ทำไม “สิบพ่อค้าไม่เท่าพระยาเลี้ยง”
  AREA แถลง ฉบับที่ 591/2563: วันศุกร์ที่ 02 ตุลาคม 2563

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ท่านทราบหรือไม่สุภาษิตไทยที่ว่า “สิบพ่อค้าไม่เท่าพระยาเลี้ยง” มีความหมายว่าอย่างไร พระยามีศักดิ์และสิทธิ์มากขนาดนั้นเชียวหรือ

            คำว่า “สิบพ่อค้าไม่เท่าพระยาเลี้ยง” นั้นตีความได้ว่า

  1. การเป็นพ่อค้า ทำอาชีพค้าขายนั้น สู้รับราชการขุนนางหรือข้าราชการไม่ได้  “พะยาเลี้ยง” ในสำนวนนี้หมายถึง การรับราชการเป็นขุนนาง  ในสมัยก่อนการรับราชการเป็นขุนนางถือว่าเป็นสิ่งที่มีเกียรติ มีความมั่นคง โดยเฉพาะเมื่อมีตำแหน่งใหญ่โตก็จะมีอำนาจมีเงินทอง มีข้าทาสบริวารมากมาย ส่วนพ่อค้าคนไทยในสมัยก่อนนั้น ไม่มีความมั่นคง มีความเสี่ยงมาก ถึงจะค้าขายร่ำรวย แต่ก็ยังไร้เกียรติ <1>
  2. พ่อค้าหลายคนอุปภัมภ์ค้ำชู ก็ยังเทียบไม่ได้กับคนที่รับราชการตำแหน่งใหญ่โตเพียงคนเดียวที่เลี้ยงดู โดยในสมัยโบราณการรับราชการเป็นขุนนางนั้นถือเป็นสิ่งที่ดีงามและหลายๆคนอยากเป็น เพราะมีความมั่นคงและมีเงินเดือนที่แน่นอน โดยเฉพาะเมื่อมีตำแหน่งใหญ่โต ก็จะมีอำนาจตามมาด้วย แต่พ่อค้าคนไทยสมัยก่อนนั้น ยังค้าขายไม่เก่ง มีความเสี่ยงที่จะหมดตัวได้ การที่มีคู่ครองเป็นคนที่รับราชการตำแหน่งดีๆ จึงน่าหมายปองกว่าพ่อค้า <1>

            เรามาดูกันว่ากว่าที่จะเลี้ยงดูข้าราชการเล็กๆ คนหนึ่งจนเติบใหญ่เป็น “พระยา” นั้น คนไทยต้องเสียภาษีไปเพื่อเลี้ยงดู “พระยา” คนนี้เป็นเงินเท่าไหร่ โดยคิดดังนี้:

  1. สมมติพวกข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เช่นอธิบดี ผอ. ปลัดสักคนหนึ่งที่เกษียณอายุเมื่อ 30 กันยายน 2563 นั้น ลาภยศถาบรรดาศักด์ที่เขาได้รับทั้งทางตรงและทางอ้อมในการดำรงตำแหน่ง เช่น รถประจำตำแหน่ง คนขับ น้ำมันรถ ค่าบ้าน ค่ารับรอง ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่ารักษาพยาบาลทั้งครอบครัว ฯลฯ หากตีค่าเป็นเงินอาจเป็นเงินถึง 200,000 บาทต่อเดือน (ไม่นับรวมเงินเดือน
  2. หากคนๆ นี้ตอนรับราชการเมือง 38 ปีก่อน อาจได้เงินเดือนๆ ละ 2,000 บาท แต่มีค่าสวัสดิการสารพัดเป็นเงินอีกราว 2,000 บาท
  3. แสดงว่าในระหว่างปีที่ 0-38 นั้น เงินที่ได้รับเพิ่มจาก 2,000 บาท เป็น 200,000 บาท หากคิดตามสูตรดอกเบี้ยทบต้น ก็จะสามารถคำนวณเงินค่าเลี้ยงดูข้าราชการผู้นี้ในแต่ละปีได้ ตามสูตร = {(200,000/2,000)^(1/38)}-1
  4. เมื่อนำเงินที่ต้องเลี้ยงดู เป็นสวัสดิการและเมื่อตำแหน่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ก็ได้ลาภยศถาบรรดาศักดิ์สูงขึ้น โดยคำนวณเป็นรายปี ก็จะได้เงินที่ได้ต่อปี
  5. หากเงินจำนวนในแต่ละปีฝากธนาคารไว้ไม่ใช้เลยจนถึงปีปัจจุบัน ก็จะทบต้นเป็นเงินอีกมาก เช่น ในปีแรกที่รับราชการ มีเงินเลี้ยงดูเดือนละ 2,000 บาท (นอกจากเงินเดือน) หรือปีละ 24,000 บาท  หากฝากธนาคารไว้ด้วยอัตราดอกเบี้ย 5% โดยเฉลี่ยตลอดช่วง 38 ปี ก็จะกลายเป็นเงิน 153,251 บาท
  6. เมื่อนำเงินทบต้นพร้อมดอกเบี้ยเหล่านี้มารวมกันจนเมื่อถึงวันเกษียณ โดยทำราชการ 38 ปี ก็จะเป็นเงินรวมกันถึงราว  32,323,250 บาท เงินจำนวนนี้มาจากภาษีอากรของประชาชนทั้งสิ้น
  7. นอกจากนี้เมื่อเกษียณ โดยได้เงินเดือนประมาณ 50,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลาอีก 20 ปี (จึงหมดอายุขัยโดยประมาณการตอนอายุ 80 ปี) ณ อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 5% ก็จะเป็นเงินอีก 7,477,326 ล้านบาท ตามสูตร = [[1-{1/(1+5%)^20ปี}]]/5%
  8. ดังนั้นเงินรวมที่ข้าราชการระดับ “พระยา” นี้ได้รับจากภาษีอากรของประชาชนจึงเป็นเงิน 39,800,576 (ข้อ 6 + ข้อ 7)

            นี่ยังไม่รวมว่าถ้า “พระยา” ได้รายได้จากการเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ เป็นที่ปรึกษาส่วนราชการต่อหลังเกษียณ หรือยิ่งพระยาผู้นี้ทุจริต อย่างเบา “กินตามน้ำ” หรืออย่างหนัก “กินทวนน้ำ” ก็คงกลายเป็นมหาเศรษฐีไปได้เลย  ดังนั้นการเป็นพระยา การรับราชการจึงทำให้มีฐานะดี มีลาภยศถาบรรดาศักดิ์ สบายแฮไปด้วยประการฉะนี้  ในขณะเดียวกันการเป็นพ่อค้าจนรอดปากเหยี่ยวปากกามาได้นั้นเสี่ยงเหลือเกิน การจะเป็นยอดพ่อค้า กลายเป็นอภิมหาเศรษฐี ก็ยิ่งต้อง “จิ้มก้อง” ติดสินบนสารพัด จึงจะประสบความสำเร็จได้

            นี่แหละจึงเป็นการ confirm ว่า “สิบพ่อค้าไม่เท่าพระยาเลี้ยง”

           

อ้างอิง

<1> แหล่งรวมสุภาษิตคำพังเพย https://bit.ly/2ShV23h

<2> สุภาษิต คําพังเพย สํานวนไทย https://bit.ly/2SoSksB

ภาพประกอบ
https://bit.ly/2ShXoz9
อ่าน 14,551 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved