การสั่งปิดเหมืองทองคำตั้งแต่ปี 2560 ที่ผ่านมา สร้างปัญหาให้กับชุมชนโดยรอบ เพราะประชาชนส่วนใหญ่ถึง 89% ต้องการให้เปิด นายกฯ ปิดไปด้วยความเข้าใจผิดแท้ๆ
การสำรวจด้วยแบบสอบถามนี้ดำเนินการในวันอาทิตย์ที่ 7 กรกฎาคม 2562 โดยศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) โดยมีคณะนักศึกษาวิทยาลัยชุมชนพิจิตร วิทยาเขตทับคล้อ จำนวน 22 คน เป็นผู้ดำเนินการ (แต่ไม่เกี่ยวกับวิทยาลัยฯ) เพราะเป็นบุตรหลานผู้อยู่อาศัยในพื้นที่โดยตรง การสำรวจครั้งนี้ได้แบบสอบถามที่สมบูรณ์ สามารถนำมาวิเคราะห์ได้ทั้งหมด 572 ชุด หรือประมาณ 17% ของประชากร จึงนับว่าเพียงพอที่จะใช้เป็นตัวแทนได้
เหมืองทองคำอัคราตั้งอยู่ในจังหวัดพิจิตรเป็นส่วนใหญ่ แต่โดยที่อยู่ในเขตรอยต่อของจังหวัดที่เกี่ยวข้องคือจังหวัดเพชรบูรณ์และจังหวัดพิษณุโลก จึงแบ่งการสำรวจออกตามกลุ่มต่างๆ ดังต่อไปนี้:
แผนที่ 1: พื้นที่สำรวจโดยรอบเหมืองทองคำ (ครอบคลุมพื้นที่โดยรอบในรอยตะเข็บ 3 จังหวัด)
ในขณะที่ประเทศไทย เศรษฐกิจค่อนข้างตกต่ำ โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนมิถุนายนที่ทำโดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เห็นว่าเศรษฐกิจแย่ถึง 58% (https://bit.ly/2xEksOg) แต่สำหรับในพื้นที่รองเหมืองทองคำอัครานี้ ปรากฏว่าผู้ตอบแบบสอบถามถึง 75% เห็นว่าเศรษฐกิจค่อนข้างแย่หรือแย่มาก ที่เห็นว่าดีหรือดีมากมีรวมกันเพียง 5% เท่านั้น แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจในพื้นที่นี้น่าจะตกต่ำกว่าในพื้นที่อื่นโดยเฉลี่ยทั่วประเทศ
ในทางตรงกันข้าม ประชากรถึง 80% เห็นว่าเศรษฐกิจชุมชนในช่วงก่อนปิดเหมืองทองคำ ดีกว่าปัจจุบัน ที่เห็นว่าแย่กว่ามีเพียง 4% เท่านั้น ส่วนในปีหน้า (พ.ศ.2563) กลุ่มใหญ่ที่สุดราว 32% เห็นว่ายังอยู่ในภาวะปานกลาง ที่คิดว่าจะแย่ลงมีถึง 42% ส่วนที่คิดว่าจะดีขึ้นมีเพียง 25% เท่านั้น แสดงว่าประชากรส่วนใหญ่ยังมองไม่เห็นถึงอนาคตที่เป็นบวก
ถ้าใช้เกณฑ์ 100% เป็นตัววัด จะพบตัวเลขดังนี้:
1. เศรษฐกิจในขณะนี้ 89% แสดงว่าต่ำกว่าเกณฑ์ 100%
2. เศรษฐกิจในช่วงก่อนปิดเหมือง 111% แสดงว่าเมื่อก่อนดีกว่าพอสมควร
3. เศรษฐกิจในปี 2563 96% แสดงว่าส่วนใหญ่ยังเห็นว่าเศรษฐกิจจะติดลบ
เมื่อตอบคำถามว่าสภาวะมลพิษในชุมชนในขณะนี้เป็นอย่างไร ปรากฏว่า ที่ตอบว่าสถานการณ์สิ่งแวดล้อมดีขึ้น มลพิษลดลงมีเพียง 7% แต่ 93% ระบุว่าสภาพในปัจจุบันและก่อนปิดเหมือง มีสภาพเหมือนกัน คือไม่ได้แตกต่างกัน คือไม่ได้มีมลพิษดังที่เข้าใจกันนั่นเอง การปิดลงของเหมืองทองคำ ไม่ได้ทำให้สภาพมลพิษดีขึ้น เพราะไม่ได้สร้างมลพิษอย่างมีนัยสำคัญอยู่แล้วในความเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ที่สุด
อาจกล่าวได้ว่าประชากรเพียง 11% เท่านั้นที่เห็นด้วยกับการปิดเหมือง ส่วนใหญ่ถึง 89% ไม่เห็นด้วย และอยากให้เหมืองเปิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เพราะจะได้เป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
จากผลการสำรวจพบว่ามีเพียงประชาชนส่วนน้อย 11% ที่เห็นด้วยกับการปิดเหมืองทองคำ ประชาชนส่วนใหญ่ถึง 89% ต้องการที่จะให้เปิดเหมืองทองคำขึ้นใหม่เพราะเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจ การปิดเหมืองยังส่งผลกระทบต่อครอบครัวอีกด้วย นอกจากนั้นประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังว่าสภาพแวดล้อมก่อนและหลังการปิดเหมืองก็ไม่แตกต่างกันแสดงว่าคงไมได้มีมลพิษเช่นที่เข้าใจ
ดังนั้นทางราชการจึงควรพิจารณา
1. ดำเนินการเปิดเหมืองขึ้นใหม่เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่
2. ตั้งคณะทำงานดำเนินการตรวจตราให้เคร่งครัดในกรณีที่อาจถูกร้องเรียนต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหามลพิษดังที่มีเสียงเรียกร้องจากประชาชนส่วนข้างน้อย
3. ขยายระยะเวลาสัมปทานออกไปอีก 2-3 ปีจากกำหนดการเดิม เพื่อชดเชยระยะเวลาที่ขาดหายไปจากคำสั่งปิดเหมือง และเพื่อจะได้ไม่ต้องเสียค่าปรับที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากการสั่งปิดเหมืองที่สร้างความเดือดร้อนแก่ภาคเอกชนและภาคประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่
หากทางราชการไม่ได้ดำเนินการหรือดำเนินการล่าช้าก็จะยิ่งทำให้ปัญหาบานปลาย และสร้างปัญหาอื่นมากยิ่งขึ้น เช่น ปัญหาสังคม ครอบครัวที่สมาชิกในครอบครัวต้องออกไปทำงานในพื้นที่อื่น เป็นต้น