นักท่องเที่ยวเสียชีวิตเพราะขึ้นภูกระดึงทุกปี ทำไมไม่สร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง ใครจะเดินก็เดิน ใครจะขึ้นก็ขึ้น แถมช่วยชีวิตคนได้ไวด้วย ประชาชน 97% ก็อยากให้สร้าง
เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2563 ก็มีนักท่องเที่ยวเสียชีวิตเพราะขึ้นภูกระดึงอีกแล้ว <1> นอกจากนี้ยังมีข่าวการเสียชีวิตหรือหายตัวไปเพราะไปท่องเที่ยวบนภูกระดึงทุกปี <2> ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ในนามผู้ประสานงาน “กระเช้าภูกระดึงเพื่อป่าและประชาชน” (www.facebook.com/PhukradungCable) กล่าวว่าไทยควรสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงได้แล้ว
เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2559 ดร.โสภณ ได้ทำจดหมายถึงนายกฯ ขอให้สร้างกระเช้าภูกระดึง โดยสำรวจพบว่า ประชาชนในพื้นที่ถึง 97% ต้องการให้สร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง (ทางราชการเคยสำรวจได้ตัวเลขถึง 99%) เพราะ
1. ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม แค่เป็นการปักเสาเท่านั้น
2. การบริหารจัดเก็บขยะก็จะดีขึ้น
3. กลุ่มประชากรผู้สูงวัย ผู้พิการ เด็ก ก็สามารถขึ้นไปชมธรรมชาติได้
4. แรงงานแบกหามสัมภาระและนักท่องเที่ยวก็แก่ตัวลง แทบไม่มีคนหนุ่มสาวนิยมมาทำอาชีพแบกแล้ว
5. ค่าแบก 4,000 บาท ค่าขึ้นกระเช้าแค่ 500 บาท (https://bit.ly/2jF3bPf)
5. การมีกระเช้าจะกระตุ้นเศรษฐกิจและทำให้เกิดโอกาสอาชีพแก่ประชาชนกว้างขวางยิ่งขึ้น
6. ประชาชนจะยิ่งหวงแหนป่ามากขึ้นเพื่อให้คนไปเที่ยว
7. ป่าก็จะได้รับการดูแลจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากกระเช้านั่นเอง
8. คนป่วยไข้ก็สามารถนำลงมารักษาได้อย่างทันการณ์ ไม่เสียชีวิตเช่นที่ผ่านมา
ที่ผ่านมามีการก่อสร้างกระเช้าและมีการพัฒนาบนดอยสูงเพื่อการท่องเที่ยวมากมายและประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่งที่ไทยควรดูเป็นเยี่ยงอย่างเช่น บานาฮิลล์ ดานัง เวียดนาม (https://bit.ly/2z5H2Qw) นครเพอร์กามอน ประเทศตุรกี (https://bit.ly/2CiD7SD) กระเช้าเขาโมอิวา (Mt. Moiwa) นครซัปโปโร (https://bit.ly/2oT9rGx) เกนติ้งของมาเลเซีย (https://bit.ly/2Hq8W07) นอกจากนี้ยังมีกระเช้าอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ที่ซาปา ญาจาง ฟุก๊วก ของเวียดนาม ลังกาวีของมาเลเซีย และเซ็นโตซา สิงคโปร์ ฯลฯ ที่เป็นแบบอย่างที่ดี
รัฐบาลไม่พึงเพียงสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง แต่ควรพัฒนาให้ครบวงจรเพื่อการท่องเที่ยว เช่นที่บานาฮิลล์ ญาจัง ลังกาวี และอื่น ๆ จะทำให้ประเทศชาติได้ประโยชน์มหาศาล ไม่ต้องกลัวว่าจะเป็นการทำลายธรรมชาติ ยิ่งมีการพัฒนาที่เป็นระบบ ยิ่งมีการดูแลรักษาที่ดี ยิ่งมีกองทุนในการป้องกันและปราบปรามการบุกรุกทำลายป่า และสามารถขยายป่าได้เพิ่มขึ้นด้วยเงินทุนจากการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวขนานใหญ่เช่นนี้
รัฐบาลพึงฟังเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนในพื้นที่ ไม่ใช่ไปฟัง NGOs ไม่ใช่ไปฟังพวก “ขุนพลอยพยัก” รอบข้าง หรือไปพวกพวกนักอนุรักษ์ไร้ราก
อ้างอิง
<1> นักท่องเที่ยวหัวใจวายเสียชีวิตขณะพิชิต "ภูกระดึง" Thai PBS. 23 พฤศจิกายน 2563. https://news.thaipbs.or.th/content/298580
<2> มีข่าวทุกปี เช่น
นายอำเภอภูกระดึง ปัดฝุ่นโครงการ “กระเช้า” เหตุนักท่องเที่ยวหาย/ตาย ทุกปี. 26 พฤศจิกายน 2562. https://www.esanbiz.com/23832
หญิงวัย 51 ดับสลด ขณะเดินขึ้นภูกระดึง คาดหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน. Kapook. 19 กุมภาพันธ์ 2561. https://hilight.kapook.com/view/168372
ชายเป็นลม หมดสติ บนภูกระดึง เสียชีวิตแล้ว. JS100. 10 ธันวาคม 2558. https://www.js100.com/en/site/news/view/19875
<3> ดร.โสภณ พรโชคชัย. จม.เปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีเรื่องสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง 3 มีนาคม 2559. https://bit.ly/1povC3l