ตามที่มีข่าวว่าไทยครองแชมป์ความยั่งยืนในอาเซียน น่าจะเป็นข่าวจริงจากการวิเคราะห์มั่วๆ ดร.โสภณไม่แน่ว่ามีการ “ซื้อเสียง” สร้างชื่อประเทศหรือไม่
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) กล่าวถึงข่าวเร็วๆ นี้ที่ว่า “ไทยแชมป์อาเซียน การพัฒนาอย่างยั่งยืนปี 63 ลดความไม่เสมอภาค ความท้าทายที่ต้องปรับปรุง” <1> นั้น ดร.โสภณ เชื่อว่าเป็นผลการวิเคราะห์ที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงเป็นอย่างยิ่ง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย ก็ยังเคยวิเคราะห์ว่าไทยมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำระดับต้นๆ ของโลก <2>
เพื่อให้เกิดความกระจ่าง ดร.โสภณ จึงนำตัวเลขความยั่งยืน รายได้ประชาชาติต่อหัว และดัชนีการทุจริตของประเทศต่างๆ ทั่วโลกถึง 164 ประเทศ รวมทั้งประเทศในอาเซียน 10 ประเทศมาวิเคราะห์ด้วยการวิเคราะห์การถดถอย (Regression Analysis) เพื่อดูความสัมพันธ์เชิงตัวแปรระหว่างตัวเลขความยั่งยืน กับรายได้ประชาชาติต่อหัว และตัวเลขความยั่งยืนกับดัชนีการทุจริต
ผลการวิเคราะห์พบว่าตัวเลขความยั่งยืน กับรายได้ประชาชาติต่อหัว และตัวเลขความยั่งยืนกับดัชนีการทุจริต ไม่ได้มีความสัมพันธ์กันเลย โดยใน 164 ประเทศนั้น ค่า R Square ค่อนข้างต่ำ โดยค่า R Square ของตัวเลขความยั่งยืน กับรายได้ประชาชาติต่อหัว ได้แค่ 33.8% และค่า R Square ตัวเลขความยั่งยืนกับดัชนีการทุจริต ได้แค่ 48.1% ซึ่งยังต่ำกว่า 50% หรือไม่น่าเชื่อถือ โดยอันที่จริงค่าสถิติที่น่าเชื่อถือควรสูงถึง 70% ขึ้นไปจึงจะมีความสัมพันธ์เชิงตัวแปรที่ชัดเจน ยิ่งในกรณีวิเคราะห์เฉพาะประเทศในอาเซียน 10 ประเทศ ก็ยิ่งได้ตัวเลข Adjusted R Square น้อยลงไปอีก แสดงว่าค่าตัวเลขความยั่งยืนนั้นอาจไม่น่าเชื่อถือนัก
ในกรณีเฉพาะ 10 ประเทศในอาเซียนที่ประเทศไทยได้รับคะแนนความยั่งยืนเป็นอันดับหนึ่ง (อย่างน่ากังขา แต่ก็น่าดีใจถ้าเป็นจริง) เพราะไทยมีคะแนนดัชนีทุจริตที่ 36 จาก 100 ต่ำกว่าเวียดนาม มาเลเซีย บรูไน และสิงคโปร์ ยิ่งกว่านั้น ทั้งสิงคโปร์ บรูไน มาเลเซีย ต่างก็มีรายได้ประชาชาติต่อหัวสูงกว่าไทยมาก น่าจะทำให้ประชาชนมีชีวิตที่มีความยั่งยืนสูง มีความสะดวกสบายกว่าไทยมาก แต่กลับได้คะแนนความยั่งยืนน้อยกว่าไทย ในทางตรงกันข้าม เมียนมาร์ กัมพูชาและลาวที่เป็นสังคมชนบทพึ่งตนเองสูงมากกว่าไทยด้วยซ้ำไป กลับได้รับคะแนนความยั่งยืนต่ำมาก
ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าการที่ไทยได้รับคะแนนความยั่งยืนสูงสุดในอาเซียน น่าจะมีการวิเคราะห์ที่ผิดจากความเป็นจริงเพราะประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำสูง สังคมขาดความสงบ ขาดความยุติธรรมและแบ่งแยกจากการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ทำให้นักลงทุนไหนออกไปเวียดนามและประเทศอื่นเป็นอย่างมาก
อ้างอิง
<1> “ไทยแชมป์อาเซียน การพัฒนาอย่างยั่งยืนปี 63 ลดความไม่เสมอภาค ความท้าทายที่ต้องปรับปรุง” BLTBangkok. 21 สิงหาคม 2563. https://www.bltbangkok.com/news/27847
<2> ความเหลื่อมล้ำ 2020 (1): เรารู้อะไร เราควรรู้อะไร. 16 มกราคม 2563. https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/649234