ในวันจันทร์ที่ 14 กันยายน 2563 ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) และคณะได้เดินทางไปปแระเมินค่าเครื่องบินพาณิชย์ A350-900 ณ ท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง กรุงเทพมหานคร โดยได้รับความอนุเคราะห์จากผู้บริหาร เจ้าหน้าที่และวิศวกรซ่อมบำรุงรักษาเครื่องบินของสายการบินที่เป็นลูกค้าเป็นอย่างดี
สำหรับรายละเอียดเบื้องต้นของ “แอร์บัส เอ350” (จาก Wikipedia: https://bit.ly/2RpkjIg) เป็นอากาศยานขนาดกลางลำตัวกว้าง แบบใช้เครื่องยนต์ 2 ตัว มีพิสัยบินระยะไกล พัฒนาโดยแอร์บัส เอส.อาร์.เอส. เพื่อแข่งขันกับ โบอิง 777 และโบอิง 787 ทั้งนี้เพื่อทดแทนรุ่น เอ 330 และเอ 340 เช่นกัน แอร์บัส เอ350 นั้นถือเป็นอากาศยานที่พัฒนาโดยแอร์บัสรุ่นแรกที่ผลิตมาจากวัสดุผสมจากคาร์บอนไฟเบอร์ โดยสามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ตั้งแต่ 280 คน ถึง 366 คน ตามแต่ละรุ่น
ในการริเริ่มการพัฒนาในช่วงแรกในปีค.ศ. 2004 นั้น มีเพื่อใช้ส่วนประกอบใหม่ที่มีอากาศพลศาสตร์ที่ดีขึ้น โดยตั้งใจมาติดตั้งกับลำตัว และเครื่องยนต์ของเครื่องบินรุ่น เอ330 ตามแต่เดิม ต่อมาในปี ค.ศ. 2006 ทางแอร์บัสจึงได้เริ่มพัฒนาอากาศยานรุ่นใหม่อย่างจริงจังอันเป็นผลมาจากความต้องการของตลาด โดยตั้งชื่อว่า เอ350 เอ็กซ์ดับบลิวบี (XWB) ซึ่งย่อมาจาก Extra Wide Body หรือ ลำตัวกว้างพิเศษ โดยมีต้นทุนการพัฒนาถึง 11,000 ล้าน ยูโร ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2017 ได้มีคำสั่งซื้อทั้งหมด 858 ลำ จากลูกค้าทั้งหมด 46 รายทั่วโลก เครื่องบินต้นแบบได้ทำการบินเป็นครั้งแรกในวันที่ 14 มิถุนายน ค.ศ. 2013 จากเมืองตูลูส ประเทศฝรั่งเศส ได้รับการรับรองด้านความปลอดภัยจากสำนักงานความปลอดภัยทางการบินแห่งยุโรปในเดือนกันยายน ค.ศ. 2014 และจากสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติในอีกสองเดือนถัดมา และได้เริ่มทำการบินพาณิชย์เป็นครั้งแรกเมื่อ 15 มกราคม ค.ศ. 2015 กับสายการบินกาตาร์
แอร์บัส เอ350 ได้พัฒนาเครื่องบินใหม่ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้กับ โบอิง 777 และโบอิง 787 โดยเครื่องรุ่นใหม่จะมีลำตัวที่กว้างกว่าเดิม สามารถจุผู้โดยสารได้ 9 คนต่อแถว สำหรับที่นั่งชั้นประหยัด เมื่อเทียบกับ 787 ที่จุได้ 8 - 9 คนต่อแถว และ 777 ที่จุได้ 9 - 10 คนต่อแถว และแอร์บัสได้เปิดตัวเครื่องรุ่นใหม่ในงาน ฟาร์นโบโรแอร์โชว์ เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 และเรียกชื่อรุ่นว่า เอ350 XWB (มาจาก Xtra Wide Body) และอ้างว่าสามารถประหยัดตุ้นทุนได้มากกว่า 787 ถึงร้อยละ 10
เครื่องรุ่นใหม่นี้ได้รับการสนองตอบอย่างดี โดยมีสิงคโปร์แอร์ไลน์ ที่ส่งคำสั่งซื้อเพียง 4 วันหลังจากการเปิดตัว ถึง 20 ลำ และพิจารณาไว้อีก 20 ลำ ทั้งนี้แอร์บัสจะออก เอ350 ออกมา 3 รุ่น คือ -900 ซึ่งจะเป็นุร่นแรกของ 350 จะเริ่มให้บริการในปีพ.ศ. 2556 จากนั้นจึงจะออกรุ่น -800 และ -1000 ภายหลังประมาณ 12 เดือน และ 24 เดือน ตามลำดับ
แอร์บัส เอ 350-900 เป็นรุ่นย่อยแรกมีน้ำหนักบรรทุกสูงสุดขณะนำเครื่องขึ้นถึง 280 ตัน โดยสามารถจุผู้โดยสารได้ถึง 325 โดยมีพิสัยบินกว่า 8,100 ไมล์ทะเล (15,000 กม.) โดยแอร์บัสกล่าวว่า โบอิง 777-200ER ซึ่งเป็นคู่แข่งโดยตรงนั้นมีน้ำหนักมากกว่าถึง 16% กินน้ำมันมากกว่า 30% และมีต้นทุนการปฏิบัติการสูงกว่าถึง 25% โดยรุ่นย่อย 900 นั้นผลิตเพื่อแข่งขันโดยตรงกับ โบอิง 777 และ 787 (รุ่น 777-200ER/LR รุ่น 787-8 และ รุ่น 787-10) โดยผลิตเพื่อทดแทนรุ่น แอร์บัส เอ 340-300 และ แอร์บัส เอ 340-500
ปัจจุบันมีสายการบินที่ใช้ทั้งหมด 17 สายการบิน และอากาศยานจำนวน 133 ลำ ได้แก่ กาตาร์แอร์เวย์ 19 ลำ, การบินไทย 11 ลำ, คาเธ่ย์แปซิฟิค 21 ลำ, ไชน่าแอร์ไลน์ 10 ลำ, เดลตาแอร์ไลน์ 4 ลำ, ฟินน์แอร์ 11 ลำ, เฟรนช์บลู 1 ลำ, มาเลเซียแอร์ไลน์ 1 ลำ, ลาแทมแอร์ไลน์ 7 ลำ, ลุฟต์ฮันซา 6 ลำ, เวียดนามแอร์ไลน์ 9 ลำ, สิงคโปร์แอร์ไลน์ 19 ลำ, เอเชียนาแอร์ไลน์ 3 ลำ, เอธิโอเปียแอร์ไลน์ 6 ลำ, แอร์คาไรเบส 2 ลำ, แอร์มอริเชียส 2 ลำ, ฮ่องกงแอร์ไลน์ 3 ลำ และ (ไม่เปิดเผย) 2 ลำ