ตามที่มีข่าว “ชาวเน็ตจวกลูกชายผู้ว่าฯ กทม.หลังชวนเที่ยวสวนดอกไม้ ‘ป้อมมหากาฬ’ จากการไล่รื้อชุมชน เพียงให้นทท.เซลฟี่” <1> ดร.โสภณกล่าวว่า “ชาวเน็ต” เข้าใจผิด ความจริงควรไล่กฎหมู่ออกจากป้อมมหากาฬนานแล้ว
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) กล่าวถึงข่าวข้างต้น และทาง ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง บุตรชายพลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก็ได้ออกมาตอบโต้แล้วว่า “ก็มีอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นส่วนใหญ่เห็นควร ขอคืนพื้นที่นี้ ให้กลับมาเป็นแหล่งโบราณสถานทางประวัติศาสตร์ของชาติ และพัฒนาปรับปรุงให้เป็นสถานที่สำหรับศึกษาหาความรู้ทางประวัติศาสตร์ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นเอกลักษณ์ของกรุงรัตนโกสินทร์ เช่นเดียวกับบริเวณป้อมพระสุเมรุและสวนสันติชัยปราการ กทม. และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องได้ทำตามขั้นตอน โดยเริ่มจากรับฟังความคิดเห็นจากชุมชนและประชาชนทั่วไป ความเห็นส่วนใหญ่ เห็นควรขอคืนพื้นที่ดังกล่าว และ กทม. ได้ทำความเข้าใจกับชุมชนก่อนล่วงหน้า พร้อมทั้งช่วยเหลือ เยียวยา และจ่ายค่าเวนคืนให้กับผู้ได้รับผลกระทบ ตาม พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน พ.ศ.2535” <2>
ในเรื่องป้อมมหากาฬนี้มีความเข้าใจผิดที่สังคมควรรู้
เกี่ยวกับสวนสาธารณะป้อมมหากาฬ
สวนแห่งนี้จัดสร้างขึ้นเนื่องในมหามงคลสมัย เฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542 โดยภายในบริเวณสวนมี พระที่นั่งสันติชัยปราการ ที่มีตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติมาประดับไว้ พร้อมกับท่ารับเสด็จขึ้นลงเรือพระที่นั่ง เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นที่จัดพระราชประเพณีต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับแม่น้ำเจ้าพระยา
สวนสาธารณะสันติชัยปราการ นับเป็นตัวอย่างที่ดีของการพัฒนาเมืองเก่าที่มีประวัติศาสตร์และโบราณสถาน นับเป็นนันทนสถานเอนกประสงค์ที่ได้ประโยชน์ใช้สอยทั้งด้านการพักผ่อนหย่อนใจ การศึกษา และการอนุรักษ์ (ป้อมพระสุเมรุ) พื้นที่โดยรอยได้รับการออกแบบให้สามารถใช้เป็นที่ออกกำลังกายได้หลายประเภท เช่น การเต้นแอโรบิค รำมวยจีน สามารถเป็นสถานที่จัดงานของท้องถิ่นและรัฐบาล เช่น พิธีต้อนรับแขกจากต่างประเทศ รวมทั้งด้านวัฒนธรรม เช่น พิธีลอยกระทง สงกรานต์ เป็นต้น
ในการวิเคราะห์มูลค่า ตั้งอยู่บนสมมติฐานและตัวเลขดังนี้:
1. สวนสันติชัยปราการนี้มีผู้เข้าใช้สอยวันละ 2,000 ราย (http://bit.ly/2cMpblp) ดังนั้นจึงสมมติให้ในกรณีสวนสาธารณะ "ป้อมมหากาฬ" ซึ่งมีขนาด 6 ไร่เศษ น่าจะมีผู้เข้าใช้สอยในขนาดใกล้เคียงกัน แต่ลดลงไปสัก 20% เหลือ 1,600 คน เพราะในบริเวณนี้รายล้อมด้วยสถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียงมากมายเช่นกัน
2. ในกรณีไม่มีสวนสาธารณะนี้ อาจจัดให้ไปใช้บริการสถานออกกำลังกาย Fitness First ซึ่งเสียเงินเดือนละ 2,400 บาท หรือวันละ 80 บาท อย่างไรก็ตามสถานออกกำลังกายนี้มีเครื่องออกกำลังกายมากมาย แต่ในกรณีป้อมมหากาฬ ไม่มีบริการส่วนนี้ แต่มีแหล่งที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ในกรณีอาจให้ค่าใช้จ่ายลดลง 30% และมีต้นทุนการดำเนินการอีก 30% รวม ค่าใช้จ่ายสุทธิคนละ 32 บาทต่อวัน (80% x (1-60%))
3. ดังนั้นในกรณีคนมาใช้วันละ 1,600 คน ณ ค่าใช้จ่ายหรือรายได้คนละ 32 บาทต่อวัน ก็เท่ากับวันละ 51,200 บาท หรือปีละ 18.69 ล้านบาท หากถูกผู้บุกรุกครอบครองไปใช้อีก 10 ปี ณ อัตราดอกเบี้ย 5% ก็เท่ากับว่าส่วนรวมต้องสูญเงินไป 144.32 ล้านบาท ตามสูตร (1-(1/(1+i)n))/i โดยที่ i คืออัตราดอกเบี้ย 5% ส่วน n คือระยะเวลา 10 ปีนั่นเอง
4. นี่ยังไม่รวมรายได้ที่จะได้จากการให้มีการเช่าที่ขายของเพื่อหารายได้มาบำรุงและพัฒนาสาธารณูปโภค และเผื่อมีส่วนเหลือไปใช้ในการพัฒนาท้องถิ่นให้เจริญเพื่อประโยชน์ของประชาชนและส่วนรวมในวันหน้า
ทุกอย่างมีต้นทุน ไม่ใช่ของฟรีเปล่าๆ ปลี้ๆ ดังนั้นจึงจะเห็นได้ว่าในแต่ละปีการที่ไม่มีสวนสาธารณะป้อมมหากาฬ สังคมต้องสูญเสียโอกาสไปถึง 19 ล้านบาทต่อปี ในระยะเวลา 10 ปีก็เป็นเงิน 144 ล้านบาท เพียงเพราะการ "ดื้อแพ่ง" ของผู้บุกรุกไม่กี่หลังคาเรือน การเอาเปรียบสังคมเป็นสิ่งที่น่าละอายนัก
โกหกว่าบ้านกรงนกมาแต่โบราณ
ตามชุดภาพที่แสดงต่อไปนี้บอกว่า บ้านเลขที่ 47 บ้านทำกรงนกที่ชุมชนบอกว่าเป็นคนอพยพมาจากปักษ์ใต้ ทำอาชีพนี้สืบต่อกันมาแต่ครั้งบรรพบุรุษเป็นวิถีชีวิตชุมชนของคนในป้อมหากาฬ แต่ "ดูกันดีๆ นะครับ บ้านเลขที่ 47 นี้ในปี 2499 เป็นบ้านที่มีคนจีนอาศัยอยู่ทั้งหมด ตามทะเบียนบ้านแผ่นแรก และได้ย้ายทะเบียนบ้านออกหมดในปี 2503 เมื่อกทม. ซื้อที่ดินมา ในปี2516 ที่ดินตรงนี้จะไม่มีบ้านอยู่ (ดูจากทะเบียนบ้านปี 2515 แผ่นที่ 2) บ้านเลขที่นี้จะไม่มีคนอยู่ จนถึงปี 2526 บ้านหลังนี้ก็ยังเป็นบ้านว่าง(ทะเบียนบ้านปี 2526 แผ่นที่3) ความหมายก็คือมีการรื้อบ้านไปแล้วแต่ยังไม่มีการแจ้งรื้อ และไม่มีการจำหน่ายทะเบียนบ้านหลังนี้ทั้งที่ความเป็นจริงบ้านเลขที่ 47 นี้ เดิมเป็นบ้านที่มีคนจีนอาศัยอยู่และได้รื้อย้ายออกไปตั้งแต่ปี 2503"
"คราวนี้มาดูทะเบียนบ้านแผ่นที่ 4 บ้านเลขที่ 47 ได้มีการปลูกสร้างใหม่ในปี 2532 และขอเลขบ้านใหม่โดยออกเลขทับเลขเดิมในปี 2535 โดยคนที่ขอเลขบ้านคือนางอรุณ นิลใบ ย้ายมาจากบ้านเลขที่132/472 ถนนพระราม6 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท ย้ายเข้ามาพร้อมกับครอบครัวในปี 2532 ก็คงสรุปได้แล้วนะครับว่าที่ชุมชนพยายามบอกว่ามีมุสลิมจากปักษ์ใตัมาประกอบอาชีพนี้ในป้อมมหากาฬสืบต่อมาหลายรุ่นน่ะ เป็นความจริงหรือเปล่า? เพราะคนที่อยู่ไม่ได้มีเชื้อสายคนจีนสักนิดเดียว และคงไม่ได้เป็นญาติสืบต่อกันมาจากเจ้าของเดิมชาวจีนแน่นอนใช่ไหมครับ" (http://bit.ly/2cvdocN)
โกหกว่า ดร.ป๋วยก็เคยอาศัยในชุมชน
