อุทยานเขาใหญ่ควรชดใช้ค่าชีวิตลุงที่ถูกช้างเหยียบตาย
  AREA แถลง ฉบับที่ 52/2564: วันอังคารที่ 19 มกราคม 2564

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ตามที่มีข่าวลุงท่านหนึ่งอายุ 80 ปี ไปกางเต้นท์ที่ผากล้วยไม้แล้วถูกช้างป่าเหยียบตาย โดยญาติผู้ตายบอกว่า “ถึงคราวเขาแล้ว” และยังมอบเงินให้มูลนิธิเขาใหญ่อีก 30,000 บาทโดยไม่ติดใจเอาความนั้น  ความจริงอุทยานเขาใหญ่ควรชดใช้ค่าชีวิตให้กับลุงคนดังกล่าวด้วยซ้ำไป

            เรื่องนี้เป็นข่าวว่า “ขณะนอนหลับ ช้างพลายดื้อ อายุกว่า 30 ปี ที่เคยนั่งทับรถนักท่องเที่ยว เดินออกจากป่าข้ามถนนจากฝั่งตรงข้ามจุดกางเต็นท์มาที่ข้างรถ เดินวนรอบรถใช้ตัวดันข้างรถจนบุบ ก่อนจะเดินไปที่เต็นท์ดึงเต็นท์ออกเหยียบไปที่ร่างของนายประโยชน์ขณะหลับอยู่ นักท่องเที่ยวได้ยินเสียงนายประโยชน์ร้องโอดโอย จากนั้นช้างเดินไปที่หน้าห้องน้ำที่อยู่ห่างกันประมาณ 15 เมตร เดินกลับมาเหยียบที่ร่างนายประโยชน์อีกครั้งเป็นครั้งที่ 2 แล้วเดินไปจุดลานกางเต็นท์ส่งเสียงร้อง "แปร๊น" อย่างแรงจนนักท่องเที่ยวที่หลับกันอยู่ตกใจตื่น มีบางคนได้ยินเสียงและเห็นช้าง จึงรีบวิ่งไปบอกเจ้าหน้าที่ที่ประจำจุดบริการออกมาแต่ไม่ทันเวลา” <1>

            ยิ่งกว่านั้นพี่สาวของผู้ตายยังบอกว่า “ถึงคราวของแกแล้ว” <2> และให้สัมภาษณ์ว่า “ไม่ติดใจเอาความ จากนั้นเข้าพบ นายอดิศักดิ์ ภูสิทธิ์วงศานุยุต หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยไม่เรียกร้องอะไร ขอเพียงทางอุทยานฯ จัดรถไปส่งศพที่วัดแถวสวนหลวง ร.9 กรุงเทพมหานคร และยังบริจาคเงินทำบุญให้น้องชาย กับมูลนิธิเขาใหญ่ด้วย เป็นเงิน 30,000 บาท” <3>
            อย่างไรก็ตามช้างเชือกนี้ ได้ถูกเจ้าหน้าที่และทีมสัตวแพทย์ของกรมอุทยานแห่งชาติ ติดปลอกคอจีพีเอส เจ้าดื้อ เพื่อศึกษาพฤติกรรม และเส้นทางการหากินของช้างบนเขาใหญ่เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2564 <4> จึงน่าจะรู้ดึว่าช้างเชือกนี้อยู่ที่ไหน การปล่อยให้ช้างเชือกนี้เข้ามาในลานกล้วยไม้ทั้งที่สามารถติดตามตัวได้ อาจแสดงถึงข้อบกพร่องในการปฏิบัติงานหรือไม่ หรือหากการติดปลอกคอนี้ทำให้ช้างหงุดหงิด ก็แสดงว่าขาดการพิจารณาให้ถ้วนถี่ถึงการติดปลอกคอหรือไม่  ยิ่งกว่านั้นบริเวณผากล้วยไม้ก็มีการเก็บค่าบริการกางเต็นท์ และมีเจ้าหน้าที่ดูแล 24 ชั่วโมง <5> จึงน่าจะถือเป็นความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานฯ

            กรณีสลดนี้หรือกรณีช้างเชือกนี้หรือสัตว์ป่าอื่นในความดูแลของกรมอุทยานฯ ซึ่งถือเป็นสมบัติของทางราชการทำความเสียหาย เช่น ไปนั่งทับรถชาวบ้าน จึงสมควรที่จะมีการฟ้องร้องเพื่อเป็นกรณีตัวอย่าง ทางราชการจะได้มีระเบียบออกมาให้ชัดเจนว่าจะดูแลนักท่องเที่ยวอย่างไร จะชดเชยความเสียหาย ชีวิตและทรัพย์สินแก่ประชาชนอย่างไร ไม่ใช่โทษแต่ว่าเป็นอุบัติเหตุ  ผู้ตายรายนี้อายุมากแล้ว และมีฐานะดี คงไม่มีปัญหาอะไร  แต่ถ้าในกรณีอื่นๆ ก็ไม่ควรให้เสียทรัพย์สิน (รถ) บาดเจ็บ หรือกระทั่งตายฟรี  รัฐควรแสดงความรับผิดชอบ

            ทางออกในอนาคตจึงเป็น

            1. อุทยานควรจับตาดูช้างหรือสัตว์ป่าดุร้ายอื่นผ่านระบบ GPS

            2. เวรยามที่ว่ามี 24 ชั่วโมง ต้องมีประสิทธิภาพจริง

            3. ตั้งกองทุนในการชดใช้ชีวิตและทรัพย์สินนักท่องเที่ยว

            4. ในกรณีใครสนใจซื้อประกันเหตุร้ายหรืออุบัติเหตุเพิ่มเติม ก็ควร (บังคับ) ให้ซื้อด้วยเพื่อจะได้เงินชดเชยเพิ่มเติม แต่อุทยานก็ไม่อาจที่จะปฏิเสธความรับผิดชอบ

            รัฐและข้าราชการที่ดีพึงรับผิดชอบต่อประชาชน

อ้างอิง

<1> ช็อก ช้างเขาใหญ่ เหยียบคุณตาวัย 80 ดับคาเต็นท์ผากล้วยไม้ คาดได้กลิ่นอาหาร. ไทยรัฐ 15 มกราคม 2564. https://www.thairath.co.th/news/local/northeast/2013023

<2> สัมภาษณ์พี่สาวของผู้เสียชีวิต 15 มกราคม 2564. https://www.youtube.com/watch?v=vnd9CJ4QSDk&t=3m13s

<3> ญาติเชิญวิญญาณ คุณตาวัย 80 กลับบ้าน หลังพลายดื้อ เหยียบตายบนเขาใหญ่. ไทยรัฐ 15 มกราคม 2564. https://www.thairath.co.th/news/local/northeast/2013375

<4> ทำไม? "เจ้าดื้อ" ช้างป่าเขาใหญ่ทำร้ายคนตาย. https://news.thaipbs.or.th/content/300326

<5> คึกคักมาก! พื้นที่เต็มแล้ว ลานกางเต็นท์ ผากล้วยไม้เขาใหญ่ 14 พฤศจิกายน 2563. ONB News. “บริเวณลานกางเต็นท์ที่ผากล้วยไม้ มีอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี แต่ค่อนข้างหนาวในหน้าฝนและหน้าหนาว ไม่ค่อยมียุง และยังมีเจ้าหน้าที่ป่าไม้คอยดูแลความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง” https://www.onbnews.today/post/41121

อ่าน 4,495 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved