ตามที่นายกฯ บอกว่า ให้บ้านจัดสรรขายลดราคาลง ถ้าคิดได้เท่านี้ต่อทางออกในการแก้ไขปัญหา ก็แสดงว่า เราขาดความรู้เป็นอย่างยิ่ง
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) กล่าวถึงกรณีที่มีข่าว พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ที่ว่า “บิ๊กตู่ แนะบ้านจัดสรรขายไม่ออก ควรลดราคา ชี้ต้องการให้ทุกคนมีบ้าน” โดยในรายละเอียดบอกว่า “ตนให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ไปดำเนินการในฐานะที่รับผิดชอบโดยตรง ซึ่งตนให้แนวทางไปว่าทำอย่างไรจะไปช่วยภาคธุรกิจเขาด้วยได้ เช่นวันนี้มีบ้านจัดสรรหรืออะไรที่ขายไม่ออก ควรต้องลดราคาหรือไม่
นายกฯ ยังกล่าวว่า “ตนต้องการให้ทุกคนมีบ้าน ทั้งบ้านที่สร้างให้ฟรีที่ไปสร้าง ไปซ่อมให้ ซึ่งเป็นเรื่องของการใช้งบประมาณส่วนหนึ่งที่บริจาคบ้างอะไรบ้าง แต่ตนต้องการให้ทุกคนมีบ้านอยู่อาศัยแบบถาวร คือเช่าในราคาถูก การเช่าซื้อ หรือซื้อ และสามารถเทิร์นได้หากมีรายได้สูงขึ้น ดังนั้นขอความร่วมมือจากภาคธุรกิจ บ้านจัดสรรต่าง ๆ ถ้าบ้านแพงก็คงไม่ไหว ต้องดูความต้องการของประชาชนด้วยว่ามีเงินทองแค่ไหน สามารถซื้อบ้านใหญ่แค่ไหน ถ้าสร้างมากเกินไป ดีมานด์น้อยกว่าซัพพลายก็จะเป็นปัญหา ในอนาคตก็อาจเสี่ยงเรื่องของการเงินของเขาเอง”
กรณีนี้แสดงว่านายกรัฐมนตรีไม่มีความรู้เพียงพอต่อเรื่องที่อยู่อาศัย
1. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัยในปัจจุบันไม่ได้อยู่ที่กระทรวง พ.ม. ที่ดูแลการเคหะแห่งชาติ เป็นหลัก แต่อยู่ที่กระทรวงการคลังที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงิน และกระทรวงมหาดไทยที่เกี่ยวข้องกับการออกโฉนด และดูแลกิจการอาคารชุด ถ้านายกฯ ขาดความรู้และไม่รู้จักบูรณาการในด้านนี้ ก็คงแก้ไขปัญหาผิดจุด
2. นายกฯ คงไม่ทราบว่า ตลาดที่อยู่อาศัยราคาถูกนั้นมีน้อย เพราะผู้มีรายได้น้อยไม่มีกำลังซื้อ การผลิตเลยน้อยไปด้วย หลายบริษัททั้งในและตลาดหลักทรัพย์ที่เคยผิดที่อยู่อาศัยแก่ผู้มีรายได้น้อย จึงหยุดผลิต หันไปผลิตสำหรับผู้มีรายได้ปานกลางและรายได้สูงที่ยังพอมีกำลังซื้อ หากจะลดราคา ก็คงยังไม่มีกำลังซื้อ ยกเว้นจะขายถูกแบบกึ่งให้เปล่า ซึ่งก็คงทำเพื่อ “สร้างภาพ” แบบบ้านประชารัฐ ได้ไม่กี่หน่วยเพราะขัดกับความเป็นจริงในตลาด
3. ประชาชนที่ต้องการให้รัฐบาลไปซ่อมบ้านให้ฟรีคงมีน้อยมาก เขาจัดหากันเองได้ ดีไม่ดีต้นทุนที่ทางการไปซ่อมให้ฟรีโดยเบิกเบี้ยเลี้ยงและงบฯ หลวง อาจจะมากกว่าการไปว่าจ้างผู้รับเหมาภาคเอกชนเสียอีก
4. นายกฯ อย่าได้เข้าใจผิดว่าทุกคนอยากจะมีบ้านเป็นของตนเอง ในบางกรณีเพื่อการมาทำงาน อาจต้องการเพียงการเช่าบ้านในเมือง แล้วนำเงินไปปลูกบ้านในต่างจังหวัด เป็นต้น
อันที่จริงที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่มีราคาไม่เกิน 1.2 ล้านบาทและยังเหลือขายอยู่มีจำนวน 7,857 หน่วย รวมมูลค่า 7,068 ล้านบาท เฉลี่ยหน่วยละ 9 แสนบาท ในจำนวนทั้งหมดประมาณ 50 โครงการ ทั้งนี้แยกเป็นทาวน์เฮาส์ 15 โครงการ 893 หน่วย รวมมูลค่า 967 ล้านบาท หรือเฉลี่ยหน่วยละ 1.083 ล้านบาท ส่วนห้องชุดมีราคาเฉลี่ย 8.76 แสนบาทโดยเฉลี่ยและมีอยู่ 6,964 หน่วย รวมมูลค่า 6,101 ล้านบาทใน 35 โครงการที่ยังเหลือขายอยู่