สนามหลวง-ราษฎร: รวมภาพตลาดนัดสนามหลวง
  AREA แถลง ฉบับที่ 568/2563: วันอังคารที่ 22 กันยายน 2563

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            สนามหลวงหรือทุ่งพระเมรุ เป็นสถานที่เผาศพของเจ้านายชั้นสูง แต่ขณะเดียวกันก็เคยเป็นที่เผาศพของสามัญชนเช่นกัน มาดูหลักฐานทางประวัติศาสตร์

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ในฐานะนักวิชาการด้านการพัฒนาเมือง กล่าวถึงผลการศึกษาของ “สสิทรา ณ ป้อมเพ็ชร์” เรื่อง “แนวคิดเรื่องเมรุของสามัญชนกลางท้องสนามหลวง” ของภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีการศึกษา 2558 <1>

            ในผลการศึกษากล่าวว่า “ท้องสนามหลวงสำหรับปลงศพผู้เสียชีวิตที่เป็นสามัญชนจำนวน 2 หลัง คือเมรุสำหรับปลงศพทหารฝ่ายรัฐบาลที่เสียชีวิตในเหตุการณ์กบฏบวรเดช ปี พ.ศ. 2476 กับเมรุสำหรับปลงศพนักศึกษาและประชาชนที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516. . .งานสถาปัตยกรรมเมรุสามัญชนทั้งสองหลังนี้มีลักษณะบางอย่างร่วมกันคือ เป็นเมรุที่สร้างโดยรัฐบาลสำหรับปลงศพสามัญชนที่เสียชีวิตจากเหตุรุนแรงทาการเมืองบนท้องสนามหลวงฝั่งทิศเหนือ เมรุทั้งสองหลังต่างเป็นสิ่งสะท้อนถึงแนวคิดทางค้นศิลปะ การเมือง สังคมและวัฒนธรรมที่ภาครัฐในแต่ละสมัยต้องการนำเสนอให้ประชาชนรับรู้ แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือ รูปแบบสถาปัตยกรรมที่ต่างกัน ซึ่งสะท้อนถึงแนวคิดค้นต่างๆ ที่ต่างกัน”

            “เมรุกบฎบวรเดช พ.ศ. 2476 สร้างโดยใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ เพื่อนำเสนอแนวคิดค้นการเมือง สังคมและวัฒนธรรมแบบสมัยใหม่ที่รัฐบาลกลุ่มคณะราษฎรสถาปนาขึ้น เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับฝ่ายของตนและลดความชอบธรรมของฝ่ายระบอบเก่าลง ส่วนเมรุ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 สร้างโดยใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ เพื่อนำเสนอแนวคิดค้นการเมือง สังคมและวัฒนธรรมที่อยู่ภายใต้แนวคิดเรื่องความเป็นไทย อันผูกพันกับสถาบันกษัตริย์และวัฒนธรรมราชสำนัก เพื่อส่งเสริมความมั่นคงให้กับสถาบันกษัตริย์และรัฐบาลนั่นเอง”

            ศาสตราจารย์ชาตรี ประกิตนนทการ และนายสุชาติ สวัสดิ์ศรีได้ให้คำอธิบายเกี่ยวกับสนามหลวงไว้อย่างละเอียด <2> โดยกล่าวว่า “คำว่า ‘สนามหลวง’ มีนัยทางภาษา 2 อย่างคือ สนาม ‘หลวง’ ที่แปลว่าสนามใหญ่ หรือสนามกว้าง อีกนัยหนึ่งคือ สนามที่เป็นของ ‘หลวง’ (royal) เมื่อพิจารณาความหมายของพื้นที่สนามหลวงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าสนามหลวงไม่ใช่พื้นที่ที่ประชาชนพลเมืองเข้ามาใช้ได้อย่างเท่าเทียม เราจึงไม่อาจเรียกสนามหลวงว่าเป็นพื้นที่สาธารณะได้. . .เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตย แนวคิดว่าด้วยสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคแสดงออกมาในทุกปริมณฑลสาธารณะ รวมไปถึงสนามหลวงด้วยเช่นกัน”

            สนามหลวงเคยเป็นตลาดนัดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย “ตลาดนัดสนามหลวงเปิดครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2491 ขณะที่จอมพล ป. พิบูลสงครามยังให้เปิดตลาดนัดขึ้นแทบทุกจังหวัด ปีต่อมาทางการต้องใช้พื้นที่สนามหลวงจึงย้ายตลาดนัดไปอยู่ในพระราชอุทยานสราญรมย์. . .พ.ศ. 2500 จึงย้ายออกจากพระราชอุทยานสราญรมย์มาด้านนอก ด้านถนนราชินี บริเวณคลองหลอด แต่ปรากฏว่าได้ปลูกเพิงสร้างแคร่จนเป็นภาพไม่งดงาม จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี จึงให้ย้ายตลาดนัดนี้กลับไปยังสยามหลวงตามเดิมใน พ.ศ. 2501. . .จนกระทั่งกรุงเทพมหานครได้เตรียมใช้พื้นที่สนามหลวงจัดงานเฉลิมฉลองสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี จึงได้ปิดตลาดนัดสนามหลวงตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2525” <3>

            ประวัติศาสตร์ไทยน่าศึกษา แม้แต่ สนามหลวง ที่เราเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

 

อ้างอิง

<1> สสิทรา ณ ป้อมเพ็ชร์. แนวคิดเรื่องเมรุของสามัญชนกลางท้องสนามหลวง. ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีการศึกษา 2558. https://bit.ly/32SofYs

<2> Wajana Wanlayangkoon. สนามหลวง-สนามราษฎร : พื้นที่ต่อสู้ทางอุดมการณ์และความทรงจำร่วมของประชาชน. Thai Politics. 18 กันยายน 2563

<3> “ตลาดนัด” มาจากไหน? ย้อนรอยตลาดนัดในกรุงเทพฯ ถึงตำนานตลาดนัดสนามหลวง. ศิลปวัฒนธรรม. 21 สิงหาคม 2563. https://www.silpa-mag.com/history/article_48458

ความจริงเกี่ยวกับสนามหลวง
https://www.facebook.com/dr.sopon4/posts/3180576805388217
รูปภาพต่อไปนี้มาจาก
https://www.dek-d.com/board/view/2766660/
อ่าน 3,573 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved