ข่าวที่ว่า “ไทยขึ้นที่ 1 ของโลก! ความมั่นคงทางสาธารณสุข” <1> ไม่เป็นความจริง เป็นการโพนทะนาที่อาจทำให้ขาดการพัฒนาด้านการสาธารณสุขที่ควรพัฒนาอีกมากเพื่อประชาชนส่วนรวม
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) กล่าวว่า ไทยจะขึ้นเป็นอันดับหนึ่งได้อย่างไร ดร.โสภณเองก็อยากให้ไทยได้ตำแหน่งที่ดีให้เป็นที่ภูมิใจของชาติ แต่ข่าวแบบนี้เป็นความเท็จที่ควรใช้วิจารณญาณไตร่ตรอง แม้ไทยจะติดโควิดน้อยเมื่อเทียบกับหลายประเทศโดยเป็นอันดับที่ 85 ก็ตาม
สถานการณ์โควิด-19 ของไทยดีกว่าสิงคโปร์และมาเลเซียที่เจริญกว่าไทย แต่ความจริงที่ข้าราชการไทยไม่บอกกับประชาชนก็คือ สิงคโปร์ติดเชื้อมากกว่าไทยนั้น เกือบทั้งหมดเป็นการติดในหมู่คนงานต่างชาติ โดยสิงคโปร์ติดเชื้อ ณ วันที่ 10 มิถุนายน 2563 จำนวน 38,965 คน ในขณะที่ไทยติดเชื้อ 3,125 คน อย่างไรก็ตามที่สิงคโปร์มีเสียชีวิตเพียง 25 ราย แต่ไทยเสียชีวิต 58 ราย ส่วนมาเลเซียก็ติดเชื้อถึง 8,338 คน แต่ทั้งนี้เป็นเพราะการชุมนุมทางศาสนาในช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมาเป็นสำคัญ
ในทางตรงกันข้าม กัมพูชา เมียนมา ลาว และโดยเฉพาะเวียดนาม กลับติดเชื้อน้อยกว่าไทยมาก และแทบไม่มีผู้เสียชีวิต ทำไมกลับยกย่องไทยให้เป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางสาธารณสุขมากกว่าประเทศเหล่านี้ อย่างไรก็ตามบางท่านอาจบอกว่าในกัมพูชา เมียนมาและลาว มีการตรวจเชื้อน้อยกว่าไทย จึงไม่พบเชื้อ แต่ในกรณีเวียดนามก็มีการตรวจเชื้อเป็นจำนวนมากเหมือนกัน แต่เวียดนามกลับติดเชื้อน้อยกว่าไทยคือเพียงแค่ 1 ใน 10
รายงานการศึกษาเรื่องการสาธารณสุขนี้ คือ Global Health Security Index (GHS) แต่ชุดข้อมูลนี้มีความน่าเชื่อถือเพียงใด ก็พิจารณาโดยเอาตัวเลข GHS Index นี้มาดูความสัมพันธ์เชิงตัวแปรด้วยการวิเคราะห์การถดถอยอย่างง่าย (Simple Regression Analysis) ทีละตัวแปรกับข้อมูลการติดเชื้อโควิด-19 มาเทียบกันดู
ค่า R Square หรือค่าความผันแปรของตัวแปรตอบสนองที่สามารถอธิบายได้ในตัวแบบเชิงเส้นนี้ว่าเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ หรือ = ความผันแปรที่สามารถอธิบายได้ / ความผันแปรทั้งหมด (Explained variation / Total Variation) ค่า R-Squared จะมีค่าอยู่ระหว่าง 0% – 100% ยิ่งใกล้ 100% ยิ่งแสดงถึงว่าตัวแปรนั้นๆ มีความสัมพันธ์กันมาก ในที่นี้ใช้ GHS Index เป็นตัวแปรอิสระและมีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนผู้เสียชีวิต จำนวนที่หายแล้ว จำนวนผู้ที่ยังป่วยอยู่ จำนวนผู้ป่วยหนัก จำนวนผู้ป่วย ผู้ตายและผู้ผ่านการตรวจโรคต่อประชากร 1 ล้านคน เป็นตัวแปรตาม
ผลการวิเคราะห์พบว่า แทบไม่มีความสัมพันธ์เชิงตัวแปรกัเลยระหว่าง GHS Index กับตัวเลขเรื่องโควิด-19 แสดงให้เห็นว่า คะแนนที่ได้สูงๆ ของ GHS Index นั้น ไม่ได้รับประกันอะไรได้เลยว่าจะไม่เกิดการแพร่ระบาดหรือติดเชื้อโควิด-19 หรืออีกนัยหนึ่งดัชนี GHS Index นี้คงไม่ได้จัดทำขึ้นอย่างสอดคล้องกับความเป็นจริง
ตัวเลขที่ชี้ถึงสถานะของการสาธารณสุขไทยก็คือ ข้อมูลเตียงในโรงพยาบาลนั่นเอง ประเทศไทยมีเพียง 1.9 เตียงต่อประชากร 1,000 คน <1> ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วมีจำนวนเตียงคนไข้มากกว่าไทยมาก เช่น ญี่ปุ่น 13.21เตียงต่อประชากร 1,000 คน รองลงมาได้แก่เกาหลีใต้ รัสเซีย เยอรมนีและออสเตรียที่มีจำนวนเตียง 11.59, 8.81, 8.23 และ 7.58 เตียงตามลำดับ
ยิ่งกว่านั้นเมื่อเร็วๆ นี้ Forbes ยังจัดอันดับประเทศที่ปลอดภัยจากโควิด-19 ที่สุด ปรากฏว่าไทยติดอันดับที่ 47 โดยมีสิงคโปร์ติดอันดับที่ 4 (เพราะผู้ติดเชื้อส่วนมากคือคนงานต่างประเทศในแคมป์คนงาน) จีนที่เป็นแห่งเริ่มต้นของเชื้อติดอันดับที่ 7 เวียดนามติดอันดับที่ 20 มาเลเซียติดอันดับที่ 30 <4> นี่จึงเป็นหลักฐานอีกอันหนึ่งที่เราไม่ควร “มโน” ว่าเราเจ๋งสุดในการจัดการกับไวรัสตัวนี้
ถ้าเราหลงเข้าใจผิดว่า “ไทยขึ้นที่ 1 ของโลก! ความมั่นคงทางสาธารณสุข” เราคงละเลยการพัฒนาจำนวนเตียงคนไข้ให้มีมากขึ้น ทุกวันนี้คนป่วยไปหาหมอส่วนมากก็ได้ยามา โอกาสที่จะครองเตียงมีน้อยมากจริงๆ ยิ่งถ้าไม่รู้จักใคร อาจจะยิ่งยากเข้าไปอีก
อ้างอิง
<1> ไทยขึ้นที่ 1 ของโลก! ความมั่นคงทางสาธารณสุข | เนชั่นเจาะข่าวเย็น | NationTV22 https://www.youtube.com/watch?v=NDjNoQM9nGo
<2> จำนวนเตียงใน รพ.ของไทย ยังห่างจากค่าเฉลี่ยสากล https://www.hfocus.org/content/2017/04/13730
<3> List of countries by hospital beds. https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_countries_by_hospital_beds
<4> The 100 Safest Countries In The World For COVID-19. https://www.forbes.com/sites/johnkoetsier/2020/06/05/the-100-safest-countries-in-the-world-for-covid-19/#54b4d56568c5