พระไม่ควรมีสมณศักดิ์
  AREA แถลง ฉบับที่ 623/2563: วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม 2563

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            จากรายงานข่าวว่า “แฉพระหนุ่ม สมณศักดิ์ข่มพระอาจารย์ ไม่สนอาวุโส บังคับกราบ ระบาดไปทั่ว กรรมการมหาเถรฯแฉพฤติกรรมเจ้าคุณรุ่นหนุ่ม ประพฤติตนไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง ไม่เคารพอาวุโสใช้ยศพระหรือสมณศักดิ์ที่เหนือกว่า บังคับอุปัชฌาย์ ครูบาอาจารย์ ให้มากราบ ผิดพระธรรมวินัย เป็นทั้งพระบ้านพระป่า กำลังระบาดในหลายจังหวัด (ไทยรัฐ 17 ตุลาคม 2563)

            เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ไม่บังควร และควรยกเลิกสมณศักดิ์ได้แล้ว ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) กล่าวว่ากรณีเช่นนี้ไม่ควรเกิดขึ้น เพราะพระพุทธเจ้าลาออกจากวรรณะกษัตริย์ ละกิเลสเพื่อความหลุดพ้น พระไม่ดีสมัยนี้กลับทำตัวเป็นศักดินาน่าอนาถ มาใช้ผ้าเหลืองหากินแท้ๆ ลงอเวจีแน่ และจึงยกตัวอย่างที่ไม่ควรปฏิบัติที่พระพุทธทาสกราบพระสังฆราชที่พรรษาน้อยกว่า ในขณะเดียวกัน แม้สังฆราชจะมีสมณศักดิ์สูงสุดในวงการสงฆ์ แต่เมื่อพบพระที่มีพรรษาสูงกว่า ก็ยังกราบพระที่มีพรรษาสูงกว่าเสมอ

            การมองต่างจากท่านพุทธทาสหรือพระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินฺทปญฺโญ) ซึ่งเป็นพระที่ผมเองก็เคารพยิ่ง นั้นอาจเป็นการมองที่ผิดพลาดของผมเอง ผมต้องกราบขออภัยด้วยหากเป็นเช่นนั้น  และการมองต่างจากท่านนี้อาจเป็นอันตรายต่อตนเอง แต่เพื่อสังคมอุดมปัญญาและเพื่อจรรโลงหลักศาสนาพุทธ จึงขออนุญาตมองต่างมุมด้วยความเคารพ หวังว่าทุกท่านคงเมตตาให้ความเข้าใจ

            ผมเห็นภาพสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร และท่านพุทธทาสต่างกราบกันและกันแล้ว ทำให้นึกสาธุถึงจริยวัตรอันงดงามของพระผู้ใหญ่  แต่ถ้านึกตรึกตรองให้ดีๆ มีบางสิ่งที่ผมอาจขออนุญาตเห็นต่างจากท่านพุทธทาสในเรื่องการกราบพระสงฆ์ด้วยกันโดยเฉพาะการกราบผู้ที่อ่อนพรรษากว่า

            ในการเสด็จของสมเด็จพระสังฆราชไปเยือนสวนโมขลาราม 2 ครั้งนั้น ครั้งที่ 1 เมื่อเดือนกันยายน 2532 ท่านพุทธทาสทรุดลงกราบพระสังฆราช <1> และในการเสร็จอีกครั้งหนึ่งในเดือนมีนาคม 2534 <2> ท่านพุทธทาสก็กราบสมเด็จพระสังฆราชทั้ง 2 ครั้ง  พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย) ท่านผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศ <3> ให้คำอธิบายว่า ในครานั้น ท่านพุทธทาสกล่าวว่า “ขอโอกาสกราบผู้บังคับบัญชา” สมเด็จพระสังฆราชทรงตรัสห้ามไว้ ตรัสว่าท่านพุทธทาสอาวุโสสูงกว่า แต่ท่านพุทธทาสก็กราบ  สมเด็จพระสังฆราชจึงรีบกราบตอบกันไปมาพักใหญ่ <4>  ภาพนี้เป็นภาพที่น่าประทับใจเป็นอย่างยิ่ง


การกราบครั้งที่ 1: กันยายน 2532 (ตามอ้างอิง <2>)

การก้มกราบครั้งที่ 2: มีนาคม 2534 (ตามอ้างอิง <2>)

            อย่างไรก็ตามในเชิงหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า พระองค์ให้เคารพกันตามอาวุโส พระบวชใหม่กว่าต้องกราบพระบวชก่อน  ในพระไตรปิฎก เล่มที่ 7  พระวินัยปิฎก เล่มที่ 7 จุลวรรค ภาค 2 มีความว่า “[264] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล 10 จำพวกนี้ อันภิกษุไม่ควรไหว้ คืออันภิกษุผู้อุปสมบทก่อนไม่ควรไหว้ภิกษุผู้อุปสมบทภายหลัง 1. . .ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล 3 จำพวกนี้ ภิกษุควรไหว้ คือภิกษุผู้อุปสมบทภายหลัง ควรไหว้ภิกษุผู้อุปสมบทก่อน 1. . .” <5>

            ในครั้งที่พระพุทธเจ้าบวชให้กับศากยกุมารทั้ง 6 ท่านและอุบาลี (ช่างตัดผม) ศากยกุมารยังได้กล่าวว่า “พวกพระองค์เป็นเจ้าศากยะยังมีมานะ ส่วนอุบาลีเป็นผู้รับใช้ เมื่ออุบาลีบวชก่อน พวกพระองค์จะทำการอภิวาท การลุกรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรม แก่อุบาลี เมื่อนั้น ความถือตัวว่าเป็นศากยะของพวกพระองค์ก็จะเสื่อมคลายลง พระผู้มีพระภาคทรงโปรดให้อุบาลีบวชก่อน แล้วให้ศากยกุมารเหล่านั้นผนวชต่อภายหลัง” <6>

            เมื่อเปรียบเทียบอายุจะพบว่า สมเด็จพระสังฆราช ประสูติเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2456 ทรงบรรพชาเป็นสามเณร ปี 2469 กระทั่งพระชันษาครบจึงอุปสมบทเมื่อปี 2476 พระองค์ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบทซ้ำในธรรมยุติกนิกายเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2476 (นับแบบปัจจุบันตรงกับ พ.ศ. 2477) <7>  ส่วนท่านพุทธทาส เกิดเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2449 (อายุมากกว่าสมเด็จพระสังฆราช 7 ปี) เริ่มบวชเรียนเมื่ออายุได้ 20 ปี (พ.ศ.2469 ก่อนสมเด็จพระสังฆราช 7 พรรษา) <8>

            ที่ผ่านมา สมเด็จพระสังฆราชได้พบกับพระสงฆ์ที่มีพรรษาสูงกว่า ท่านก็กราบพระสงฆ์เหล่านั้นก่อนเสมอแม้เมื่อได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชเมื่อปี 2532 แล้วก็ตาม เท่าที่สืบค้นมีภาพประกอบเป็นจำนวนมาก แต่ในที่นี้ขอยกตัวอย่างมาเพียง 3 กรณี ได้แก่:

            - 28 กุมภาพันธ์ 2533 สมเด็จพระสังฆราชได้เสด็จมาทรงกราบนมัสการพระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี) (เกิด 2445 บรรพชา 2466) <9> ณ วัดหินหมากเป้ง ต.พระพุทธบาท อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย <10>

            - 29 พฤษภาคม 2536 สมเด็จพระสังฆราช  กราบหลวงปู่ชอบ ฐานสโม แห่งวัดป่าโคกมน ต.ผาน้อย อ.วังสะพุง จ.เลย (เกิด 2444 บรรพชา 2467) <11> ที่ได้เดินทางมาเป็นองค์ประธานในพิธีเททองหล่อพระพุทธรูป ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร <12>

            - 28 สิงหาคม 2537 สมเด็จพระสังฆราชทรงกราบนมัสการพระอุดมญาณโมลี (หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป)  ณ วัดโพธิสมภรณ์ ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี (เกิด 2454 บรรพชา 2474) <13> ในคราวเสด็จไปทรงประกอบศาสนกิจในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ <14>

            อาจกล่าวได้ว่าสมเด็จพระสังฆราชเสด็จไปสวนโมกขลารามนั้น ท่านพุทธทาสมีอายุ 83 ปีแล้วในครั้งแรก (ปี 2532) และอายุ 85 ปี ในครั้งที่ 2 (ปี 2534) ท่านมรณภาพในปี 2536 มีอายุถึง 87 ปี  ขณะนั้นท่านคงชราภาพมากแล้ว  หากยึดตามท่านพุทธทาสที่ “ขอโอกาสกราบผู้บังคับบัญชา” ต่อไปพระที่บวชมานานก็ต้องไหว้เจ้าอาวาสที่บวชไม่นาน อาจทำให้ไหว้ตามพัดยศ หรือในสังคมทหารที่รุ่นพี่ต้องทำความเคารพรุ่นน้องที่มียศสูงกว่า เป็นต้น

            ดังนั้นหากเรายึดถือและมุ่งจะสืบต่อพระศาสนา เราจึงพึงยึดถือพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นหลัก  ไม่ใช่พระสงฆ์ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ธรรมก็ดี วินัยก็ดี ที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้ว แก่พวกเธอทั้งหลาย ธรรมวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของพวกเธอทั้งหลายโดยกาลล่วงไปแห่งเรา” <15> เราต้องศึกษาพระธรรม พยายามปฏิบัติตามพระธรรม ไม่ยึดคำของสาวกที่อาจแตกต่างไปจากคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

            ชาวพุทธต้องยึดพระไตรปิฎก ศึกษาด้วยกาลมสูตร สิ่งใดที่ไม่ต้องตามพระธรรมวินัย ต้องกล้ายืนหยัดในพระธรรมวินัยโดยเคร่งครัด

 

อ้างอิง
<1> ดูคลิปได้ที่ www.youtube.com/watch?v=Fryjsz6NPrQ และที่ www.youtube.com/watch?v=8DUQkm-1K5I
<2> ลานธรรมจักร. ประมวลภาพ “สมเด็จพระสังฆราชเจ้า” กับ “ท่านพุทธทาสภิกขุ”.  www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=51044
<3> Wikipedia. พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย). https://bit.ly/3aTEWEf
<4> Dhamma Talk. พระของประชาชน. www.youtube.com/watch?v=-5-N8ckZtEY&t=24s
<5> โปรดดู http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=7&A=2258&Z=2271
<6> อุทยานธรรม. เจ้าศากยะ 6 พระองค์ออกบวช. https://bit.ly/39TIaY7
<7> Wikipedia. สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร. https://bit.ly/39TqBYh
<8> Wikipedia. พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินฺทปญฺโญ). https://bit.ly/3d2GYUe
<9> Wikipedia. พระราชนิโรธรังสี (เทสก์ เทสรํสี). https://bit.ly/2QhfXTD
<10> ชีวิตและปฏิปทา สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) ตอนที่ 2. https://pantip.com/topic/31094306
<11> Wikipedia. หลวงปู่ชอบ ฐานสโม. https://bit.ly/2TOS08i
<12> ตาม <10>
<13> Wikipedia. พระอุดมญาณโมลี (จันทร์ศรี จนฺททีโป). https://bit.ly/2QeiBti
<14> ลานธรรมจักร. สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19 กับ วงศ์พระกรรมฐาน. http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=81&t=52855&start=15
<15> พุทธวจน. ให้ใช้ธรรมวินัยเป็นศาสดา. https://bit.ly/2WdKIfP

อ่าน 11,352 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved