อ่าน 2,363 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 143/2555: 28 พฤศจิกายน 2555
การดูงานอสังหาริมทรัพย์ย่างกุ้ง

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
sopon@area.co.th

          ย่างกุ้งอยู่ในช่วงขาขึ้น และกำลังจะก้าวกระโดดหลังจากการหยุดนิ่งไปนาน ทำให้การเติบโตเป็นไปอย่างรวดเร็วเกินความคาดหมาย การลงทุนจึงมีโอกาสดีมาก แต่ต้องอาศัยพันธมิตรทางธุรกิจชาวเมียนมาที่เชื่อถือได้ และนักลงทุนไทยก็จำเป็นต้องทำตัวให้น่าเชื่อถือเช่นกัน

          ในระหว่างวันที่ 24-27 พฤศจิกายน 2555 ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานก่อตั้งมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย และประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย ได้นำคณะผู้เกี่ยวข้องกับวงการอสังหาริมทรัพย์จากประเทศไทย เดินทางไปศึกษาดูงานอสังหาริมทรัพย์ ณ นครย่างกุ้ง โดยได้พบกับผู้แทนจากสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศเมียนมา ผู้แทนการค้าไทยประจำนครย่างกุ้ง และดูงานโครงการอสังหาริมทรัพย์หลายแห่ง

          จากข้อมูลของ CIA ข้างต้นพบว่าประเทศเมียนมามีขนาดใหญ่เทียบได้เท่ากับ 1.28 เท่าของประเทศไทย อย่างไรก็ตามประเทศนี้มีประชากรน้อยเพียง 54.584 ล้านคนหรือเพียง 81% ของจำนวนประชากรไทย แต่โดยที่ประเทศนี้มีขนาดใหญ่ จึงมีความหนาแน่นของประชากรเพียง 84 คนต่อตารางกิโลเมตร เทียบกับไทยที่มีความหนาแน่นถึง 131 คนต่อตารางกิโลเมตร ทั้งประเทศไทยและเมียนมาต่างมีประชากรในเขตเมืองเพียง 34% แสดงนัยว่าในอนาคตข้างหน้าเมื่อการอยู่อาศัยในชนบทในลักษณะการบุกรุกทำลายป่าหมดลง จำนวนประชากรเมืองจะเพิ่มขึ้น ความต้องการที่อยู่อาศัยจะเพิ่มขึ้นอีกมาก
          นครย่างกุ้งมีขนาดเล็กกว่ากรุงเทพมหานคร และมีจำนวนประชากรน้อยกว่า แต่หากเทียบในแง่ของความหนาแน่นของประชากร กลับปรากฏว่าย่างกุ้งมีความหนาแน่นมากกว่า ทั้งนี้คงเป็นเพราะในช่วงที่ผ่านมา ย่างกุ้งเน้นการพัฒนาอาคารชุดราคาปานกลางค่อนข้างถูกสำหร้บชาวย่างกุ้ง โดยเป็นห้องชุดขนาดเล็กเพียง 24-30 ตารางเมตร และมีความสูงเพียง 8 ชั้น โดยไม่มีลิฟท์ ในแง่ประชากร ประชากรเมียนมามีมีอายุเฉลี่ย 65.24 ปี ซึ่งน้อยกว่าไทยที่ 76.33 ปี การนี้แสดงว่าประชากรไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเมียนมา
          เมียนมามีขนาดเศรษฐกิจเพียง 14% หรือหนึ่งในเจ็ดของประเทศไทยเท่านั้น จึงมีรายได้ประชาชาติต่อหัวต่ำมากเช่นกัน รายได้สำคัญมาจากภาคเกษตรกรรมถึง 39.3% ขณะที่สัดส่วนของไทยมีเพียง 13.3% เท่านั้น แสดงว่ายังเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา และจึงมีประชากรที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนถึง 32.7% ในขณะที่ไทยมีประชากรยากจนเพียง 8.1% เท่านั้น ยิ่งกว่านั้นเมียนมามีสัดส่วนคนว่างงานถึง 5.5% ในขณะที่ไทยมีเพียง 0.7% เท่านั้น อย่างไรก็ตามเมียนมามีอัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าไทยมาก เพราะกำลังเติบโดอย่างก้าวกระโดด
          อาจกล่าวได้ว่าฐานะทางการเงินของเมียนมาแข็งแกร่งมาก เพราะรัฐบาลไม่มีหนี้สินภาครัฐเลย ในขณะที่ไทยมีภาระหนี้สินภาครัฐถีง 44.9% ซึ่งถือว่าน่าเป็นห่วงเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตามเมียนมามีอัตราเงินเฟ้อถึง 5% ในขณะที่ไทยมีเพียง 3.8% ดังนั้นจึงส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากค่อนข้างสูงถึง 12% และ 8% ตามลำดับ โดยในปีก่อนหน้านี้ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงถึง 16% มาแล้ว
          แม้อัตราดอกเบี้ยจะสูง แต่ประชาชนเมียนมาก็ไม่คิดจะฝากเงินไว้ในธนาคารซึ่งมีอยู่ประมาณเกือบ 10 แห่ง เพราะไม่เชื่อถือในระบบสถาบันการเงิน รัฐบาลก็เคยยกเลิกระบบเงินตรามาแล้ว ประชาชนจึงนิยมเก็บเงินสด และจับจ่ายใช้สอยเป็นเงินสดเช่นเดียวกับประเทศในอินโดจีน รวมทั้งการซื้อทองคำไว้เพื่อการลงทุนเช่นเดียวกับประเทศในอินโดจีนเช่นกัน ทั้งนี้ยังรวมถึงการฝากเงินไว้ในสถาบันการเงินในต่างประเทศ เป็นต้น
          ในด้านอสังหาริมทรัพย์ พม่าอนุญาตให้เช่าที่ดินได้ 50 ปี บวกเพิ่มอีก 10 ปีและอีก 10 ปีรวม 70 ปี ในการโอนสิทธิการถือครอง หากราคาเพิ่มขึ้น รัฐบาลคิดภาษี 10% จากราคาที่เพิ่มขึ้น (Capital Gain Tax) ในการให้เช่าทรัพย์สิน รัฐบาลก็เก็บภาษี 10% ของค่าเช่าเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีภาษีนิติบุคคลประมาณ 25% ของกำไรสุทธิ ในนครย่างกุ้งยังมีการผังเมืองโดยมีอายุผังเมืองประมาณ 5 ปีคล้าย ๆ กับไทย
          การลงทุนจากต่างประเทศนั้น มีประเทศจีนเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือฮ่องกง เกาหลี ไทย และอังกฤษตามลำดับ การลงทุนหลัก ๆ ก็คือการขุดค้นทรัพยากรแร่ธาตุต่าง ๆ รองมาเป็นอุตสาหกรรม ส่วนการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์เป็นเพียงกรณีเล็ก ๆ เท่านั้น และเน้นไปทางการลงทุนด้านโรงแรมที่พักเพราะในนครย่างกุ้งมีโรงแรมที่ได้มาตรฐานขนาด 4-5 ดาวไม่เกิน 1,000 ห้อง ยังมีความต้องการอีกเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงทำให้ค่าเช่าห้องพักในโรงแรมในนครย่างกุ้งแพงมากเมื่อเทียบกับโรงแรมในระดับเดียวกันในประเทศอื่น สำหรับค่าแรงขั้นต่ำของประชาชนในนครย่างกุ้งเป็นเงินประมาณ 180 บาทต่อวัน
          การลงทุนในเมียนมาจำเป็นต้องมีพันธมิตรธุรกิจท้องถิ่นที่เชื่อถือได้ นักลงทุนสามารถปรึกษากับสำนักงานผู้แทนการค้าไทยในเมียนมา และนักธุรกิจที่มาลงทุนก่อนหน้านี้ ชาวเมียนมามีความน่าเชื่อถือกว่าอีกหลายประเทศในอินโดจีน แต่นักลงทุนไทยก็ต้องทำตัวให้น่าเชื่อถือเช่นกัน จะอาศัยเล่ห์เหลี่ยมหรือการลงทุนแบบตีหัวเข้าบ้าน คงไม่สามารถทำได้ หรือทำได้ก็ไม่ยั่งยืน
          อาจกล่าวได้ว่าเมียนมากำลังก้าวกระโดดหลังจากยุคเผด็จการทรราชเต็มใบมาสู่ยุคประชาธิปไตย “ครึ่งใบ” แบบพม่า ๆ การพัฒนาต่าง ๆ จึงจะเกิดขึ้นอย่างก้าวกระโดดมาก มีความเป็นไปได้ที่ประเทศเมียนมาที่ล้าหลังกว่าไทยถึง 40 ปี อาจจะก้าวหน้าเทียบไทยได้ในระยะเวลาอีกไม่เกิน 15 ปี สิ่งที่น่าสนใจก็คือความล้าหลังของพม่าที่เคยล้ำหน้ากว่าไทยเมื่อ 60 ปีก่อน เกิดจากเนื้อมือของระบอบเผด็จการทรราชโดยแท้ 
          ประเทศไทยจึงพึงสังวรอย่าให้ซ้ำรอยเมียนมาหรือซ้ำรอยตัวเองอีกครั้งหนึ่ง

ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved