มารู้จักคนเร่ร่อนอย่างชัดเจนจากการสัมภาษณ์คนเร่ร่อนในช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 ว่าเขาเป็นอยู่กินกันอย่างไร จึงเป็นเช่นนี้
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ในฐานะประธานมูลนิธิอิสรชน ที่ช่วยเหลือคนเร่ร่อนและคณะได้ไปสำรวจเจาะลึกคนเร่ร่อน จึงมานำเสนอความเข้าใจของสังคม
นอนริมถนน ไม่เสียค่าใช้จ่าย ตรอกสาเก สนามหลวง
นางบัวผัน หรือน้อย อายุ 62 ปี (เกิด พ.ศ.2501) เป็น “ทอม” รูปร่างผอมสูงประมาณ 160 ซ.ม. เป็นคนงานก่อสร้างอยู่แถวมีนบุรี แต่ทำงานได้ 3-4 วัน ก็กลับมาพักที่ตรอกสาเก สนามหลวง อีก 3-4 วัน วนเวียนไปมาโดยนอนรวมกลุ่มกับเพื่อนที่ต่างคนต่างมาจนคุ้นเคยกัน เพื่อป้องกันโจร-ขโมย นางมีชีวิตแบบคนเร่ร่อนมาตั้งแต่ปลายปี 2559 (รวม 4 ปีแล้ว) โดยมาจากต่างจังหวัดคือที่อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่บ้านทำการเกษตร แต่พอแม่เสียชีวิต และไม่ถูกกับญาติๆ จึงมาอยู่คนเดียว
ก่อนมาอยู่ที่ตรอกสาเก สนามหลวง เคยอยู่แถวหัวลำโพงบ้าง หมอชิตบ้าง นางบัวผันมีรายได้วันละ 500-600 บาท ในขณะนี้บัตรประชาชนหายไป แต่มีเงินพกติดตัวประมาณ 4,000 บาท สาเหตุที่มาพักที่ตรอกสาเก สนามหลวงนี่เพราะสงบดี คุ้นเคย มีเพื่อนฝูงแล้ว และที่สำคัญไม่เสียค่าใช้จ่าย ไม่ต้องเช่าบ้าน สัมภาระที่มีก็มีเพียงกระเป๋าใบเดียว ถือเป็นการมาพักเหนื่อย “ชาร์ตแบต” ก่อนไปทำงานต่อ
พ่อ-ลูกนอนริมถนน ถนนราชดำเนินกลาง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
นาย “บัง” อายุ 43 (เกิด พ.ศ.2520) นอนอยู่ใต้ชายคาอาคารริมถนนราชดำเนินกลาง ใกล้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีสภาพพิการขาลีบเนื่องจากอุบัติเหตุ โดยอยู่อาศัยพร้อมลูกชายวัย 10 ขวบ (เกิด พ.ศ.2533) แต่เป็นเด็กแคระแกรน ที่นอนอยู่นี้ก็มีคนอื่นผ่านมากวน หรือมาแหย่ลูกบ้างเป็นครั้งคราว แต่เมื่อมีขบวนเสด็จฯ ก็จะไปแอบอยู่ข้างตึก
นายบังมีบัตรประชาชน มีบัตร 30 บาทรักษาทุกโรค แต่ก่อนเคยเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย อยู่ที่ท่าดินแดงเมื่อ 7-8 ปีก่อน และต่อมาไปประจำอยู่ที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สำนักงานใหญ่ แต่เมื่อ 5-6 ปีก่อนจะประสบอุบัติเหตุ และภริยาก็แยกทางกันไป นายบังและลูกมาอยู่ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 และอยู่มาโดยตลอด สำหรับรายได้นั้น ได้จากการเก็บขยะขาย รวมทั้งในแต่ละวันจะมีผู้มาแจกอาหารวันละ 1-2 ครั้ง จึงทำให้สามารถอยู่ได้
ผู้ตกค้างจากการชุมนุมทางการเมือง ถนนจักรพงษ์ บางลำภู
นายสมใจ อายุ 51 ปี เป็นชาวอำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน เคยมีครอบครัว มีลูกชาย 1 คน แต่ได้เลิกร้างไปแล้วตั้งแต่ปี 2547 ที่ผ่านมาอยู่ที่จังหวัดน่านประกอบอาชีพเกษตรกรรม ในช่วงชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 ก็ได้มาทำการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ พ.ศ. 2553 (เสื้อแดง https://bit.ly/3joVB75)
สภาพร่างกายในขณะนี้ไม่สมบูรณ์นัก เดินกระเผลก เพราะถูกรถชนในช่วงมาชุมนุมเสื้อแดง อย่างไรก็ตามนายสมใจมีบัตรประชาชนและมีบัตร 30 บาทรักษาทุกโรค ทำให้ไม่เป็นภาระแก่ผู้อื่น ในการนอนริมถนนนั้น อาจมียุงกัดบ้าง ก็มียาทากันยุง นอกจากนี้ยังสามารถใช้บริการห้องน้ำจากสถานีตำรวจในบริเวณใกล้เคียง ส่วนรายได้นั้น ได้จากการช่วยงานเล็กๆ น้อยๆ ในพื้นที่
นอนริมน้ำสบายๆ สายใต้เก่า ปิ่นเกล้า ริมคลองบางกอกน้อย
นายทองแดง อายุ 63 ปี (เกิด พ.ศ.2500) มีความรู้ถึงขั้นจบ ปวส.ด้านการเกษตรจากจังหวัดชัยภูมิ สมัยหนุ่มๆ เคยทำงานป่าไม้อยู่แม่สอด เป็นเวลา 2 ปี ก็แต่งงานจ่ายค่าสินสอดไปถึง 30,000 บาท แต่ก่อนอายุ 30 ปี ภริยาก็มีชู้ และภริยาก็พาลูกชาย 2 คนไป ต่อมาก็ไม่เป็นอันมาหากิน ชีวิตลุ่มๆ ดอนๆ แต่เคยเป็น รปภ.อยู่ 5 ปี แล้วก็มาขับแท็กซี่ แต่เมาแล้วขับเลยถูกจับติดคุกไประยะหนึ่ง พอออกมาก็ไม่มีงานทำเพราะอายุมากแล้ว สุดท้ายก็เลยมาอยู่บริเวณนี้มา 2 ปีแล้ว
บริเวณที่อยู่นี้อยู่ริมคลองบางกอกน้อย ตรงบริเวณสายใต้เก่าแถวปิ่นเกล้า โดยอยู่คนเดียวบ้าง หรือบางครั้งก็มีเพื่อนที่เร่ร่อนด้วยกันมาอยู่ด้วยกันบ้าง บางทีทะเลาะกันก็อาจแยกกันอยู่ ตอนนี้บัตรประชาชนก็หายไปแล้ว ทุกวันนี้หาเลี้ยงชีพด้วยการเก็บของเก่าขายไปวันๆ เขามีแผนว่าจะกลับไปอยู่ต่างจังหวัดเหมือนกัน
อดีตลูกคนมีฐานะ มานอนวัดราชบุรณราชวรวิหาร
นายณัฐพล ปัจจุบันอายุ 40 ปี อาศัยนอนตอนกลางวันอยู่บริเวณศาลาของวัดราชบุรณราชวรวิหาร โดยอยู่มา 4 ปีแล้ว ตอนเช้ามืดก็ช่วยกวาดลานวัด ส่วนช่วงกลางคืนก็นอนอยู่นอกวัด โดยมีเพื่อนซึ่งพบกันในบริเวณนี้นอนอยู่ด้วยคนหนึ่ง คงผลัดกันช่วยเฝ้าของ บัตรประชาชนหายไปแล้ว แต่ไปหาหมอที่ศิริราชได้เพราะมีประวัติอยู่ที่นั่น ตัวเองสักหน้าด้วยตั้งแต่แม่เสียชีวิต
แต่เดิมคุณแม่มีฐานะ เป็นลูกคนเดียวแต่ตัวเองค่อนข้างเกเร ไม่ค่อยเข้าบ้าน พอแม่เสียชีวิตเมื่อปี 2550 ตนเองกลับไปบ้าน ก็ทราบข่าวว่าแม่ได้ยกที่ดิน 4 ไร่ให้กับวัดมัชฌันติการาม ถ.วงศ์สว่าง ซอย 11 ไปแล้ว จึงไม่มีสมบัติใดๆ ตนเองเร่ร่อนมาถึงแถวปากคลองตลาดนี้ เลิกดื่มสุราแล้ว แต่ไปสมัครงานเข็นผักก็ไม่มีใครรับ สุดท้ายก็เลยมาขายเสื้อผ้าเก่าๆ ในช่วงวันเสาร์อาทิตย์แถวคลองถม ได้เงินคืนละ 200 บาท สำหรับบ้านพักสำหรับคนเร่ร่อนของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์นั้น ตนเองไม่ชอบไปอยู่เพราะรู้สึกไม่เป็นอิสระ
คนเร่ร่อนชาวซิกข์ แถววัดซิกข์ พาหุรัด
นาย Ravi ชาวไทยเชื้อสายอินเดียคนนี้เป็นคนนับถือศาสนาซิกข์ มีอายุประมาณ 60 ปี มีบัตรประชาชนอยู่ในเขตคันนายาว กรุงเทพมหานคร เป็นคนที่มีการศึกษา พูดภาษาอังกฤษได้ดี เคยไปเรียนหนังสือที่อินเดียที่เมืองมัสซูรี่ (Mussoorie) รัฐอุตตรันชัล ประเทศอินเดีย เคยมีกิจการเป็นของตนเอง มีเงินฝากอยู่กับธนาคารที่ถูกปิดไปในช่วงวิกฤติปี 2540 ด้วย
ชายคนนี้มีขาที่มีแผล เดินไม่สะดวก หลังวิฤติปี 2540 เคยแต่งงานกับสาวไทยเชื้อสายจีนเมื่อปี 2546 มีลูก 2 คนอายุ 25 และ 18 ปี แต่ไม่ได้ติดต่อกัน ไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน ชีวิตคงลุ่มๆ ดอนๆ ด้วยเหตุนี้ในทุกวันนี้จึงพักอาศัยอยู่หลังวัดซิกข์ พาหุรัด (Gurudwara Sri Guru Singh Sabha) อาศัยอาหารจากวัด และช่วงบ่ายก็มีคนมาบริจาค ยังมีความหวังว่าวันหนึ่งจะเดินทางไปหาญาติที่อินเดีย
บั้นปลายชีวิตที่เร่ร่อน เพราะความสุรุ่ยสุร่ายและเจ้าชู้
นายสุวพล อายุ 67 ปี (เกิดปี 2496) เป็นคนนครศรีธรรมราช เคยมีครอบครัว แต่งงานเมื่อปี 2530 มีบุตร 1 คนเมื่อปี 2533 แต่ในบั้นปลายเลิกกับภริยาเมื่อปี 2559 หลังจากอยู่กินกันมา 29 ปี เพราะเป็นคนเจ้าชู้ ภริยาก็ชอบเล่นหวย เลยไม่ได้ช่วยกันประคับประคองชีวิตคู่ ส่วนลูกก็โตมีครอบครัวไปแล้ว มีติดต่อกันบ้าง มีบัตรประชาชน มีบัตร 30 บาทรักษาทุกโรคแต่ยังไม่มีบัตรผู้สูงวัย
เคยมีอาชีพขับรถให้เจ้านาย แต่เลิกขับเมื่อปี 2561 หรือเมื่อ 2 ปีก่อนเพราะสายตาไม่ดี โดยได้เงินมา 80,000 บาท แต่ก็ใช้ไปหมดแล้ว หลังจากนั้นก็เริ่มเร่ร่อน โดยนอนใต้สะพานพุทธ มีคนเร่ร่อนด้วยกันชวนไปอยู่ด้วย ทุกวันนี้เก็บของเก่าที่พอดูมีราคาไปขายต่อ ส่วนการนอนนั้นก็นอนตามหน้าร้านค้าย่านพาหุรัด ซึ่งปิดในตอนกลางคืน ในอนาคตคิดจะกลับไปบ้านเกิดและบวชเป็นพระภิกษุ
ชายสูงวัยผู้โดดเดี่ยว เร่ร่อนเพราะพิษโควิด
นายบุญชู อายุ 65 ปี เป็นคนจังหวัดอุดรธานี เพิ่งเร่ร่อนมาได้ตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน 2563 เพราะพิษโควิด โดยช่วงนั้นมากรุงเทพมหานครโดยตั้งใจจะต่อไปทำงานดายหญ้าอยู่ที่ชุมพร ซึ่งเป็นสถานที่ๆ เคยทำมาก่อน แต่พอดีเกิดโควิด จึงไม่สามารถเดินทางไปได้ ไม่รู้จะไปไหน จึงเร่ร่อนและนอนอยู่แถววังบูรพา โดยนอนอยู่หน้าร้านย่านดังกล่าว
ในสมัยหนุ่มๆ อายุ 20-30 ปี เคยบวชพระมาร่วม 10 ปี แต่สึกเพราะพระอิจฉากัน มียาเสพติดเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ปัจจุบันยังเป็นโสด ในช่วงที่อยู่อุดรธานี ก็ช่วยงานทั่วไป เช่น เด็ดพริก วันละ 50 บาท (ได้ต่ำกว่าผู้ขายแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเสียอีก) มีความตั้งใจว่าจะขายขนมปังปิ้งหน้าโรงเรียนประถมแถวบ้านที่อุดรธานี แต่ต้องใช้เงินทุนประมาณ 10,000 บาท (น่าจะสูงเกินจริง) เลยคิดไปทำงานที่ชุมพรก่อน แต่พอมีโควิดก็ไม่สามารถเดินทางได้
หนุ่มใหญ่ผู้ไม่มีทางไปอดีตคนแสดงงิ้ว
นายนพดล อายุ 50 ปี (เกิดปี 2513) เป็นหนุ่มใหญ่ที่มีความหลากหลายทางเพศ และไม่มีครอบครัว มีอาชีพเล่นงิ้วภาษาจีนแต้จิ๋ว โดยฝึกแถวเยาวราช และต่อมาไปเล่นงิ้วไกลถึงมาเลเซีย โดยได้ค่าจ้างถึงวันละ 900 บาท (140 ริงกิต) แต่ก็ไม่ได้ยึดอาชีพนี้ถาวร ดูเป็นคนมีอาการทางจิตเล็กน้อย ทุกวันนี้นอนเร่ร่อนอยู่แถวพาหุรัด
ช่วงก่อนโควิดกำลังจะเดินทางไปมาเลเซียเพื่อเล่นงิ้วต่อ แต่ไปไม่ได้เนื่องจากเกิดโรคไวรัสโควิด-19 เสียก่อน จึงถอยกลับมาตั้งหลักที่กรุงเทพมหานคร นายนภดลบอกว่ามีพี่น้อง 5 คนโดยตนเองเป็นคนที่ 4 และบิดามารดาเสียหมดแล้ว นายนภดลสรุปบทเรียนว่าสมัยหนุ่มๆ ชอบกินเหล้า สูบบุหรี่และเที่ยวบ่อยๆ ไม่ได้เก็บเงินไว้เลย สำหรับอนาคตคงจะหาทางไปเล่นงิ้วที่มาเลเซียอีก
ครอบครัวคนเร่ร่อน สองสามีภริยาแห่งสะพานพระปิ่นเกล้า
นายวิริยะ อายุประมาณ 50 ปี เป็นสามี และนางบังอร เป็นภริยา โดยนายวิริยะเคยขับแท็กซี่มาก่อน แต่เพราะเมาเหล้าจึงตกบันไดบ้านของพี่สาวจนต้องผ่าตัดและกระโหลกยุบ ทำให้ไม่สามารถทำงานอะไรได้ ไปสมัครงานอะไรก็ไม่มีใครรับ จึงเร่ร่อนมาอยู่แถวสะพานพระปิ่นเกล้า ฝั่งธนบุรีได้ 7-8 เดือนแล้ว (ตั้งแต่ราวๆ ปลายปี 2562)
ส่วนนางบังอร อายุ 42 ปี (เกิดปี 2521) เคยอยู่บ้านกับแม่และพ่อเลี้ยงแต่ถูกพ่อเลี้ยงข่มขืนจึงหนีออกจากบ้านในต่างจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือมา และมาทำงานเป็นแม่บ้านตามบ้าน แต่รู้สึกไม่เป็นอิสระจึงออกมาเช่าบ้านอยู่ แต่ค่าใช้จ่ายสูงจึงมาอยู่ริมถนน และพบรักกับนายวิริยะ โดยทุกวันนี้นอนอยู่หน้าตึกแถวร้าง นางบังอรเดินเก็บขยะไปขายได้เงินวันละประมาณ 100 บาท อนาคตคิดว่าจะไปเช่าบ้านอยู่เป็นหลักแหล่ง
อันที่จริงคนเหล่านี้ หลายคนยังมีโอกาสที่จะกลับสู่สังคมปกติได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นภาระต่อสังคม ไม่จำเป็นต้องอายุสั้นเพราะผจญกับสภาพชีวิตที่สุดแร้นแค้น และไม่เป็นอันตรายต่อสังคมอีกด้วย แต่จะมีความเป็นไปได้มากหรือน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับภาครัฐและภาคประชาชนจะร่วมกันแก้ไขปัญหานี้ให้ประสบความสำเร็จ
โปรดให้โอกาสแก่คนเร่ร่อนด้วย