ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์เป็นทรัพย์สินทางปัญญาชนิดหนึ่งที่จำเป็นต้องมีการประเมินค่าเพิ่มขึ้นในเงื่อนไขที่สังคมธุรกิจมีการพัฒนาด้านการใช้ IT มากยิ่งๆ ขึ้น
ซอฟต์แวร์ (Software) หมายถึงส่วนที่ทำหน้าที่เป็นคำสั่งที่ใช้ควบคุมการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ หรืออาจเรียกว่า “โปรแกรม” (Program) ก็ได้ ซึ่งเป็นชุดคำสั่ง สามารถใช้เพื่อสั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงาน เราต้องการให้เครื่องคอมพิวเตอร์ในด้านใดก็สามารถเขียนคำสั่งที่จะต้องสั่งเป็นขั้นตอน และแต่ละขั้นตอนต้องทำอย่างละเอียดและครบถ้วน นักพัฒนาซอฟต์แวร์เรียกว่านักเขียนโปรแกรม (Programmer) ซอฟต์แวร์ที่ใช้กันบ่อยๆ ก็เช่น โปรแกรมการประเมินค่าทรัพย์สิน การสร้างแบบจำลองทางสถิติ สินค้าคงคลัง การคำนวณภาษี การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการ เป็นต้น
ซอฟต์แวร์ที่เราพูดกันถึงมักไม่ใช่ซอฟต์แวร์ระบบ (System Software) แต่หมายถึงซอฟต์แวร์ประยุกต์ (Application Softwaer) ซึ่งก็คือโปรแกรมที่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์เป็นผู้เขียนมาใช้งานเอง เพื่อสั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ต้องการ เราจึงมักเรียกว่าเป็น User Program คือ โปรแกรมที่ผู้ใช้เขียนมาใช้เอง โดยใช้ภาษาระดับต่าง ๆ ทางคอมพิวเตอร์ เช่น ภาษา Assembly Basic C Cobal Fortran Palcal เป็นต้น ซึ่งการที่จะเลือกใช้ภาษาใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของงานเหล่านั้นด้วย
ในการประเมินค่าซอฟต์แวร์นั้นเรามักเริ่มต้นที่วิธีต้นทุนคือการหามูลค่าจากต้นทุนโดยคิดถึงต้นทุนในการพัฒนาซอฟต์แวร์นั้นๆ ว่าเป็นเงินเท่าไหร่ บางครั้งโปรแกรมเดียวกันตามคำสั่งงานอาจมีค่าจ้างตั้งแต่ 1 ล้าน 3 ล้าน หรือ 5 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่เรียกเผื่อต่อบ้าง เราต้องมีผู้รู้มาวิเคราะห์ดูว่างานแต่ละงานที่ต้องการนั้นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในด้านใดเป็นระยะเวลาเท่าไหร่ ค่าจ้างตลาดควรเป็นเท่าไหร่ รวมค่าดำเนินการและกำไรแล้วควรเป็นเงินเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีค่าบำรุงรักษาในระยะยาวอีกด้วย เพราะการพัฒนาโปรแกรมต่างๆ นั้น ไม่ใช่ทำเพียงครั้งเดียว ยังต้องมีการปรับปรุงระบบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนในคิดเพื่อการประเมินค่าซอฟต์แวรทั้งหลายด้วย มีโปรแกรมในการคำนวณค่าจ้างในการสร้างซอฟต์แวร์ต่างๆ ให้ใช้ได้อย่างแพร่หลายหรืออาจปรึกษาหน่วยงานที่เกียวข้องกับการประเมินค่าโปรแกรมที่เราสร้างขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตามโปรแกรมหรือสิ่งที่เราสร้างขึ้นนี้ อาจมีแต่ต้นทุน ไม่มีมูลค่าก็ได้ คือในหลายๆ กรณี เราอาจเสียต้นทุนในการพัฒนาซอฟต์แวร์ไปเป็นจำนวนมาก แต่ไม่สามารถขายได้ ไม่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่มีประสิทธิผลจริงเท่าที่ควร ก็จะทำให้มูลค่าของทรัพย์สินทางปัญญานี้มีค่าเท่ากับศูนย์หรือมีค่าน้อยมาก แต่มีต้นทุนที่เสียหายไปมากเป็นพิเศษ ต้นทุนย่อมไม่ใช่มูลค่าในกรณีนี้ แต่ถ้าซอฟต์แวร์นั้นใช้ได้ดี เป็นที่นิยม ประสบความสำเร็จ มูลค่าของซอฟต์แวร์นั้นย่อมมากกว่าต้นทุนที่ใช้สร้างเป็นอย่างมาก
ยิ่งกว่านั้นสิ่งที่พึงพิจารณาก็คือความเสื่อมถอยทางเศรษฐกิจหรือ Economic Obsolescence ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับความสามารถของโปรแกรมในการประมวลผลหรือในกิจกรรมของโปรแกรมเอง แต่เกี่ยวเนื่องกับปัจจัยภายนอก เช่น โปรแกรมการคำนวณภาษีโรงเรือน คงไม่ได้ใช้แล้วเพราะปัจจุบันจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแทนแล้ว การสร้างโปรแกรมที่อิงกับข้อกำหนดการใช้ที่ดินตามผังเมืองรวม หรือ มาตรฐานทางบัญชีที่ยกเลิกหรือเปลี่ยนไปแล้ว ก็เป็นในทำนองเดียวกัน
มูลนิธิประเมินค่า-นายหน้าแห่งประเทศไทยกำลังจะจัดทำมาตรฐานการประเมินมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อประโยชน์ของผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา ส่วนราชการ นักลงทุน ตลอดจนผู้สนใจอื่นๆ ที่ผ่านมามีผู้พยายามจัดทำอยู่บ้างแล้ว มูลนิธิจึงเน้นการแสวงหาความร่วมมือในการจัดทำมาตรฐานในลักษณะของการรวบรวมและเป็นการเสนอแนวทางประเมินในเบื้องต้น
ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินจะเป็นผู้ประเมินมูลค่าของโปรแกรมหรือซอฟต์แวร์โดยอาศัยผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องด้วยตามกระบวนการทำงานแบบสหศาสตร์ (Interdisciplinary Approach).