โกหกว่ามีบ้านทรงไทยหลังหนึ่งในชุมชน บอกว่าเป็นของตระกูลอึ๊งภากรณ์ แต่ในความเป็นจริง เมื่อปี 2548 หรือ 11 ปีที่แล้ว "ทายาท 'อึ๊งภากรณ์' ชี้แจงว่า บ้านที่เรียกว่าบ้านไม้โบราณนี้ไม่เกี่ยวข้อง ดร.ป๋วย" นางอุไรวัลย์ อึ๊งภากรณ์ เป็นสะไภ้ และได้รับมรดกจากนางจิบ บุรกิจ และนางอุไรวัลย์ยังพยายามจะรื้อหลังจากได้รับเงินชดเชยจาก กทม. แล้ว แต่ชาวบ้านไม่ยอมให้เขารื้อบ้านของตนเอง เดือดร้อนจนต้องมาให้ กทม. รื้อถอนแทน นี่คือเล่ห์กลที่น่าละอายของคนที่เรียกร้องไม่ยอมย้ายออกไป ส่วนเรื่องของมีค่าไม่ว่าจะเป็นลวดลายต่างๆ ที่ตกแต่งบนตัวบ้านนั้น ก็ถูกแกะขายไปหมดแล้ว (http://bit.ly/2bQJAap)
โกหกว่าจะย้ายแต่เบี้ยว
โกหกตั้งแต่รุ่นพ่อแม่แล้วว่าจะย้ายออก แต่ก็ไม่ยอมย้ายใช่ไหม นายศักดิ์ชัย บุญมา ผู้อำนวยการกองจัดกรรมสิทธิ์ สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ได้เขียนใน FB เล่าว่า "ครั้งหนึ่ง เกือบ 20 ปีมาแล้ว ผมมีโอกาสเข้าไปในชุมชนป้อมมหากาฬ เพื่อเจรจากับผู้นำชุมชนในสมัยนั้นก็คือคุณป้านงลักษณ์ วรมหาคุณ และคุณลุงชาญ ทัพเมฆา การเจรจาเป็นไปด้วยดีโดยทั้งสองท่านขอให้ชะลอการเข้าพื้นที่ของกทม. ไว้ก่อน เนื่องจากยังไม่สะดวกเพราะเด็กๆ ยังไม่ปิดเทอม"
". . . ผู้บริหาร (กทม.) ได้ยินยอมผ่อนปรนให้ เป็นอย่างนี้อยู่หลายครั้ง . . . สิ่งที่ผมขอชุมชนในตอนนั้นคือพยายามอย่าปลูกอาคารสิ่งปลูกสร้างใหม่ขึ้นมา. . .ผ่านไปเกือบ 20 ปี ผู้นำทั้งสองท่านเสียชีวิต . . . ถึงวันนี้กลับลืมสิ่งที่พ่อแม่ของตนเองสัญญาไว้ มีการปลูกสร้างอาคารใหญ่โตบุกรุกในที่ดินว่างที่เจ้าของเดิมรื้อย้ายออกไปแล้ว รวมทั้งไม่ยอมย้ายออกจากพื้นที่. . . (http://bit.ly/2cwlL5v)" อย่างนี้ถือเป็นการโกหกหรือไม่
โกหกว่าฐานะยากจน
ถ้ายากจนจริง ทำไมมีบ้านไม้หรูๆ เพิ่งปลูกใหม่ต่อเติมไม่นาน ทั้งที่ไม่ใช่ที่ดินของตนเองเลย ในขณะที่มีการโพนทะนากันว่ามีบ้านอยู่กันมานาน แต่หากเราสังเกตให้ดี และผู้สนับสนุนจากภายนอกไม่ "ใจบอด" จะเห็นได้ว่ามีการก่อสร้างบ้านสวย ๆ ใหม่ ๆ อย่างน้อย 4 หลัง บ้านแต่ละหลังคงมีราคาแพงพอสมควรทีเดียว คนที่ก่อสร้างบ้านเช่นนี้ได้ คงไม่ได้ยากจน แต่ตั้งใจปักหลักปักฐาน ที่ดินที่ก่อสร้างก็คงเป็นที่ดินของกรุงเทพมหานครที่เวนคืนมาแล้ว น่าจะถือเป็นผู้บุกรุก และหากถูกรื้อก็คงเสียดาย จึงต้องต่อสู้สุดขีดเพื่อรักษาผลประโยชน์อันมิชอบของตนเองใช่หรือไม่ จากการสำรวจยังพบว่าในแต่ละครอบครัว รายได้ของหัวหน้าครอบครัวโดยเฉลี่ย 19,421 บาทต่อเดือน รายได้ของครอบครัวเฉลี่ยอยู่ที่ 25,895 บาท นี่ยังคงเป็น "คนจน" อยู่อีกหรือ (http://bit.ly/2aYm8Eh)
ดังนั้น ดร.โสภณ จึงยืนยันได้ว่าการย้ายชุมชนป้อมมหากาฬโดยกรุงเทพมหานครจึงเป็นสิ่งที่ชอบแล้ว และสมควรได้รับการสนันสนุน
อ้างอิง
<1> ชาวเน็ตจวกลูกชายผู้ว่าฯ กทม.หลังชวนเที่ยวสวนดอกไม้ ‘ป้อมมหากาฬ’ จากการไล่รื้อชุมชน เพียงให้นทท.เซลฟี่. สยามรัฐ 29 พฤศจิกายน 2563. https://siamrath.co.th/n/200745
<2> โฆษก กทม.ตอบกลับชาวเน็ต ดราม่าสวนดอกไม้ 'ป้อมมหากาฬ' แลกกับการไล่ที่. ช่อง 3. 30 พฤศจิกายน 2563. https://ch3thailandnews.bectero.com/news/220546