กษัตริย์ของประเทศต่างๆ มีกำเนิดตั้งต้นมาอย่างไร มาจากสวรรค์หรืออย่างไร มารู้จักวิวัฒนาการของมนุษย์ที่ก่อกำเนิดกษัตริย์จากพระไตรปิฎก ชาวพุทธต้องเข้าใจตามนี้
ในพระไตรปิฎกไม่ได้มีแต่เรื่องธรรมะทั่วไป หรือทางแห่งความหลุดพ้น แต่ยังได้กล่าวถึงการกำเนิด “กษัตริย์” ไว้อย่างชัดเจน หลายท่านคงทราบว่าในพระไตรปิฎก มีพระสูตรหนึ่งคือ “อัคคัญญสูตร” ซึ่งเป็นพระสูตรว่าด้วยการกำเนิดจักรวาล โลก มนุษย์ การปกครอง กษัตริย์ และสิ่งต่างๆ ในโลก ประเทศไทยมีเอกลักษณ์เพราะเป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่มีระบอบกษัตริย์ ในขณะที่ประเทศมหาอำนาจใหญ่โตทั้งหลาย เช่น จีน รัสเซีย เปอร์เซีย (อิหร่าน) กลับไม่มีแล้ว เรามาเรียนรู้เกี่ยวกับการกำเนิด “กษัตริย์” ในโลกนี้กัน
ข้อความต่อไปนี้คัดลอกมาจากข้อเขียนของวัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ อ.พาน จ. เชียงราย และในที่นี้ได้อ้างอิงพระไตรปิฎกมาประกอบไว้ในท้ายนี้ด้วย
“เกิดระบอบการปกครองแรกของโลก เมื่อข้าวสาลีเริ่มปรากฏน้อยลง ซ้ำยังห่างไกลออกไปจากที่อยู่อาศัยขึ้นเรื่อยๆ จึงเริ่มมีการจับจองพื้นที่และแบ่งปันเขตแดนกัน แต่เนื่องจากมีผู้ที่อยากได้ข้าวของผู้อื่นจึงทำการลักขโมย เมื่อมีการจับได้ก็จะตัดพ้อต่อว่า ครั้นบ่อยครั้งเข้าก็มีการทำร้ายร่างกาย เกิดความเดือดร้อนขึ้น มนุษย์จึงปรึกษากัน และตกลงให้มีการตั้งผู้ทำหน้าที่ปกครองพวกตนขึ้นเป็นหัวหน้า”
“ในการคัดเลือกผู้ที่จะมาเป็นผู้ปกครองนั้น มนุษย์จะเลือกผู้ที่มีสติปัญญา มีรูปร่างลักษณะและกิริยาสง่างามน่าเกรงขาม สามารถปกครองคนทั้งปวงได้ เมื่อพบผู้ใดที่มีคุณสมบัตินี้แล้ว ก็จะเลือกให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินปกครองประเทศ ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินจะทรงวางระเบียบแบบแผน และออกกฎข้อบังคับต่างๆ ให้ประชาชนปฏิบัติเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข มีการจัดแบ่งปันเขตแดนต่างๆ อย่างยุติธรรม จึงทำให้ได้รับการยกย่องขึ้นเป็นกษัตริย์ ซึ่งแปลว่าผู้เป็นใหญ่ในการเกษตร ระบอบกษัตริย์จึงเป็นการปกครองระบอบแรกของมนุษยชาติ แต่กษัตริย์ในยุคนั้น ปกครองผู้ใต้ปกครองแบบพ่อปกครองลูก”
“แม้ว่าจะมีการเลือกกษัตริย์แล้ว แต่มนุษย์บางพวกเห็นการกระทำของมนุษย์ที่กระทำความผิด จึงพากันหลีกเลี่ยงออกจากอกุศลเหล่านั้น พากันลอยบาปอกุศลทิ้งไปจึงถูกสมมุตตัวเองว่า พราหมณ์ พวกเขาพากันสร้างกระท่อมที่มุงบังด้วยใบไม้อยู่ในราวป่า ทำการเพ่งกสิณอยู่ในป่า ไม่ได้ทำมาหากินเช่นพวกมนุษย์ทั่วไป แต่แสวงหาอาหารด้วยการขอจากชนในหมู่บ้านเพื่อบริโภคในเวลาเช้าเย็น ชนเหล่านั้นเห็นเขาทำการลอยบาปอกุศล ซึ่งพวกตนก็ยังไม่สามารถทำได้ จึงยินดีมอบอาหารให้แก่เขา เมื่อเขาได้อาหารแล้วก็กลับไปทำความเพียรเพ่งต่อ จนฌานเกิดขึ้น พวกเขาจึงได้ถูกเรียกสมมุติว่า ฌายิกา”
“พวกพราหมณ์ที่ทำการเพ่งกสิณบางพวกมิได้ทำฌานให้บังเกิดขึ้นได้ กลับพากันเที่ยวไปรอบนิคม แล้วเขียนคัมภีร์ต่างๆ ขึ้นมา พวกเขาถูกเรียกสมมุติว่า อัชฌายิกา คำนี้ในสมัยก่อนท่านสมมุติกันว่าเป็นคำเลว แต่ในสมัยนี้กลับถูกสมมุติว่าเป็นคำประเสริฐ ฝ่ายมนุษย์ที่ยึดติดในเมถุนธรรมแยกกันทำงานต่างๆ เพื่อหาเลี้ยงชีพจึงถูกเรียกสมมุติว่า เวสสา คำว่า แพศย์และศูทร จึงเกิดขึ้นต่อมาภายหลัง เพราะการแยกประเภทของผู้ทำการงาน คือแพศย์นั้นเป็นนายหรือเจ้าของงาน แต่ศูทรกลับเป็นคนที่ทำงานให้เพื่อการรับค่าจ้าง”
กษัตริย์เกิดขึ้นตามในวิวัฒนาการของสังคมที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปได้ตลอดเวลาเช่นนี้แล
ไม่มีใครรู้ว่าใครเป็นกษัตริย์องค์แรก แต่บันทึกทางประวัติศาสตร์บางส่วนระบุว่า Sargon of Akkad เป็นจักรพรรดิ (King of Kings) คนแรกผู้ปกครองอยู่ระหว่างปี 2334 – 2279 ก่อนคริสตกาล หรือ 4,299 ปีนับแต่ปี 2563 อ้างอิงจาก https://www.britannica.com/biography/Sargon
ที่มา:
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๓ ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ๔. อัคคัญญสูตร https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=11&A=1703&Z=2129
วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ อ.พาน จ. เชียงราย. ปฐมบท ๑..“อัคคัญญสูตร” “พระสูตรว่าด้วยการกำเนิดจักรวาล-โลก-มนุษย์-และสิ่งต่างๆ” 18 พฤษภาคม 2563. https://bit.ly/3857lcd