ตามที่ศูนย์ข้อมูลธนาคารเสนอให้ช่วยผู้ซื้อบ้านราคา 3-5 ล้านด้วยการลดภาษีและค่าธรรมเนียมโอนนั้น ไม่ใช่การช่วยคนจน เป็นการช่วยนักพัฒนาที่ดินและผู้ที่ไม่ได้เดือดร้อน นี่เป็นหนึ่งในแนวคิดการใช้เงินแบบไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) กล่าวถึงแนวคิดของศูนย์ข้อมูลธนาคารที่เสนอว่า “. . .ต้องส่งเสริมให้คนซื้อที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะตลาดที่อยู่อาศัยราคา 3-5 ล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มตลาดยังมีอัตราการโอนกรรมสิทธิ์สูง และไม่ได้รับผลกระทบจากการปฏิเสธสินเชื่อเท่ากับตลาดที่อยู่อาศัยราคาต่ำกว่า3ล้านบาท”
ดร.โสภณกล่าวว่าในเมื่อกลุ่มนี้ไม่ได้รับผลกระทบ แล้วจะไปช่วยทำไม ช่วยไปก็ผิดกลุ่มเป้าหมาย ธนาคารโลกยังระบุว่าทุกวันนี้รัฐบาลทำการช่วยเหลือผิดกลุ่มเป้าหมายและใช้จ่ายเงินในการจัดการปัญหาโควิดแบบผิดๆ ไปมากกว่าประเทศอื่นๆ การช่วยเหลือคนที่ไม่เดือดร้อนยังเป็นเพียงการช่วยผู้ประกอบการเป็นสำคัญ แทนที่เราจะเก็บภาษีมาช่วยประชาชนที่ยากไร้ เรากลับเน้นการช่วยคนที่ไม่เดือดร้อน
ที่ผ่านมารัฐบาลลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ และจดจำนอง เหลือ 0.01% สำหรับที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท แต่ศูนย์ข้อมูลธนาคารกลับพยายามเสนอให้ขยับมาถึงราคา 3-5 ล้านบาท ซึ่งสร้างเม็ดเงินกำไรให้กับผู้ประกอบการรายใหญ่ แต่รัฐกลับสูญเสียรายได้มาจุนเจือคนยากไร้ ยิ่งกว่านั้นยิ่งกระตุ้นก็ยิ่งทำให้ผู้ประกอบการผลักดันโครงการออกมามากมายไม่รู้จบ การอุ้มก็ยิ่งอุ้มไม่รู้จบไปอีก
ที่อ้างว่าต้องการให้ประชาชนทุกระดับซื้อบ้านได้ง่ายขึ้น ทุกวันนี้ ชาวบ้านผู้มีรายได้น้อยแทบไม่สามารถซื้อบ้านได้อยู่แล้ว เพราะหนี้สินล้นพ้นตัว ต่อให้ไม่เก็บภาษีใดๆ คนที่มีรายได้น้อยก็ซื้อไม่ได้ ถ้าส่งเสริมการสร้างบ้านถูกๆ ออกมา ก็เพื่อช่วยให้นักเก็งกำไรสามารถซื้อบ้านไปปล่อยต่อเป็นสำคัญ ส่วนคนที่ซื้อบ้านและอยู่อาศัยเองจริงก็คือคนที่ไม่เดือดร้อน ศูนย์ข้อมูลธนาคารก็ยังพยายามจะช่วยเหลือพวกนี้ ทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากภาษีไปอีก
ยุทธศาสตร์นี้คือการยิ่งทำให้คนจนยิ่งจนมากขึ้น เพื่อให้คนจนไม่มีทางออก ต้องยิ่งพึ่งรัฐมากขึ้น เพราะขาดอิสรภาพทางการเงิน ซึ่งเมื่อขาดอิสรภาพทางการเงินก็ขาดอิสรภาพทางความคิด วันๆ ได้แต่หาทางเลี้ยงปากท้องไปโดยไม่มีโอกาสลืมตาอ้าปาก เสมือนหนึ่ง “ทาสในเรือนเบี้ย” ของพวกศักดินาในสมัยก่อน