ดร.โสภณ พรโชคชัย มองฌอน บูรณะหิรัญ
  AREA แถลง ฉบับที่ 426/2563: วันอังคารที่ 21 กรกฎาคม 2563

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ข่าวการวิพากษ์วิจารณ์นายฌอน บูรณะหิรัญ นักพูด โค้ช และ Influencer ชื่อดัง  ทำให้เห็นว่าคนผู้นี้ให้บทเรียนที่น่าสนใจแก่วงการอสังหาริมทรัพย์และการสร้างแบรนด์พอสมควร

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) กล่าวว่ากรณีนี้เกิดขึ้นตั้งแต่นาย “ฌอน บูรณะหิรัญ” ได้กล่าวถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีว่าตัวจริงเป็นคนน่ารัก และเราไม่ควรตัดสินใครโดยไม่ได้พบตัวจริง ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์นาย “ฌอน” เป็นอย่างมาก  ดร.โสภณ ก็ได้วิพากษ์ไว้ในเรื่องนี้ โปรดดูใน FB: https://lnkd.in/gU2n6yf และ Youtube: https://lnkd.in/g_7PXFG sinv หรือดูโดยรวมที่ วิจารณ์แนวคิด “‘ฌอน บูรณะหิรัญ’ ต่อประวิตร” (https://bit.ly/2Nr2oyO)

            มีการขุดคุ้ยกันว่าบ้านที่ฌอน อ้างว่าเป็นบ้านของตัวเองนั้น แท้จริงเป็นเช่นนั้นหรือไม่ ดร.โสภณ ในฐานะผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน ได้ตรวจสอบ “บ้านของฌอน” ซึ่งก็คือ “TAO Cafe & Community เต่าคาเฟ่ เชียงใหม่” 98/1 กำแพงดิน ถนนระแกง อำเภอเมืองเชียงใหม่ เชียงใหม่ 50100 พบว่าบ้านหลังดังกล่าวตั้งอยู่บนโฉนดที่ดินเลขที่ xxx (ขอสงวน) ในเขตตำบลหายยา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่โดยมีขนาด 2 ไร่ 22 ตารางวา

            เจ้าของที่ดินเป็นของบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งเพิ่งได้รับ “โอนชำระค่าหุ้นรวมสี่โฉนด” จากเจ้าของที่ดินซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2562 และเจ้าของที่ดินเดิมก็ไถ่ถอนจำนองจากธนาคารแห่งหนึ่งก่อนนำมาขาย เมื่อปี 2542  ถ้าท่านใดอยากทราบเพิ่มเติมว่าเขาซื้อขายกัน ณ ราคาเท่าไหร่ ก็ต้องไปขอตรวจสอบดูใบ ท.ด.13 หรือ “หนังสือสัญญาขายที่ดิน” ตามแบบฟอร์มของกรมที่ดิน ก็จะทราบถึงราคาที่ซื้อขายที่ชัดเจนตามที่แจ้งไว้กับกรมที่ดินนั่นเอง ดังนั้นจึงสรุปได้ว่านายฌอน บูรณะหิรัญ ไม่ใช่เจ้าของที่ดินผืนดังกล่าว

            สำหรับท่านที่ต้องการจะหาตำแหน่งที่ดินเบื้องต้น สามารถดำเนินการได้ดังนี้:
            1. เข้าเว็บไซต์ของกรมที่ดิน http://dolwms.dol.go.th/tvwebp/ แล้วระบุชื่อจังหวัด อำเภอและเลขที่โฉนด หรือตำแหน่งสำคัญๆ
            2. เมื่อคลิกไปบริเวณที่ดินที่ต้องการ ก็จะปรากฏเลขที่ดิน
            3. นำเลขที่ดินนั้นไปขอตรวจสอบเอกสารสิทธิ์กับกรมที่ดิน ณ สำนักงานที่ดินที่โฉนดนั้นตั้งอยู่ ก็จะสามารถถ่ายสำเนาโฉนดได้

            อนึ่ง ดร.โสภณ พรโชคชัย ได้เคยทำหนังสือถึงอธิบดีกรมที่ดินเมื่อปี 2544 ขอให้การตรวจสอบเอกสารสิทธิ์เป็นสิ่งที่เปิดเผยกระทำได้ และอธิบดีกรมที่ดินก็ได้เมตตาให้ดำเนินการได้และสั่งการให้แต่ละจังหวัดและสำนักงานที่ดินเปิดให้เอกชนขอตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ได้ ตาม link นี้: https://bit.ly/2CQtbCJ

