บางคนบอกถ่านหินไม่ดี ชาวบ้านที่ต้องการถ่านหินจึงเอาก้อนถ่านหินใส่น้ำ แล้วดื่มให้ดูว่าไม่เป็นไร บางคนบอกลมและแดดดีที่สุด จริงหรือ มาพูดกันให้รู้เรื่อง
ในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ ผมไปฟังการสานเสวนาในเวทีต่างๆ ได้แก่ ชุมพร กระบี่ และหาดใหญ่ ในฐานะกรรมการกำกับการศึกษา SEA หรือ Strategic Environmental Assessment SEA (การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์) ซึ่งเป็นการนำมาประยุกต์ใช้ในระดับ “แผนแม่บท (Master Plan)” ไม่ใช่ใช้ในระดับ “โครงการ (Project)” โดยผมได้รับการแต่งตั้งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งในคณะกรรมการก็ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน
ผมได้รับความรู้มาจากผู้รู้จึงขออนุญาตถ่ายทอดให้เห็นบางประการ เช่น
1. โรงไฟฟ้าถ่านหิน 800 เมกกะวัตต์ผลิตไฟฟ้าได้ 6,000 ล้านหน่วยต่อปี ต้นทุนถ่านหินถูกกว่าก๊าซ 1 บาท ตลอด 30 ปี การเดินเครื่อง ประหยัดไป 180,000 ล้านบาท
2. ในขณะนี้มาเลเซียผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน 11,000 เมกกะวัตต์ ประหยัดเงินไป 84,000 ล้านบาทต่อปี คิดเป็น 2.52 ล้านล้านบาท ตลอด 30 ปี เงินมหาศาล 2.52 ล้านล้านบาท ที่มาเลเซีย ประหยัดค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเทียบกับไทย
3. ยิ่งถ้าไปซื้อไฟจากแหล่งผลิตประเภทสายลมและแสงแดด ก็ยิ่งแพงเข้าไปใหญ่ เงินส่วนใหญ่ไปตกอยู่กับเครื่องมือต่างๆ ซึ่งแสนแพง (แม้จะลดราคาลงมามากแล้วก็ตาม) เงินไหลออกนอกประเทศอีกต่างหาก ถ้าเราคิดให้ดีๆ ใช้ถ่านหิน มีพลังงานราคาถูกใช้ จะทำให้ไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงกว่านี้มหาศาล ประชาชนจะสามารถ “ลืมตาอ้าปาก” ได้ ไม่ “จนดักดาน” อย่างที่เป็นอยู่
4. คนที่คัดค้านถ่านหิน ก็เพราะเชื่อว่าถ่านหินสกปรก แต่เคยมีผู้นำชุมชนเอาถ่านหินใส่น้ำดื่มมาแล้ว ว่าปลอดภัย เพราะต้องเผาจึงจะเกิดความร้อนเท่านั้น กองไว้เฉยๆ แทบไม่มีปัญหา ยิ่งกว่านั้น ถ้าควบคุมให้ดีจะสามารถลดมลพิษให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานองค์การอนามัยโลกได้
ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าถ้าไทยไม่เลือกถ่านหิน ก็จะเสียโอกาสเป็นอย่างมาก ทำให้ไทยต้องใช้พลังงานในราคาแพง ท่านทราบหรือไม่ ค่าไฟฟ้าในครัวเรือนของไทยแพงกว่ามาเลเซียถึง 1 เท่าตัว เพราะมาเลเซียใช้ถ่านหินเป็นสำคัญ ก๊าซเขาพยายามใช้เพื่อการหุงต้ม รถยนต์และอื่นๆ แทนที่จะเอามาใช้เพื่อการผลิตไฟฟ้า นอกจากนี้ก๊าซ ก็ยังเก็บไว้ได้ไม่เกิน 7-14 วัน ในขณะที่เรากองสต็อกถ่านหินไว้ได้ราว 2-6 เดือนเลยทีเดียว
เฉพาะที่กระบี่ กระบี่ใช้ไฟฟ้า 140 MW โซลาเซลล์มีศักยภาพ เป็น 1,000 MW ถ้าฟังดูตามนี้จะคิดง่ายๆ ว่า “จบเกมส์กันไปเลย” โซลาเซลล์อย่างเดียวก็เพียงพอแล้ว แต่ในความเป็นจริง โซลาเซลล์ผลิตได้เฉพาะตอนมีแดด แต่ในขณะที่ไฟฟ้ามีการใช้งานตลอด 24 ชั่วโมง จะเห็นได้ว่าความต้องการใช้ไฟฟ้ากระบี่สูงสุด 20:00 น. ถึง 140 MW ในขณะที่ไฟฟ้าที่ผลิตจากแดดได้ 0 MW
ปกติแล้ว วิธีแก้ก็คือ ต้องซื้อแบตเตอรี่ ชนิดพิเศษที่สามารถเก็บไฟที่ผลิตในช่วงกลางวันมาไว้ใช้ช่วงกลางคืน แต่ปัญหาก็คือแบตเตอรี่มีราคาแพง อายุการใช้งานไม่เกิน 2 ปี ก็ต้องซื้อใหม่ เปรียบเทียบค่าใช้จ่ายแล้ว ไม่คุ้มค่า ที่เกาะศรีบอยา มีผู้ใช้ไฟฟ้าจากแสงแดด แต่ปรากฏว่าไม่คุ้มค่าที่จะใช้ ต้นทุนสูงมาก เทียบกับคนที่อยู่บนชายฝั่งเสียค่าไฟเดือนละ 300-600 บาทแล้ว ถือว่า “ต่างกันฟ้ากับเหว”
ในขณะนี้หลายพื้นที่จึงมีการติดโซลาเซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ในตอนกลางวัน ส่วนกลางคืนใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าหลักที่เดินเครื่องได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งก็คือไฟฟ้าจากก๊าซ น้ำมันเตา ถ่านหิน น้ำมันปาล์มนั่นเอง แสดงว่าเรายังต้องพึ่งโรงไฟฟ้าหลักโดยเฉพาะถ่านหินที่ถูกที่สุดและสะอาด โดยมาตรฐานเทคโนโลยีของโรงไฟฟ้าถ่านหินของไทยที่จะสร้างที่กระบี่นั่น ปรากฏว่าดีกว่าที่มาเลเซียที่ตั้งอยู่ริมทะเลหลายสิบโรงด้วยซ้ำไป
ด้วยเหตุนี้การที่พวกเอ็นจีโอพูดว่าผลิตไฟฟ้าจากโซลาเซลล์รองรับการใช้ไฟฟ้าจังหวัดกระบี่ได้นั้น จึงไม่ตรงกับความเป็นจริง ไม่ตรงกับการใช้งานจริง ท่านเชื่อหรือไม่ว่า ยิ่งเราปฏิเสธ โรงไฟฟ้าหลัก โอกาสเกิดขึ้นของ โซลาเซลล์ก็ยิ่งมีน้อยลงไปด้วย เพราะโซลาเซลล์เป็นเสมือนทางเลือก “เสริม” ถ้ามีอย่างเดียว ผลิตไฟฟ้าไปแล้วไม่คุ้มค่า สิ้นเปลืองวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่มีอายุสั้นราคาแพง เท่ากับถูกโกงไปซึ่งหน้าตั้งแต่แรกที่ซื้อโรงงานผลิตไฟฟ้าจากสายลมและแสงแดดแล้ว
เราต้องนึกให้ดี อย่าให้พวกเอ็นจีโอทำร้ายชาติ ทำให้ชาติของเราตกต่ำลงเพราะต้องทนใช้ไฟในราคาแพง แพงกว่ามาเลเซียถึง 1 เท่าตัว
ดูรีสอร์ตยื่นลงทะเลเคียงข้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในมาเลเซีย (ไร้ปัญหา)