AREA แถลง ฉบับที่ 148/2555: 18 ธันวาคม 2555
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ไทยควรเรียนจากนอก
ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
ในเมืองไทย บางคนกลัวภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แต่ในเมืองนอกถือสิ่งที่ดี เป็นภาษีที่ดียิ่ง “ยิ่งให้ ยิ่งได้” ขณะนี้แม้แต่กัมพูชายังมีระบบภาษีนี้ล้ำหน้าไทยเสียแล้ว
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ช่วยเพิ่มอุปทานที่ดินให้กับการพัฒนาที่ดินเพื่อให้ผู้ซื้อบ้านและนักลงทุนอสังหาริมทรัพย์สามารถหาซื้อทรัพย์สินในราคาที่ไม่แพง และช่วยป้องกันไม่ให้เมืองบุกรุกสู่เขตชนบท ที่สำคัญทำให้มีเงินไปพัฒนาท้องถิ่นได้มากมาย ประเทศที่เจริญจึงมีสาธารณูปโภคที่ดีกว่าไทย ภาษีนี้เก็บมาเพื่อใช้พัฒนาท้องถิ่นโดยตรง และเมื่อท้องถิ่นได้รับการพัฒนา มูลค่าทรัพย์สินของเราก็จะยิ่งเพิ่มพูน ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า ยิ่งเก็บภาษีได้มากเท่าไหร่ ท้องถิ่นนั้น ๆ ยิ่งเจริญ มูลค่าทรัพย์สินยิ่งเพิ่มพูน
แต่บางท่านเกรงว่าในกรณีประทศไทย ท้องถิ่นอาจจะโกงกิน อย่างไรก็ตามในปัจจุบันท้องถิ่นได้เงินจากรัฐบาลกลาง 90% จึงไม่รู้สึกเป็นเจ้าของ จึงมักมีการโกงกินกันทั่วไป แต่ถ้ารายได้หลักมาจากการจัดเก็บในท้องถิ่น แรก ๆ นักการเมืองท้องถิ่นก็ยังอาจจะโกง แต่ประชาชนในท้องถิ่นก็จะเริ่มตรวจสอบมากขึ้นเพราะภาษีเป็นภาษีจากตนเองโดยตรง การโกงก็จะลดลง ระบอบประชาธิปไตยก็จะเข้มแข็ง รัฐบาลจึงควรให้ประชาชนได้เรียนรู้
ที่กัมพูชา ประเทศที่เจริญน้อยกว่าเราก็ริเริ่มใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแล้ว ซึ่งก็คงคล้ายเรือง 3G ที่ตอนนี้เราก็ยังไม่มี แต่ลาวไป 4G แล้ว เป็นต้น โดยการนี้กัมพูชามี แนวคิดที่จะมีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาตั้งแต่ พ.ศ. 2550 แต่ไม่ผ่านสภาในปีดังกล่าว จนเมื่อช่วงสิ้นปี 2552 หลังจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2551 แล้ว สภาผู้แทนราษฎรกัมพูชาก็ ผ่านพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้ออกมา โดยนำมาใช้จริงในปี 2554
กรณีนี้ชี้ให้เห็นว่ากัมพูชามี ความรวดเร็วในการกำหนดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกว่าไทยเป็นอย่างยิ่ง ในกรณีของไทย มีการนำเสนอไว้ตั้งแต่ยุค “ประชาธิปไตยเต็มใบ” พ.ศ. 2518 มีการยกร่างใหม่และแก้ไขเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันและยังไม่อาจทราบแน่ชัดว่าจะ มีพระราชบัญญัติฉบับนี้เมื่อใด ข้อสังวรในที่นี้ก็คือ ระบบราชการของไทยอาจมีประสิทธิภาพต่ำกว่ากัมพูชา และคงมีผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองและมีที่ดินมากมายที่ไม่ต้องการให้มีภาษี ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพราะเข้าใจผิดว่าภาษีนี้จะเป็นภาระ ทั้งที่ภาษีนี้จะช่วยพัฒนาท้องถิ่น ทำให้ทรัพย์สินที่ผู้ครอบครองไว้กลับมีมูลค่าเพิ่มขึ้นรวดเร็วกว่าเดิม
สำหรับในรายละเอียดของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในกัมพูชานั้น มีการจัดเก็บเพียงอัตราเดียวคือ 0.1% โดยราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกำหนดไว้ต่ำกว่าราคาตลาดประมาณ 30% การกำหนดราคาก็ไม่ได้กำหนดเป็นรายแปลง แต่กำหนดตามเส้นถนน สำหรับอาคารนั้น ก็มีอัตราค่าก่อสร้างอาคารมาตรฐานให้ใช้คำนวณราคา
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกัมพูชา ก็มีการกำหนดข้อยกเว้น เช่น ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม และบ้านที่มีราคาต่ำกว่า 100 ล้านรีล หรือ 740,000 บาทเป็นต้น นอกจากนี้วัดวาอาราม สถานทูตหรือสถานที่สาธารณะอื่น ๆ ก็ไม่มีการจัดเก็บภาษีแต่อย่างใด ในเบื้องต้นคาดว่าจะจัดเก็บภาษีได้จากอสังหาริมทรัพย์ได้ประมาณ 180,000 ราย และจะได้เงินภาษีไม่เกิน 300 ล้านบาท ซึ่งเป็นเพียงการเริ่มต้น
ทีนี้มาดูกรณีประเทศมหาอำนาจที่เจริญกว่าเราบ้าง ในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในจังหวัดลอสแองเจลิส โดยปกติจัดเก็บในอัตรา 1% ของราคาประเมินทางราชการ (Assessed Value) ซึ่งมักจะต่ำกว่าราคาซื้อขายจริงในท้องตลาด ปกติในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วสหรัฐอเมริกา จะมีการประเมินค่าทรัพย์สินใหม่ทุกแปลงทุกปี แต่ที่จังหวัดนี้ แม้มีการปรับเปลี่ยนราคาใหม่ทุกปี ณ วันที่ 1 มกราคม แต่จะปรับให้เป็นราคาตลาดเฉพาะแปลงที่มีการซื้อขายใหม่ หรือแปลงที่มีการก่อสร้างอาคารใหม่ หรือแปลงจัดสรร เป็นต้น สำหรับอาคารเดิม จะไม่มีการประเมินใหม่ แต่มีราคาฐานเดิมที่เคยประเมินไว้ และให้ปรับราคาเพิ่มไม่เกิน 2% ในแต่ละปี
ลอสแองเจลิสยังได้พัฒนาระบบแผนที่สารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS: Geographical Information System) มากว่า 18 ปีแล้ว โดยมีการปรับปรุงระบบแผนที่ต่าง ๆ ให้ทันสมัยอยู่เสมอ โดยบางส่วนก็ซื้อข้อมูล และระบบปฏิบัติการของภาคเอกชนมาสนับสนุน แต่ระบบแผนที่นี้เป็นระบบแผนที่ที่ใช้ร่วมกันทุกหน่วยงานในจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ การไฟฟ้า การประปา หน่วยป้องกันอัคคีภัย ฯลฯ โดยนำข้อมูลมาใช้ร่วมกันและแบ่งกันไป การที่หน่วยงานต่าง ๆ ร่วมมือกันนั้น จึงทำให้ต้นทุนลดลงและแผนที่ได้รับการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ แตกต่างจากกรณีประเทศไทยที่แต่ละหน่วยงานต่างตั้งงบประมาณ GIS เอง และไม่ประสานงานกัน ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณทางด้านนี้เป็นอันมาก
ประเด็นส่งท้ายที่น่าสนใจมากก็คือ ตำแหน่ง หัวหน้าสำนักงานประเมินค่าทรัพย์สินเพื่อการเสียภาษี (Assessor) ประจำจังหวัด (County) ลอสแองเจลิส เป็นตำแหน่งทางการเมืองจากการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น จะสังเกตได้ว่าผู้บริหารจังหวัดหลาย ๆ ฝ่ายมาจากการเลือกตั้ง เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม กรณีนี้แตกต่างจากประเทศไทยที่มีการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น เช่น ตำแหน่งนายกเทศมนตรี หรือนายก อบต. ส่วนตำแหน่งสูงสุดในฝ่ายต่าง ๆ เป็นของข้าราชการประจำ ดังนั้นผู้แทนของประชาชนจึงไม่สามารถควบคุมองคาพยพขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นได้จริง
หากภาษีที่เก็บได้ใช้ในท้องถิ่นเป็นหลัก เงินที่จะส่งไปส่วนกลางก็จะน้อยลง โอกาสที่นักการเมืองและข้าราชการประจำส่วนกลางจะโกงจึงมีน้อยลง การที่ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการเสียภาษีและบริหารภาษีของตนเอง คนในท้องถิ่นที่เสียภาษีก็คงจะจับตาดูการใช้จ่ายเงินของพวกตนมากขึ้น โอกาสการโกงก็จะน้อยลง คนดี ๆ ในท้องถิ่นก็จะสนใจมาทำงานการเมืองเพื่อท้องถิ่นมากขึ้น
ระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริงก็จะเริ่มต้นด้วยการทำให้การเมืองท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง โดยประชาชนมีส่วนร่วม รูปแบบที่เป็นรูปธรรมของการมีส่วนร่วมที่แท้ก็คือการมีส่วนร่วมในการเสียภาษีเพื่อมาพัฒนาท้องถิ่นนั่นเอง ไม่ใช่การร่วมในเชิงรูปแบบหรือการร่วมแบบพูดเพ้อเจ้อเรื่อยเปื่อยในลักษณะ “สามวาสองศอก” ขององค์กรท้องถิ่นหรือองค์กรภาคประชาชนต่าง ๆ ในประเทศไทย
ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน |