ต้นไม้มีมูลค่าทั้งต้นไม้ยักษ์ใจกลางเมือง และทรัพยากรป่าไม้ทั้งป่า โดยเฉพาะต้นไม้ขนาดใหญ่ที่อยู่ในเมืองมีค่ามากกว่าที่คิด ป่าเขาจะประเมินค่าอย่างไร เป็นสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องต้องทราบ
ในกรุงเทพมหานคร มีต้นไม้ขนาดใหญ่นับพันต้น และที่ผ่านมาเคยมีการจัดประกวดต้นไม้ยักษ์ โดยกลุ่มโซเชียลมีเดีย “บิ๊กทรี” (BigTrees Project) ร่วมกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นหลายแห่ง และปรากฏว่ามีต้นไม้ที่ชนะการประกวด เช่น ต้นไม้ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร (มีเส้นรอบวงตั้งแต่ 2 เมตรขึ้นไป) รางวัลชนะเลิศ คือต้น “ไทรย้อย” (ขนาดเส้นรอบวง 16.5 เมตร) ในโรงเรียนพระรามหกเทคโนโลยี ถนนจรัญสนิทวงศ์ เขตบางพลัด ส่วนรองชนะเลิศอันดับ 1 คือ “ต้นกร่าง” (ขนาดเส้นรอบวง 15.67 เมตร) ตั้งอยู่ในโรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย ถนนเจริญกรุง ซอยเจริญกรุง 57 และรองชนะเลิศอันดับ 2 ต้นไทร (ขนาดเส้นรอบวง 13.77 เมตร) ขึ้นอยู่บนเชิงสะพานบางขุนเทียน ถนนจอมทอง
ประเภทที่ 2 ต้นไม้ที่สูงสุดในกรุงเทพมหานคร ชนะเลิศ คือ “ต้นยางนา” (สูง 33.24 เมตร) อยู่ในพื้นที่ของโรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (วัดน้อยใน) ในพระราชูปถัมภ์ฯ แขวงตลิ่งชัน เขตตลิ่งชัน ส่วนรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ “ต้นโพธิ์” (สูง 30.18 เมตร) สถานที่ตั้งอยู่ในสุดซอยมังกร 2 ถนนมังกร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และรองชนะเลิศอันดับ 2 คือ “ต้นสมพง” (สูง 30.03 เมตร) อยู่ในโรงแรมสวิสโฮเต็ล ปาร์คนายเลิศ ถนนวิทยุ
ประเภทที่ 3 ต้นไม้ที่สมบูรณ์สุดในกรุงเทพมหานคร โดยวัดจากโหวตในสังคมออนไลน์ ปรากฏว่า “ต้นประดู่” ในโรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย ในซอยเจริญกรุง 57 ถนนเจริญกรุง คว้ารางวัลชนะเลิศด้วยผลโหวต 828 คะแนน และ “ต้นมะฮอกกานี” ในถนนหลัก หมู่บ้านนวธานี ถนนเสรีไทย เขตบึงกุ่ม ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ ด้วยคะแนน 229 คะแนน และ “ต้นจามจุรี” ในบ้านเลขที่ 212 ซอยรามอินทรา 46 ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ส่วน “ต้นไทร” บริเวณปากซอยวิภาวดี 29 ริมทางคู่ขนานวิภาวดีรังสิตคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2
สำหรับประเภทที่ 4 ต้นไม้ทรงคุณค่าที่สุดในกรุงเทพมหานคร ที่คัดเลือกโดยการโหวตเช่นกันคือ “ต้นไกร” ในธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาตลาดน้อย ถนนโยธา ได้รางวัลชนะเลิศ และ “ต้นโพธิ์” บริเวณหน้าธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ (รัชโยธิน) ได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ขณะที่ต้นไทรในสวนวชิรเบญจทัศหรือสวนรถไฟ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2
ต้นไม้ในเมืองเหล่านี้ไม่ได้มีมูลค่าจาการขายเนื้อไม้ หรือผลิตผลจากไม้ (เช่น ยางไม้) เพราะมูลค่าเหล่านี้มีไม่มากนัก เช่น ถ้าต้นยางนาสูง 33 เมตร เมื่อริดกิ่งแล้วสมมติเหลือลำต้นยาว 25 เมตร มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง สมมติมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 เมตร จะได้ปริมาณเนื้อไม้
= (22/7 * r ยกกำลัง 2) * ความยาว
= (22/7 * 1.5 *1.5 * 25)
= 176.7857 ลบ.ม.
