AREA แถลง ฉบับที่ 96/2555: 20 สิงหาคม 2555
อินโดนีเซีย: บ้านหลังที่สองของนักพัฒนาที่ดินไทย
ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
อินโดนีเซียจะเป็นดาวจรัสแสงใสอนาคต และจะเป็นบ้านหลังที่สองของนักพัฒนาที่ดินไทยที่จะ Go Inter หรือส่งออก Know How ไปพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในต่างแดน ผมในฐานะที่เคยทำงานในโครงการที่ปรึกษาของกระทรวงการคลัง รัฐบาลอินโดนีเซีย ในพื้นที่หลายนคร และยังเป็นนักวิจัยของธนาคารโลกในกรุงจาการ์ตา มั่นใจว่าอินโดนีเซียจะเป็นเสมือนบ้านหลังที่สองของนักพัฒนาที่ดินไทย
อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่มาก มีขนาดที่ดิน 3.5 เท่า และขนาดประชากร 3.6 เท่าเมื่อเทียบกับประเทศไทย และมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าไทย 1.8 เท่า เป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน อย่างไรก็ตามโดยที่อินโดนีเซียมีประชากรมาก จึงทำให้รายได้ประชาชาติต่อหัวของเขาน้อยกว่าไทยถึงครึ่งหนึ่ง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคนไทยรวยกว่าคนอินโดนีเซียประมาณ 1 เท่าตัว
เศรษฐกิจของอินโดนีเซียกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง เป็นประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจรวดเร็วที่สุดแห่งหนึ่งในอาเซียน ทั้งนี้เป็นเพราะประเทศนี้ที่เป็นเกาะแก่งแยกกันถึง 17,000 เกาะนั้น กลับกลายเป็นประเทศที่หลอมรวมกันจนไม่มีพรมแดน เพราะความมั่นคงทางการเมือง ผิดกับไทยที่เป็นผืนแผ่นดินติดต่อกันโดยไม่แบ่งแยก แต่กำลังมีความแตกแยกทางการเมือง จนอาจนำไปสู่สงครามกลางเมือง สงครามแบ่งแยกดินแดน (ทางภาคใต้) หรือจลาจล เป็นต้น
อินโดนีเซียจะเป็นบ้านหลังที่สองของนักพัฒนาที่ดินไทยก็เพราะ ประเทศนี้มีนครที่มีประชากรเกิน 1 ล้านคนอยู่มากมายนับสิบนคร สำหรับประเทศไทย นอกจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่มีประชากรราว 10 ล้านคนแล้ว นครอันดับสอง เช่น พัทยา เชียงใหม่ นครราชสีมา หาดใหญ่ ล้วนแต่มีประชากรราว ๆ 500,00 คน (รวมประชากรแฝงแล้ว ดังนั้น โอกาสที่จะไปพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในภูมิภาคจึงมีจำกัด ด้วยจำนวนประชากรผู้ซื้อบ้านที่จำกัดนั่นเอง
หันมาพิจารณาประเทศอินโดนีเซีย ประเทศนี้มีนครที่มีประชากรมากกว่า 1 ล้านคน ณ ปี 2555 อยู่ถึง 13 นครตามลำดับดังนี้
ตารางแสดงนครที่มีประชากรมากกว่า 1 ล้านคนในอินโดนีเซยี ณ ปี พ.ศ.2555
หมายเหตุ ปรับจากตัวเลขปี 2553 http://en.wikipedia.org/wiki/Largest_cities_in_Indonesia
ถ้าเทียบนครที่มีประชากรมากกว่า 500,000 คนขึ้นไป อินโดนีเซียจะมีถึง 25 นครเลยทีเดียว ดังนั้นโอกาสที่จะไปสู่ภูมิภาคอื่น ๆ ของอินโดนีเซียนอกเหนือจากนครหลวงคือกรุงจาการ์ตาแล้ว จึงมีอยู่มาก
ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ประชากรของอินโดนีเซียถึงครึ่งหนึ่งอาศัยอยู่ในเขตเมือง และจะมีจำนวนขยายมากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่ประชากรเมืองของไทยมีเพียงหนึ่งในสาม เพราะคนไทยหนีเข้าป่า (ไปบุกรุกถากถางป่าสร้างหมู่บ้านชนบทกันเป็นจำนวนมาก) การที่อินโดนีเซียจนกว่าไทย และมีจำนวนประชากรเมืองมากกว่าไทย ก็เพราะประเทศนี้เป็นประเทศเกาะ ประชากรจึงจำเป็นต้องอยู่ตามนครท่าต่าง ๆ เป็นหลัก ดังนั้นโอกาสในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในนครต่าง ๆ ของอินโดนีเซีย จึงมีอีกมากมายมหาศาล
หากพิจารณาถึงสถานการณ์แต่ละนครจะพบว่า กรุงจาการ์ตาขณะนี้กำลังบูมเป็นอย่างมาก รถไฟฟ้าก็กำลังก่อสร้างกันอย่างขนานใหญ่ นครบันดุง นครสุราบายา ที่ต่างเป็นนครใหญ่ก็มีการพัฒนากันขนานใหญ่ โดยเฉพาะบันดุงต่อไปคงเชื่อมต่อเป็นอภิมหานครกับกรุงจาการ์ตา ขณะนี้นคร Bekasi นคร Bogor นคร Depok และนคร Tangarang ซึ่งล้วนแต่มีประชากรเกิน 1 ล้านคน และอยู่ติดกับกรุงจาการ์ตาก็ถือว่าถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของกรุงจาการ์ตาไปแล้ว
นคร Medan ซึ่งอยู่บนเกาะสุมาตรา และตั้งอยู่เยื้อง ๆ กับกรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซียก็มีประชากรเกิน 2 ล้านคน และเป็นนครที่มีอนาคตที่ดีในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เป็นอย่างยิ่ง อีกนครหนึ่งที่น่าสนใจมากก็คือ นครบาตัม ซึ่งอยู่ห่างจากประเทศสิงคโปร์เพียงข้ามเรือเฟอรี่โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 40 นาทีนั้น นครแห่งนี้เป็นเสมือนฐานทัพทางอุตสาหกรรมและยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางเลือกที่ผู้ที่เดินทางไปสิงคโปร์จะสามารถไปเยี่ยมเยียนได้
นคร Makassar บนเกาะสุลาเวสี ก็เป็นอีกเมืองหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะมีประชากรมาก มีทรัพยากรมาก และมีโอกาสเติบโตอีกมาก ยังมีนครขนาดใหญ่นอกเกาะสุมาตราและเกาะชวาอีกหลายแห่งที่นักพัฒนาที่ดินไทยสามารถไปพัฒนาบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ ห้องชุดในระบบบ้านกึ่งสำเร็จรูปได้เป็นอันมาก ถ้าเศรษฐกิจประเทศนี้ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ประชากรก็จะสามารถหาซื้อที่อยู่อาศัยได้มากขึ้น
ผมเกรงว่าอนาคตนักพัฒนาที่ดินไทยหลายแห่งอาจไปปักหลักอยู่ที่นั่นจนเห็นประเทศแม่เป็นเพียงสาขา!
ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน |