การเวนคืนนั้นมีความจำเป็น ไม่ใช่การรังแกประชาชน แต่เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน แม้แต่ศาลเจ้าพ่อเสือ หรือศาลเจ้าศักดิ์สิทธิ์ ก็ยังต้องย้ายมาแล้ว
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) เล่าถึงประวัติศาลเจ้าพ่อเสือที่เสาชิงช้าว่ามีชื่อจีนว่า “打惱路玄天上帝廟 (ตัวเต็ม) หรือ 打恼路玄天上帝庙 (ตัวย่อ) เป็นศาลเจ้าเก่าแก่ซึ่งตั้งอยู่บนถนนตะนาว ใกล้เสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ชาวจีนเรียกศาลเจ้านี้ว่า "ตั่วเหล่าเอี้ย" (เทพเจ้าใหญ่) โดยเป็นที่ประดิษฐานรูปเอี่ยนเถี้ยนส่งเต้ รูปเจ้าพ่อเสือ รูปเจ้าพ่อกวนอู และรูปเจ้าแม่ทับทิม ว่ากันว่าศาลเจ้าพ่อเสือตั้งขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ.2377 <1>) เดิมตั้งอยู่ริมถนนบำรุงเมือง ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โปรดให้ขยายถนนบำรุงเมือง ได้โปรดให้ย้ายศาลมาไว้ที่ทางสามแพร่งถนนตะนาว จนถึงปัจจุบัน” <2>
กรณีนี้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ชี้ให้เห็นว่าศาลศักดิ์สิทธิ์เพียงใด ก็ยังแพ้อำนาจการเวนคืน เหตุที่ต้องเวนคืนก็เพื่อการขยายถนนบำรุงเมืองเพื่อให้เมืองมีการพัฒนามากขึ้น เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนโดยรวม ดังนั้นจึงต้องมีการย้ายอาคารสถานที่ต่างๆ อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมาประชาชนไม่พอใจการเวนคืนเนื่องจากเป็นงาน “ต่ำ-ช้า” คือจ่ายต่ำๆ และจ่ายช้าๆ แต่ในปัจจุบันการจ่ายค่าทดแทนการเงินคืนมีความยุติธรรมมากขึ้น และอันที่จริงผู้ถูกเวนคืนยังควรได้รับค่าชดเชยในกรณีที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนอื่นๆ เช่น การด้อยค่าของทรัพย์สินที่เหลืออยู่ การย้ายที่ตั้งที่ทำการ เป็นต้น ประชาชนจึงไม่ควรปฏิเสธการเวนคืนตราบเท่าที่จะมีการเวนคืนอย่างเป็นธรรมเพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย
“ศาลเจ้าพ่อเสือตั้งอยู่เลขที่ 468 ถนนตะนาว ใกล้เสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เป็นศาลเจ้าจีนแต้จิ๋วที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่ง ศาลเจ้าพ่อเสือ สร้างตามรูปแบบศาลเจ้าที่นิยมทางภาคใต้ของจีน ทั้งนี้เจ้าพ่อเสือก็เป็นเทพที่ประชาชนทั้งชาวจีนและชาวไทยให้ความเคารพกราบไหว้มาก โดยเฉพาะคนที่มีลูกน้องบริวารมาก ๆ ต้องการเลื่อนยศ เลื่อนตำแหน่ง โชคลาภ และที่กำลังมีคดีความต้องขึ้นศาล ซึ่งของที่ประชาชนนิยมนำมาถวายเจ้าพ่อเสือคือหมูสามชั้นและไข่” <3>
สำหรับประวัติของศาลเจ้าพ่อเสือตามตำนานจีนก็คือ Hu Ye (虎爺 "Lord Tiger") เป็นเทพเจ้าเสือแห่งการปกป้อง มักพบเห็นในวัดของลัทธิเต๋าของจีน คนจีนบูชาเทพเจ้าเสือเพื่อสาปแช่งหรือไล่เสนียดวิญญาณที่เป็นศัตรูต่างๆ <4> คนจีนนำรูปปั้นเจ้าพ่อเสือมาตั้งในประเทศไทยเป็นจำนวนมากหลายแห่ง เฉพาะในกรุงเทพมหานครก็มีศาลเจ้าพ่อเสือของจีนอยู่หลายแห่งเช่นกัน
ตำนานของจีนมาผสมผสานกับตำนานของไทยที่นายสอนเข้าป่าไปเก็บของป่ากลับมาให้มารดาแล้วพบกับซากกวางเพิ่งตายใหม่ๆ เขาอยากให้มารดาได้รับประทานเนื้อกวางนี้ จึงได้เข้าไปตัดเนื้อกวางมาได้ก้อนหนึ่ง เสือที่ซุ่มอยู่ ได้กระโจนเข้าขย้ำแขนของนายสอนไปข้างหนึ่ง นายสอนตะเกียกตะกายถึงบ้านเล่าเหตุการณ์ทั้งหมดให้ฟังจากนั้นจึงสิ้นใจ ต่อมาจับเสือตัวนั้นได้ จึงนำตัวมันมาประหารชีวิต เสือไม่ขัดขืน ได้แต่น้ำตาไหลริน จนยายผ่องสงสารจึงขอให้ยกเลิกการประหาร และเลี้ยงดูเสือตัวนี้แทนลูก เมื่อยายผ่องเสียชีวิต เสือก็ตรอมใจกระโจนเข้าไปในกองไฟด้วยสำนึกใจคุณของยายผ่อง ชาวบ้านจึงร่วมใจกันสร้างศาล ข้างวัดมหรรณพาราม โดยปั้นรูปเสือไว้พร้อมนำเถ้ากระดูกของมันมาไว้ใต้แท่น <5>
อ้างอิง
<1> เล่าขานตำนานเรื่องเก่า. https://bit.ly/2O42oW2
<2> Wikipedia. ศาลเจ้าพ่อเสือ เสาชิงช้า. https://bit.ly/2OaktBP
<3> ศาลเจ้าพ่อเสือ เสี่ยงเซียมซีศาลเจ้าพ่อเสือและไหว้ขอพร. https://travel.kapook.com/view8796.html
<4> Some Popular Gods. https://bit.ly/38FkCGJ
<5> เปิดตำนาน"ศาลเจ้าพ่อเสือ"เสาชิงช้า. http://jamenp.blogspot.com/2018/01/blog-post_61.html