CSR ที่แท้เป็นอย่างไร ทำกันอย่างไร CSR เทียมเป็นการโฆษณาชวนเชื่ออย่างไร เป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์อย่างไร คนรับผิดชอบทำ CSR ควรรู้ และปฏิบัติให้ถูกต้องตามมาตรฐานสากล ผู้บริโภค ลูกค้า และประชาชนก็ควรรู้เพื่อช่วยกันดูแลสังคม และควบคุมวิสาหกิจให้อยู่ในทำนองคลองธรรม
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ได้แต่งหนังสือเล่มนี้ โดยจัดพิมพ์เป็นครั้งที่ 7 แล้ว ดร.โสภณ เคยสอนหลักสูตรนี้ในระดับปริญญาเอกที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และบรรยายเรื่องนี้ให้กับส่วนราชการและวิสาหกิจต่างๆ เป็นจำนวนมาก ท่านใดสนใจซื้อสามารถสั่งซื้อได้ตาม link นี้: https://bit.ly/3mOB9y4 ราคา150 บาทพร้อมค่าจัดส่ง รายได้โดยไม่หักค่าใช้จ่ายใดๆ มอบให้มูลนิธิประเมินค่า-นายหน้าแห่งประเทศไทย เพื่อประกอบสาธารณประโยชน์ต่อไป
CSR หรือ Corporate Social Responsibility ซึ่งแปลไทยว่า ความรับผิดชอบต่อสังคมของวิสาหกิจ ได้รับการกล่าวถึงมานานพอสมควร แต่ได้ถูกตีความไปต่าง ๆ นานา จนเข้าขั้นบิดเบือนไปเลยก็มี ดร.โสภณจึงตั้งใจเขียนหนังสือเล่มนี้เพื่อชี้ให้เห็นว่า CSR คืออะไรกันแน่ และมีแนวทางปฏิบัติให้ถูกต้องได้อย่างไร โดยเขียนจากประสบการณ์จริงในฐานะผู้บริหารวิสาหกิจที่ปฏิบัติ CSR จริง ไม่ใช่เฉพาะในแง่ของนักวิชาการ CSR
ในสังคมอารยะยุคใหม่เช่นทุกวันนี้ น่าจะถือว่าหมดยุคของการทำธุรกิจแบบ ‘ด้านได้ อาย-อด’ แล้ว การเอาเปรียบคนอื่นจนร่ำรวยแล้วยังมีหน้ามาชูคอในสังคม ไม่สมควรได้รับการยกย่อง แต่เราก็คงไม่ไปประณามใคร เพราะคงไม่ใช่แนวทางการสร้างสรรค์ เราควรทำธุรกิจแบบตระหนักรู้ถึงคติที่ว่า ‘ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว’ คนทำชั่ว ทำธุรกิจเอาเปรียบคนอื่น ฉกชิงผลประโยชน์ของคนอื่นโดยมิชอบ ย่อมเป็นการกระทำผิดกฎหมาย อย่าลืมว่า ‘ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน’ การคดโกงนั้นย่อมเท่ากับการละเมิดต่อลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ และจะถูกลงโทษจนทำให้เสียทรัพย์ เสียชื่อเสียง จนอยู่ในธุรกิจนั้น ๆ ไม่ได้อีกต่อไป
เราต้องเคารพและรู้จักให้เกียรติพลังประชาชนผู้บริโภค และเชื่อมั่นในหลักการศักดิ์สิทธิ์ที่ว่า ‘ความดีย่อมชนะความชั่ว’ และ ‘คนดีผีคุ้ม’ เมื่อเราซื่อ เราก็ย่อมต้องมีกินโดยไม่หมด เมื่อเราทำดี เราก็จะได้รับผลดี ๆ เป็นสิ่งตอบแทนอย่างแน่นอน ในทางการตลาดและการขายสมัยใหม่ เราเรียกว่าการสร้างตรายี่ห้อสินค้า หรือ Brand นั่นเอง และการทำธุรกิจให้ยั่งยืนอย่างแท้จริง จึงต้องสร้างด้วย Brand จากการสั่งสมความดี มีคุณภาพ และที่สำคัญมีหลักประกันจนได้รับความเชื่อถือจากผู้บริโภค ทำให้สินค้าและบริการของเราสามารถขายได้กำไรมากกว่าเมื่อเทียบกับวิสาหกิจอื่นที่ขาด CSR
ที่ว่ามานี้ไม่ใช่เรื่อง ‘คุณธรรม’ หรือ ‘มรรยาท’ ที่มักอยู่ที่การ ‘สมควร’ ทำตาม ‘ใจสมัคร’ แต่เป็นเรื่องของความจำเป็นทางข้อกฎหมายที่เราควรอยู่ในทำนองคลองธรรมโดยไม่ละเมิดผู้อื่น ดังนั้นเราจึงไม่ควรอธิบาย CSR ด้วยหลักศาสนา แต่ว่ากันตามความเป็นจริงของโลกที่เราต้องทำตามหน้าที่โดยละเลยไม่ได้ บางคนไขว้เขวว่าการมีหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ที่รับผิดชอบต่อผู้บริโภคหรือผู้ใช้บริการนั้น อาจกลายเป็นการทำตามหน้าที่อย่างแกรน ๆ ไม่ได้ทำด้วยใจจริง จึงเสนอแนวคิดว่าควรให้คนทำดีโดยสมัครใจจะดีกว่า ในการอาสาทำดีนั้น ใคร ๆ ก็ควรทำเพื่อการมีมงคลต่อชีวิต แต่จะต้องทำหน้าที่ของตนให้ครบถ้วนสมบูรณ์ก่อน หาไม่จะกลายเป็นการ ‘ทำดีเอาหน้า’ ‘ลูบหน้าปะจมูก’ ‘ผักชีโรยหน้า’ หรือกลายเป็นการทำดีเพื่อปกปิดความผิดไป
เราพึงตระหนักในเบื้องต้นว่า การทำ CSR อยู่ที่การเปลี่ยนแนวคิด (Mind Set) ของเรา เปลี่ยนจากการทำธุรกิจแบบ ‘ตีหัวเข้าบ้าน’ หรือแบบโจร (ด้านได้ อาย-อด) เป็นการทำธุรกิจแบบวิญญูชน (ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน) ต่อมาจึงวางแผน ปฏิบัติการ และจัดทำรายงาน CSR เพื่อประกาศให้โลกรู้ และช่วยรณรงค์ให้เกิด CSR ในสังคมธุรกิจอย่างแท้จริง และเมื่อเราได้ทำดีตามหน้าที่พลเมืองดีแล้ว ใครจะอาสาทำดีเพิ่มเติมก็เป็นสิ่งที่พึงชื่นชม อย่าลืมว่า ‘ยิ่งให้ ยิ่งได้’ คนเราเกิดมาต้องสร้างสรรค์ ไม่คดโกง ไม่ก่ออาชญากรรม (ทางเศรษฐกิจ) ไม่เอาเปรียบใคร จะได้มีเกียรติเก็บไว้ให้ลูกหลานภูมิใจ
โปรดสั่งซื้อตาม Link นี้: https://bit.ly/3mOB9y4