ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ในฐานะเลขานุการคณะทำงานไม้ขุดล้อม มูลนิธิประเมินค่า-นายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งประเทศไทย และคณะได้จัดทำราคากลางไม้ขุดล้อม ต.ชะอม อ.แก่งคอย จ.สระบุรี พ.ศ.2563 จึงได้นำเสนอไว้ใน AREA แถลงฉบับนี้
สรุปภาพรวม
การสำรวจไม้ขุดล้อมในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 โดยในครั้งแรกดำเนินการในปี 2562 ในครั้งล่าสุดนี้สำรวจในเดือนกรกฎาคม 2563
กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจทั้งหมด 156 รายนี้ ส่วนมากเป็นหญิงถึง 58% อาจเป็นเพราะฝ่ายชายออกไปขุดล้อมต้นไม้ก็ได้ กลุ่มตัวอย่างมีอายุเฉลี่ย 48 ปี โดยอายุส่วนใหญ่อยู่ระหว่าง 37-59 ปี ปีที่เปิดดำเนินการวิสาหกิจไม้ขุดล้อม โดยเฉลี่ยคือปี 2549 หรือเมื่อ 14 ปีก่อน แสดงว่าผู้ทำวิสาหกิจนี้ไม่ใช่เพิ่งเริ่มดำเนินการ แต่คาดว่าส่วนมากได้ดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว ถือได้ว่าเป็นวิสาหกิจที่มีความมั่นคงทางด้านรายได้ ผู้ประกอบวิสาหกิจไม้ขุดล้อม ส่วนใหญ่มีทั้งที่เพาะปลูกไม้เอง
วิสาหกิจไม้ขุดล้อมมีรายได้ที่แตกต่างกันมาก ตั้งแต่ระดับ SMEs ที่มีรายได้เดือนละประมาณไม่เกิน 20,000 บาทจำนวน 29% และระดับใหญ่ที่มียอดขายได้เดือนละ 100,000 ขึ้นไปถึง 16% จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้การรวมตัวกันได้ยาก มีรายได้เฉลี่ยในปี 2563 เป็นเงิน 53,611 บาทต่อเดือน ซึ่งต่ำกว่าผลการสำรวจปี 2562 ที่ได้ค่าเฉลี่ยที่ 87,377 บาทต่อเดือน โดยมีกำไรในเบื้องต้นประมาณ 34% แต่ในปี 2562 มีผลกำไรประมาณ 40%
สำหรับสถานการณ์ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่บอกว่า “ปานกลาง” (50%) อย่างไรก็ตามสัดส่วนของกลุ่มที่มองว่าแย่มากและค่อนข้างแยะ มี 25% มากกว่าสัดส่วนของกลุ่มที่มองว่าค่อนข้างดีหรือดีมาก (3%) แสดงว่าสถานการณ์โดยรวมยังไม่สดใสนัก ถ้าคิดเป็นค่าจะได้ติดลบ 4% แสดงว่าสถานการณ์แย่ลง ส่วนสถานการณ์ในปี 2564 น่าจะดีกว่าปี 2563
ลูกค้ากลุ่มใหญ่ที่สุดก็คือลูกค้าขาประจำ 22% รองลงมาก็คือลูกค้าขาจร 31% และทั้งสองอย่างพอๆ กันมี 47% แต่ผลสำรวจปี 2562 พบว่าลูกค้าขาประจำ 44% รองลงมาก็คือลูกค้าขาจร 39% และเป็นลูกค้าที่ได้รับคำแนะนำจากลูกค้าเดิม 17% ผลสำรวจยังพบว่า 38% ขายกับผู้สั่งซื้อโดยตรง ซึ่งอาจเป็นทั้งลูกค้าประจำหรือลูกค้าขาจรก็ตาม มีเพียง 23% ที่ขายผ่านคนกลาง นอกนั้นอีก 39% พอๆ กัน ในการขายบ้านส่วนมาก (55%) ขายตามปกติ และเกือบทั้งหมดคือประมาณ 59% ขายไม้ขุดล้อมให้กับลูกค้าภายในประเทศเท่านั้น ยิ่งกว่านั้น 47% เป็นบุคคลธรรมดาที่มาซื้อต้นไม้
ส่วนปัญหา-อุปสรรคในการทำวิสาหกิจไม้ขุดล้อม ได้แก่ ปัญหาขาดน้ำ การแข่งขันสูง-ขายไม่ดี ขาดแคลนแรงงาน ขาดเงินทุน โควิด-19 ต้นทุนสูง เก็บเงินลูกค้าไม่ได้ ขายตัดหน้า-ตัดราคา ต้นไม้ตาย สินค้าขาดตลาด ค่าขนส่งแพง เป็นต้น แต่ปัญหาเหล่านี้ก็สามารถแก้ไขได้ หากมีความร่วมมือกัน กลุ่มใหญ่ที่สุดให้ความเห็นว่าควรช่วยกันขายและแนะนำลูกค้าให้แก่กันและกัน (59%) ประเด็นสำคัญที่สุดก็คือ ความคาดหวังให้รัฐบาลพัฒนาเศรษฐกิจให้ดีขึ้น เพื่อเพิ่มกำลังซื้อแก่วิสาหกิจและภาคเอกชนอื่น
ในปี 2563 พบว่าไม้พะยูงได้รับความนิยมสูงสุดถึง 11.3% ราชพฤกษ์ 10.4% และมั่งมี 7.9% ตามตารางที่ 18 ท้ายนี้ อย่างไรก็ตามไม้แต่ละประเภทอาจได้รับความนิยมเพิ่มลดตามแต่ละห้วงเวลา แต่ละฤดูกาล ความพึงพอใจส่วนบุคคล และตามลักษณะของต้นไม้ด้วย เป็นต้น
ท่านผู้สนใจสามารถ download รายงานฉบับเต็มได้ตามท้ายนี้ >> https://bit.ly/2tdPE8B