            อีกกรณีหนึ่งก็คือการรับบริจาคเงินช่วยดับไฟป่า ซึ่งเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจ  แต่อาจทำให้ดูขาดความรับผิดชอบต่อสังคม  ประเด็นสำคัญที่ถือเป็นเรื่องที่ผิดหลักความรับผิดชอบต่อสังคมก็คือ การนำเงินบริจาคจำนวนถึงราวสองแสนห้าหมื่นบาทไปใช้เพื่อการส่งเสริมการเข้าชมแฟนเพจหรือกิจกรรมเพื่อหวังให้ได้รับบริจาค  ปกติแฟนเพจของนายฌอนก็มีผู้เข้าชมเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว ในกรณีนี้ถือเป็นการนำเงินบริจาคไปใช้เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว ขัดกับหลักความโปร่งใส ถือเป็นผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกัน (Conflict of Interest) ลำพังจำนวนผู้ติดตามแฟนเพจของนายฌอนเองก็มีมากมายอยู่แล้ว การยิ่งส่งเสริมการจัดกิจกรรมนี้ ก็ยิ่งเป็นการส่งเสริมการโฆษณาตัวเอง  กรณีนี้นายฌอนควรนำเงินจำนวนนี้ไปบริจาค เพราะผู้ที่ได้ประโยชน์เป็นหลักก็คือนายฌอนเอง

            การใส่ชื่อผู้ซื้อสิ่งของต่างๆ เป็นบริษัท “บจก. ต๊อท ลีดเดอร์ส เลขที่ 4 หมู่ที่ 4 หมู่บ้านเศรษฐกิจ ซอย 20 ถนนเพชรเกษม แขวงและเขตบางแค กรุงเทพมหานคร” ซึ่งเป็นของนายฌอนเอง เป็นสิ่งที่ไม่สมควรเช่นกัน เพราะเท่ากับเอาเงินบริจาคมาใช้เพื่อการลดภาษีด้วยการบริจาค โดยสามารถลดค่าใช้จ่าย  การนี้ถือเป็นการทำเพื่อประโยชน์ของตนเอง เป็นอีกกรณีหนึ่งของ Conflict of Interest เช่นกัน

            นอกจากนี้ยังมีข้อวิพากษ์อื่นๆ เช่น
            1. การนำเงินบริจาคเข้าบัญชีส่วนตัวถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ชัดเจนว่าอันไหนเป็นเงินบริจาค อันไหนเป็นรายได้อื่น
            2. การที่นายฌอนรับบริจาคเพื่อสู้ไฟป่า แต่กลับไปบริจาคช่วยโรงพยาบาลในพื้นที่อื่นๆ ในเรื่องอื่นๆ ถือว่าเป็นการทำที่ผิดวัตถุประสงค์
            3. ในการขอรับบริจาค คงไม่ได้ขออนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
            4. ยอดบริจาคต่างๆ ควรมีการแจกแจงเป็นระยะๆ เพื่อความโปร่งใส เป็นต้น

            การมี CSR จะเป็นการเสริมภาพพจน์ เป็นการสร้าง Brand Value ให้กับบุคคลนั้นๆ เป็น Personal Goodwill แต่หากทำออกมาแล้ว ไม่เป็นจริงและมีข้อครหา ก็อาจทำให้ Brand Value ลดลงโดยพิจารณาดูได้จากยอด like ต่างๆ ที่อาจลดลงตามสถานการณ์  บุคคลในสังคมจึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษต่อการสร้างแบรนด์ให้กับตนเองในแนวทางที่ถูกต้อง และไม่เป็นผลเสียต่อทั้งตนเองและสังคม  นายฌอนต้องเรียนรู้การสร้างแบรนด์ที่ถูกต้องตามหลัก CSR ที่เน้นที่การทำการใดๆ ที่ไม่ผิดกฎหมาย มีมาตรฐานจรรยาบรรณและไม่ข้องเกี่ยวกับการทุจริต

            อีกเรื่องที่น่าสนใจก็คือเรื่องดรามาปลูกป่า ท่านทราบหรือไม่ว่าในเวลาเพียงปีเดียว ป่าไม้ของไทยถูกทำลายไปประมาณ 1 ล้านไร่ ท่านทราบหรือไม่ว่า 1 ล้านไร่นั้นกว้างใหญ่ขนาดไหน ขนาดใหญ่กว่ากรุงเทพมหานครที่ 1,568 ตารางกิโลเมตรเล็กน้อยเท่านั้น!! นายสืบ นาคะเสถียร ได้สละชีวิตของตนเองเพื่อเรียกร้องให้มีการรักษาป่าไม้ แต่นี่เท่ากับท่านสละชีวิตไปสูญเปล่า เพราะป่าไม้ก็ยังหายไปอย่างต่อเนื่อง

            ประเด็นสำคัญที่พึงพิจารณาก็คือ เจ้าหน้าที่ปล่อยให้มีการตัดไม้ทำลายป่ากันมากมายได้อย่างไร ทำไมไม่ปราบปรามอย่างจริงจัง ที่ผ่านมาก็มักมีข่าวเจ้าหน้าที่หรือ 'ผู้มีสี' ฝ่ายต่างๆ ต่างตัดไม้ทำลายป่ากันมากมาย แต่แทบจับมือใครดมไม่ได้ ดังนั้นการส่งเสริมการปลูกป่า ให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนไปช่วยกันปลูก อาจทำให้เป็นกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ที่น่ารักน่าชัง แต่ไม่มีประสิทธิผลแต่อย่างใด ป่าที่ปลูกมักตายในเวลาไม่ช้า การปลูกป่ายิ่งไม่ได้ผล

            ที่สำคัญที่สุดก็คือ การปลูกป่ากลายเป็นยาเบื่อเมาให้ประชาชนในเมืองเข้าใจว่าเป็นหนทางการแก้ไขปัญหาป่าไม้ ดังนั้นใครที่ไปปลูกป่าก็จะได้รับการแซ่ซ้องสรรเสริญกันใหญ่ ในขณะเดียวกันเราก็ไม่ค่อยใส่ใจการปราบปรามการบุกรุกทำลายป่า เพราะเป็นงานเสี่ยง งานยาก งานที่ต้องจริงจัง หากภาคเอกชนจะทำดีเพื่อป่าไม้ ก็ควรร่วมกันบริจาคเงินเพื่อตั้งทีมอาสาสมัครกล้าตายไปช่วยกันรายงาน-เปิดโปงการบุกรุกทำลายป่ามากกว่าการปลูกป่า โดยจ้าง “มืออาชีพ” ไปสำรวจแล้ว เชื่อว่าการทำเช่นนี้คงช่วยปรามการบุกรุกป่าได้ชะงัดทีเดียว

            ในการแก้ไขปัญหาการตัดไม้ทำลายป่านั้น รัฐบาลควรเน้นการปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าด้วยมาตรการทางกฎหมายเป็นสำคัญ ไม่ใช่การให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการปลูกป่า หากฉุกคิดกันสักนิด การส่งเสริมการปลูกป่าอาจเท่ากับเป็นการบิดเบือนประเด็น ทำให้สังคมส่วนรวมไม่มีโอกาสตระหนักถึงความจริงที่ทรัพยากรของประเทศถูกปล้นทำลายลงไปทุกวันเพราะหลงนึกว่าป่าสามารถปลูกเสริมแทนพอกัน ในขณะที่การปลูกป่าจึงกลายเป็นการมองทางออกของปัญหาแบบ 'ม้าลำปาง' ที่กลายเป็นการช่วยไม่นำพา ไม่รบกวนการปล้นทำลายป่าโดยไม่ตั้งใจไป

            เราต้องเน้นการปราบปราม ป้องปราม ต้องช่วยเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า (Forest Ranger) รวมทั้งเจ้าหน้าที่พิทักษ์อุทยานแห่งชาติ (Park Ranger) หรือเจ้าหน้าที่พิทักษ์เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า (Wildlife Ranger) นี่คือบุคลากรผู้ทำหน้าที่คุ้มครองและรักษาอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พื้นที่คุ้มครองทางธรรมชาติต่างๆ  บุคคลเหล่านี้ยังเป็นผู้ทำหน้าที่ปกป้องมนุษย์ให้พ้นจากภัยธรรมชาติ และการปกป้องธรรมชาติให้พ้นจากการทำลายของมนุษย์อีกด้วย

            เราต้องมองให้ดี อย่าให้พวก Influencer มาชี้นำเราไปในทางเข้ารกเข้าพง

อ่าน 1,918 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved