางคนย้ายไปอยู่ที่อื่นถึง 3 เดือนในช่วงดังกล่าว แต่ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นเฉพาะกับผู้มีรายได้สูง
ตั้งแต่มีโควิด-19 โครงการอาคารชุดต่างๆ ก็มีมาตรการป้องกันที่ได้ผลดี การเปิดตัวห้องชุดน้อยลงไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับโควิด-19 เพราะการอยู่อาศัยในโครงการอาคารชุด แม้มีความหนาแน่น (High Density) แต่ไม่ได้มีความแออัด (Overcrowdedness) เพราะมีความเป็นส่วนตัวสูง มีผนังที่กันเสียงและกันเชื้อโรคได้เป็นอย่างดี ตั้งแต่มีโควิด-19 มาก็ไม่พบว่าผู้ติดเชื้อที่มีอยู่ในโครงการอาคารชุดไม่กี่แห่งได้แพร่เชื้อเช่นเดียวกับกรณีโรคซาร์ส ในฮ่องกงในสมัยก่อนแต่อย่างใด