มูลค่าการใช้สอยบ้านสี่เสา พ.ศ.2522-2562
  AREA แถลง ฉบับที่ 610/2563: วันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม 2563

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            บ้านสี่เสาเทเวศร์ถูกรื้อทิ้งไปแล้ว บ้านหลังนี้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้อยู่อาศัยมาเป็นเวลาประมาณ 40 ปี มูลค่าการใช้สอยบ้านสี่เสานี้เป็นเงินเท่าไหร่

            ประวัติโดยสังเขปของ “บ้านสี่เสาเทเวศร์” ก็คือ “เคยเป็นบ้านพักของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ. . .ตั้งอยู่บนที่ดินกองทัพบก ถนนศรีอยุธยา (ใกล้สี่แยกสี่เสาเทเวศร์) เขตดุสิต กรุงเทพ อดีตเป็นบ้านพักของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตผู้บัญชาการทหารบก และนายกรัฐมนตรีคนที่ 11 ทั้งนี้ พล.อ.เปรม ใช้บ้านพักหลังดังกล่าวมาตั้งแต่สมัยเป็น ผบ.ทบ. บ้านสี่เสาเทเวศร์จึงมักถูกเรียกว่า "บ้านป๋าเปรม" หรือ “บ้านป๋า”. . .บ้านสี่เสาเทเวศร์จะมีหลังคาทรงหน้าจั่วปูกระเบื้องสีน้ำเงิน ปีกซ้ายตัวบ้านจะเป็นห้องรับรอง ด้านขวาจะเป็นที่พักของทหารประจำบ้าน บริเวณด้านหลังจะเป็นห้องนั่งเล่นส่วนตัวของ พล.อ.เปรม ภายในจะมีเปียโนของประธานองคมนตรี และตามผนังหรือมุมต่างๆภายในห้องจะมีรูปถ่ายของ พล.อ.เปรม. . .สำหรับเจ้าหน้าที่บริการประจำตัว พล.อ.เปรม ซึ่งประจำที่บ้านพักสี่เสาเทเวศร์นั้นจะมีทั้งหมด 4 คน ผลัดกันเข้าเวรละ 2 คน ประจำ 24 ชั่วโมง”

            “ส่วนเรื่องที่มาของชื่อ “สี่เสาเทเวศร์” นั้น นอกจากเป็นที่ตั้งของบ้านพักรับรอง ฯพณฯ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ที่สร้างขึ้นสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์แล้ว  เดิมบริเวณนี้ เคยเป็นที่ตั้งของเสาไฟฟ้า 4 ต้น รองรับหม้อแปลงจ่ายไฟให้กับรถรางสายเทเวศร์-ท่าเตียน ผู้คนจึงเรียกขานว่า "สี่เสา" ส่วน "เทเวศร์"  มีที่มาจากชื่อของวังเทเวศร์  ที่ตั้งอยู่ถนนกรุงเกษม ปากคลองผดุงกรุงเกษม ริมแม่น้ำเจ้าพระยา. . .หลังจากพลเอกเปรม ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2562 บ้านหลังดังกล่าวก็ได้ถูกส่งคืนยังกรมสวัสดิการกองทัพบก และกองทัพบก ส่งคืนให้ที่ราชพัสดุ กระทั่งมาสู่กระบวนการรื้อถอน โดยมีเครื่องจักรกลขนาดใหญ่เข้าไปทำการรื้อ และทุบบ้านพักในส่วนที่เป็นปูน” <1>

            ในเชิงอสังหาริมทรัพย์ เรามาลองพิจารณากันว่าบ้านหลังนี้ ใช้เงินในการดูแลเท่าไหร่ในช่วงที่ พล.อ.เปรมครอบครองบ้านหลังนี้อยู่ ทั้งนี้พิจารณาจากสมมติฐานการเช่า โดยบ้านหลังนี้มีอาคารขนาดใหญ่ และสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน มีทหารรับใช้ 4 คน ยังไม่รวมทหารยามและอื่นๆ จึงมีค่าใช้จ่ายพอสมควร  บ้านหลังนี้ตั้งอยู่บนที่ดินขนาดประมาณ 1.5 ไร่ มีสนามหญ้าและประตูรั้วรอบของชิด

            1. ณ ปี 2562 การเช่าบ้านหลังใหญ่ขนาดนี้มาอยู่อาศัย (สมมติฐาน) อาจเป็นเงินเดือนละ 200,000 บาท แต่หากรวมน้ำไฟและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมทั้งมีทหารรับใช้ 4 คน ทหารยาม รวมทั้งค่าซ่อมแซมตามปกติ และอื่นๆ อาจมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก จึงประมาณการไว้เป็นเงินเดือนละ 500,000 บาทสำหรับ ณ ปี 2562 ซึ่งเป็นปีที่ พล.อ.เปรมครองบ้านเป็นปีสุดท้าย

            2. ประมาณการว่า ณ ปี 2522 เมื่อมีการใช้สอยบ้านดังกล่าว (หลังจากท่านย้ายออกจากบ้านพิษณุโลกแล้ว) ท่านก็ยังมีทหารรับใช้ 4 ท่าน ทหารยามและอื่นๆ เช่นเดิม (แต่อาจมีมากกว่าปัจจุบันเพราะท่านเป็นผู้บัญชาการทหารบกในยุคนั้น) โดยประมาณการว่าหากมีการเช่าบ้านตามราคาตลาด  ก็น่าจะเป็นเงินเดือนละ 40,000 บาท

            3. หากคิดอัตราเพิ่มของค่าเช่าในอัตราเท่ากัน จาก 40,000 บาทในปี 2522 เป็น 500,000 บาทในปี 2562 ก็จะได้อัตราเพิ่มที่ 6.52% และสามารถประมาณการค่าเช่าต่อเดือนตลอด 40 ปีได้ (ตามคอลัมน์ D) ตามสูตร = {(ค่าเช่าปีสุดท้าย/ค่าเช่าปีแรก)^(1/40 ปี)} -1

            4. ส่วนคอลัมน์ E เป็นการประมาณการค่าเช่าต่อปี โดยใช้ 12 คูณด้วยค่าเช่าต่อเดือน

            5. ส่วนคอลัมน์ F เป็นค่าเช่าต่อปีที่ได้ และสะสมด้วยอัตราผลตอบแทนที่ 5% คล้ายฝากเงินในธนาคาร โดยประมาณการค่าอัตราเงินฝากเท่ากับ 5% (เพราะเคยมีสูงเกิน 10% และต่ำสุดประมาณ 1% ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา)

            หากรวมค่าใช้จ่ายจากการเช่านับแต่ปีแรกถึงปีปัจจุบัน ก็จะเป็นเงินประมาณ 187,288,422 ล้านบาท ที่ พล.อ.เปรมได้ครอบครองบ้านหลังนี้เป็นเวลาประมาณ 40 ปีนั่นเอง  อย่างไรก็ตาม พล.อ.เป็นในฐานะประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ จึงมีค่าใช้จ่ายที่ใช้เพื่อการครองชีพในมูลค่านี้

            ในแง่การเงินก็เป็นเช่นนี้ ส่วนในแง่อื่นก็แล้วแต่การตีความและมุมมอง

 

 

อ้างอิง

<1> เปิดประวัติ-ที่มา'บ้านสี่เสาฯ' กับเรื่องเล่าลี้ลับที่น้อยคนจะรู้. เดลินิวส์ 21 กันยายน 2563. https://www.dailynews.co.th/politics/796677

 

อ่าน 11,431 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved