เป็นความเคยชินที่ลูกจ้างจะเรียกนายจ้างว่า “นาย” “เจ้านาย” หรือ “Boss” แต่มันสมควรไหม มาคิดปฏิวัติวัฒนธรรมกันเถอะ
วันหนึ่งผมพบหนุ่มพนักงานประเมินค่าทรัพย์สินของบริษัทประเมินแห่งหนึ่ง ผมถามถึงเพื่อนผมที่เป็นเจ้าของบริษัท หนุ่มนั่นตอบว่า “วันนี้เจ้านายไม่มาครับ” หนุ่มนี่คงเรียกนายจ้างตัวเองว่า “เจ้านาย” หรือ “Boss” จนเคยชิน ยิ่งเพื่อนผมมีอายุคราวพ่อเขาด้วย คงยิ่งทำให้เขาเรียก “เจ้านาย” ได้อย่างเต็มปากเต็มคำ
สิ่งที่พึงคิดก็คือ อันที่จริงเรามาขายแรงงานในฐานะลูกจ้างส่วนคนซื้อแรงงานเราเพิ่งเป็นนายจ้างถึงจะถูกครับ การเรียกนายจ้างว่าเจ้านายในแง่หนึ่งเป็นการเอาใจนายจ้างและนายจ้างจำนวนหนึ่งก็คงปลื้ม สมประโยชน์กันและกันเช่นกัน. การพิจารณาความดีความชอบของลูกจ้างอาจขึ้นอยู่กับการเอาใจนายจ้างด้วยส่วนหนึ่ง อาจไม่ได้พิจารณาตามมาตรฐานแรงงานเท่าที่ควรก็เป็นไปได้ ลูกจ้างบางส่วนจึงต้องเอาใจนายจ้างเป็นพิเศษ
แต่ในอีกแง่หนึ่งถ้าขาดการพิจารณาความดีความชอบและอย่างเป็นธรรม ก็เป็นการบั่นทอนกำลังใจของลูกจ้างทำให้องค์กรไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร ระบบการพิจารณาความดีความชอบและและเส้นทางในการเติบโตของพนักงานควรเน้นที่ความรู้ความสามารถเป็นสำคัญ โดยระหว่างอคติหรือฉันทาคติส่วนบุคคล อันนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผมในฐานะที่เคยเป็นรองประธานสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย
คนไทยจำนวนหนึ่งคุ้นชินกับเรื่องยศถาบรรดาศักดิ์ แม้ไม่มีโอกาสเป็น “เจ้า” ก็ขอเป็น “เจ้านาย” ก็ยังดูเท่ดี สังคมไทยจะก้าวหน้าได้ควรก้าวข้ามซากเดนความคิดศักดินาเช่นนี้ และยึดถือค่านิยมที่เป็นจริงและเป็นธรรมเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ประเทศไทยจึงจะก้าวไกล เพราะทุกคนมีศักดิ์ศรีในฐานะพลเมืองเจ้าของประเทศร่วมกัน
ฝรั่งว่าต่อหน้าพระเจ้าทุกคนเท่ากัน ของไทยเราอาจกล่าวว่าต่อหน้าความชอบธรรมดีงามทุกคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน มาร่วมกันสร้างวัฒนธรรมใหม่ที่ไม่ยึดติดกับซากเดนความคิดศักดินาเถอะ