ถ้าราคาหน้าโรงงาน สมมติเป็นเงินตันละ 2,400 บาท ราคาต้นยางนายักษ์ ก็จะเป็นเงิน 424,286 บาท และเมื่อหักค่าแรงทำไม้ประมาณ 30% ก็จะเป็นเงินสุทธิประมาณ 297,000 บาท
อย่างไรก็ตามต้นยางนายักษ์ในเมืองมีมูลค่ามากกว่านั้น เพราะยังมีมูลค่าจาก
1. การให้เข้าชม ซึ่งเป็นรายได้ทางหนึ่ง
2. การเช่าใช้สถานที่ เช่น การถ่ายทำละคร
3. รายได้เกี่ยวเนื่อง เช่น การวิจัย การขายสินค้าและบริการในพื้นที่
4. การใช้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เช่น การสร้างอาคารให้สอดรับกับต้นไม้นั้นๆ ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าของอาคารให้สูงกว่าปกติ เป็นต้น
5. การมีส่วนเกื้อหนุน (Contribution) ต่อ (วิสาหกิจ) เจ้าของสถานที่ที่ครอบครอบต้นไม้นี้
สำหรับป่าผืนหนึ่งมีมูลค่าเท่าไหร่ จะประเมินค่าเป็นตัวเงินได้อย่างไรบ้าง การประเมินนี้มีไว้เพื่อการวางแผนการจัดการป่าไม้เป็นสำคัญนั้น ในประเทศไทย และในต่างประเทศมีการศึกษาเกี่ยวกับการประเมินมูลค่าป่าไม้เพื่อการวางแผนการจัดการทรัพยากรป่าไม้ เช่นทางองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือทางราชการของญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา
อาจกล่าวได้ว่า มูลค่าของทรัพยากรป่าไม้มาจากมูลค่าของสิ่งที่สามารถซื้อ-ขายได้โดยตรง อันได้แก่
1. ต้นไม้ (เช่น การขุดล้อมต้นไม้) เนื้อไม้ที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ เช่น เป็นวัสดุก่อสร้าง หรือใช้เพื่อการเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น
2. ของป่าที่จะหาได้จากป่าไม้นั้นๆ
3. สัตว์ป่า
4. รายได้จากการท่องเที่ยวที่เกี่ยวกับป่าไม้ รวมทั้งที่พัก ที่สันทนาการ ประชุมสัมมนาในพื้นที่เขตป่าหรือเขตอุทยานแห่งชาติ
นอกจากนี้ยังมีมูลค่าของทรัพย์สินในกรณีของการดำรงอยู่ของป่าไม้ เช่น ป่าไม้ช่วยป้องกันพายุ โดยวัดจากความเสียหายหากไม่มีป่าไม้ การป้องกันการพังทลายของดิน การดูดซับแก๊สพิษต่างๆ การเป็นแหล่งต้นน้ำของสายธารหรือแม่น้ำลำคลองต่างๆ ถ้าขาดป่าไม้ผืนนี้จะทำให้เกิดความเสียหายประการใดบ้าง ซึ่งสามารถตีค่าเป็นจำนวนเงิน เพื่อการวัดคุณค่าของป่าไม้นั้นๆ
อย่างไรก็ตามในการวัดค่าจริงๆ บางครั้งอาจไม่มีข้อมูลราคาซื้อขายจริง ก็อาจสมมติเป็นราคาซื้อขายสินค้าที่เทียบเคียงกันได้ เช่น ถ้าไม่มีไม้ อาจต้องใช้พลาสติกแทน หรือวัสดุก่อสร้างอื่น หรือถ้าไม่มีข้อมูลตลาดของการซื้อขาย ก็อาจใช้ต้นทุนการก่อร่างสร้างป่า ลบด้วยมูลค่าที่พึงได้ หรืออาจพิจารณาถึงปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่กรณีของป่าแต่ละพื้นที่และป่าแต่ละประเภท ผู้ประเมินค่าต้นไม้ใหญ่หรือกระทั่งทรัพยากรป่าไม้จึงต้องสำรวจข้อมูลให้ชัดเจนจากแหล่งต่างๆ ให้ครอบคลุมให้มากที่สุดและอาศัยเครื่องมือทางการเงินมาทำการวิเคราะห์ต่อไป
ต้นไม้และป่าไม้มีมูลค่าอเนกอนันต์ สามารถตีค่าเป็นเงินได้เสมอ