มีความเชื่อผิดๆ ที่ว่าโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทำให้เกิดมลภาวะและก่อมลพิษต่างๆ ในที่นี้ ดร.โสภณ จึงตรวจสอบกับกรณีจังหวัดระยอง ซึ่งเป็นศูนย์รวมอุตสาหกรรมหนักและโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพื่อพิจารณาถึงมลพิษ โดยดูจากสถิติการเจ็บป่วยต่างๆ
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ได้ตรวจสอบข้อมูลการเสียชีวิตจากโรคที่อาจเกี่ยวข้องกับมลพิษข้อมูล ซึ่งเป็นจากกระทรวงสาธารณสุขในท้องที่จังหวัดระยอง เทียบกับทั่วประเทศ และกรุงเทพมหานคร ซึ่งพบว่าอัตราการเสียชีวิตต่อประชากร 100,000 คนนั้น มีน้อยมากในจังหวัดระยอง โดยพิจารณาจากตารางต่อไปนี้
1. ในกรณี โลหิตเป็นพิษ (A40-A41) ชาวระยองมีอัตราการเสียชีวิต 38.6 คนต่อประชากร 100,000 คน ในขณะที่ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศสูงถึง 135.2 คน และในกรุงเทพมหานครมีอัตราผู้เสียชีวิต 47.6 คน แสดงว่าชาวระยองมีผู้เสียชีวิตน้อยกว่าอย่างชัดเจน
2. ในกรณี เนื้องอก (C00-D48) ชาวระยองมีอัตราการเสียชีวิต 99.3 คนต่อประชากร 100,000 คน ในขณะที่ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่ 123.3 คน และในกรุงเทพมหานครมีอัตราผู้เสียชีวิตสูงถึง 185.6 คน แสดงว่าระยองคงไม่มีมลพิษที่ทำให้คนเสียชีวิตเท่าในกรุงเทพมหานครและทั่วประเทศ
3. ในกรณี โรคเลือดและอวัยวะสร้างเลือด และความผิดปกติเกี่ยวกับกลไกของภูมิคุ้มกัน (D50-D89) ชาวระยองมีอัตราการเสียชีวิต 1.1 คนต่อประชากร 100,000 คน ในขณะที่ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่ 1.7 คน และในกรุงเทพมหานครมีอัตราผู้เสียชีวิต 1.9 คน แสดงว่าระยองก็คงไม่มีมลพิษที่ทำให้คนเสียชีวิตเท่าในกรุงเทพมหานครและทั่วประเทศ
4. ในกรณี โรคทางจิตเวชและความผิดปกติของพฤติกรรม (F01-F99) ชาวระยองมีอัตราการเสียชีวิต 1.3 คนต่อประชากร 100,000 คน ในขณะที่ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศสูงมากถึง 2.3 คน และในกรุงเทพมหานครมีอัตราผู้เสียชีวิต 0.8 คน แสดงว่าชาวระยอง แม้มีความตายจากโรคจิตเวช แต่ก็ยังเพียง 57% ของทั่วประเทศ
5. ในกรณี ความดันโลหิตสูง (I10-I15) ชาวระยองมีอัตราการเสียชีวิต 7.0 คนต่อประชากร 100,000 คน ในขณะที่ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่ 13.1 คน และในกรุงเทพมหานครมีอัตราผู้เสียชีวิต 5.9 คน แสดงว่าชาวระยอง แม้มีความตายจากโรคความดันโลหิตสูง แต่ก็ยังเพียง 53% ของทั่วประเทศ
6. ในกรณี โรคของทางเดินระบบหายใจ (J00-J98) ชาวระยองมีอัตราการเสียชีวิต 62.7 คนต่อประชากร 100,000 คน ในขณะที่ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่ 63.8 คน และในกรุงเทพมหานครมีอัตราผู้เสียชีวิต 76.0 คน แสดงว่าปัญหาระบบทางเดินหายในในระยองก็พอๆ กับทั่วประเทศ แต่ก็ยังน้อยกว่าในกรุงเทพมหานคร
7. ในกรณี โรคของระบบกล้ามเนื้อกระดูกและเนื้อเยื่อประสาน (M00-M99) ชาวระยองมีอัตราการเสียชีวิต 2.7 คนต่อประชากร 100,000 คน ในขณะที่ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่ 4.9 คน และในกรุงเทพมหานครมีอัตราผู้เสียชีวิต 3.4 คน แสดงว่าระยองก็คงไม่มีมลพิษที่ทำให้คนเสียชีวิตเท่าในกรุงเทพมหานครและทั่วประเทศ
เมื่อพิจารณาในรายละเอียดของผู้ป่วยในโรคสำคัญต่างๆ ที่อาจเชื่อมโยงกับมลพิษในจังหวัดระยองแยกตามอำเภอ จะเห็นได้ว่าในเขตอำเภอเมือง ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมหนัก นิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และโรงไฟฟ้าตั้งอยู่ นั้น แม้มีผู้ป่วยโรคติดเชื้อและเนื้องอกในอัตราที่มากกว่าอำเภออื่น แต่สำหรับโรคอื่นๆ คือ โรคเลือด ภาวะแปรปรวนทางจิต โรคความดันโลหิตสูง โรคระบบหายใจ และโรคระบบกล้ามเนื้อ กลับน้อยกว่าอำเภออื่นที่ตั้งอยู่ในเขตชนบทห่างไกลจากนิคมอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าถ่านหิน
ดังนั้นจึงไม่อาจสรุปได้ว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นสาเหตุของการป่วยต่างๆ การมีโรงไฟฟ้าถ่านหิน ไม่น่าจะก่อมลพิษอย่างมีนัยสำคัญ ประเทศไทยจึงควรวางใจที่จะพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินในภูมิภาคที่จำเป็นต่อไป