ผมถามหลายคนว่าเคยไปขึ้นภูกระดึงที่จังหวัดเลยหรือยัง ก็มีหลายท่านที่ตอบว่าเคยแล้ว แต่ตอนยังเป็นคนหนุ่มสาว ที่แก่ๆ อย่างผมในวัย 63 คงมีน้อย และที่ผมเห็นมาก็แทบไม่มีใครแก่ว่าผมแล้วที่อยู่บนภูกระดึงในช่วงวันที่1-4 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา
ภูกระดึงถือเป็นอสังหาริมทรัพย์ชิ้นหนึ่งที่สร้างรายได้ได้มหาศาล ยิ่งถ้ามีการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง ก็คงยิ่งทำให้มีรายได้มากพัฒนาท้องถิ่น มาพัฒนาป่าไม้บนภู จะได้ไม่เกิดไฟไหม้ป่าบนอุทยานแห่งชาติที่ไม่น่าจะเกิดไฟไหม้ได้เลย ทั้งนี้คงเป็นเพราะเรายังขาดงบประมาณในการดูแลเท่าที่ควร ปัญหาต่างๆ จึงเกิดขึ้นกระทั่งบนแหล่งท่องเที่ยวที่ควรควบคุมได้ครบวงจรเยี่ยงภูกระดึงยังถูกไฟไหม้เสียหายหนักมาแล้ว
ตั้งแต่ผมเกิดมาจนอายุ 63 ปี ยังไม่เคยขึ้นภูกระดึงเลย การ “พิชิต” ภูกระดึงจึงเป็นความใฝ่ฝันจองผม หลายท่านคงสงสัยว่าไปไหนมา จึงไม่เคยขึ้น ผมก็คงต้องตอบว่าเพราะงานยุ่งในช่วงสร้างตัว ก็เลยไม่ได้ไปสักที จำได้ว่าเมื่อปี 2534 หรือเมื่อ 30 ปีก่อน ขณะที่ผมตั้งบริษัท ตอนนั้นอายุ 33 ปี มีน้องผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งปัจจุบันก็คือเลขาฯ ของผม ขณะนั้นอายุ 17 ปี ก็ยังไปขึ้นภูกระดึงกับเพื่อนๆ มาแล้ว
ในปี 2564 นี้ ผมจึงตกลงกับศรีภริยาว่าจะไปขึ้นภูกระดึงสักครั้งหนึ่ง ซึ่งเธอก็ยินดีที่จะไปกับผมด้วย ครั้งแรกเราซื้อตั๋วรถทัวร์ไว้ หมดเงินไป 2,400 บาท แต่เธอทิ้งตั๋วไปเพราะกลัวโควิด!?! ก็เลยเหมารถเพื่อนไปแทน และเพื่อนสองศรีพี่น้องก็เลยไปขึ้นภูด้วยกัน รวมแล้วก็มีผมอายุ 63 ปี ศรีภริยาอายุ 58 ปี เพื่อนผู้หญิง อายุ 60 ปี และพี่ชายของเพื่อนอายุ 63 ปีเท่าผม ขึ้นภูกระดึงไปด้วยกัน
เราขับรถไปกันตั้งแต่ 9 โมงเช้าของวันจันทร์ที่ 1 มกราคม ไปเรื่อยๆ จนถึงอำเภอภูกระดึง นอนพัก 1 คืน ผมเคยได้ยินว่ามีคนขับรถตอนกลางคืน แล้วไปสว่างที่ภูกระดึง แล้วก็ขึ้นเขาเลย จึงช็อกตายระหว่างทางเพราะความอ่อนเพลีย โรงแรมที่ผมพักท่านบอกว่าปีหนึ่งมีนักท่องเที่ยวมาใช้บริการเต็มที่ราว 3 เดือน ส่วนช่วงเวลาที่เหลือก็มีไม่มากนัก โดยเฉพาะช่วงปิดภู 4 เดือนแทบไม่มีผู้ใช้บริการ อาศัยว่าเป็นที่ดินเดิมที่ซื้อไว้ในราคาไร่ละ 3 หมื่นบาทเมื่อ 30 ปีก่อน แต่ปัจจุบันราคาไร่ละ 1 ล้านบาท ธนาคารจึงยอมปล่อยกู้มาให้สร้างโรงแรมแบบรีสอร์ตขนาดเล็ก
ผมมีเรื่องโชคร้ายก่อนขึ้นภู คือตอนขาไป เขาผมเริ่มตึงๆ ผมไม่เคยเจ็บเขามาก่อน พอนั่งรถไปนานๆ ประมาณ 8 ชั่วโมง เข่าก็ปวดมากขึ้นเรื่อยๆ จนสุดท้ายเดินแทบไม่ได้จนวิตกว่าจะขึ้นภูไหวหรือ ภริยาจึงพาไปร้านขายยา เภสัชกรใจดีบอกว่า ถ้าจะให้หายต้องทานยาสนนราคา 180 บาท มี 5 เม็ดเพื่อคลายกล้ามเนื้อ ผมก็ซื้อมาและทานตอนหลังอาหาร 1 เม็ด ปรากฏว่าในเช้าวันที่ 2 มกราคม อาการปวดเข่าหายเป็นปลิดทิ้ง สามารถเดินขึ้นเขาได้สบายๆ ผมมาดูกล่องยาอีกที เขาเขียนว่าเป็นยาบรรเทาอาการปวดประจำเดือนและอื่นๆ ตลกดีไหมครับ
ผมขึ้นภูกระดึงเอาในเวลา 9 โมงเช้า แวะถ่ายรูปและพักไปเรื่อยจนถึงยอดภูเวลาบ่าย 3 โมง รวมเวลาปีนขึ้นเขาถึง 6 ชั่วโมง และเดินอีก 3 กิโลเมตร ราว 1 ชั่วโมงไปที่ศูนย์นักท่องเที่ยว ผมไม่ได้ใช้ไม้เท่าค้ำยันเลย รู้สึกสะดวกกว่าที่ใช้มือคอยจับราวหรือต้นไม้ กิ่งไม้เท่าที่มี หลังจากขึ้นถึงหลังแป ก็ถ่ายรูปแล้วเดินบนพื้นราบต่อไปถึงศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอีก 1 ชั่วโมง ช่วงพักแรกคือ “ซำแฮก” (คนขึ้นถึงจุดนี้จะหอบแฮกๆ) นั้น เป็นช่วงที่เหนื่อยที่สุดก็ว่าได้ ส่วนช่วงสุดท้ายที่สูงชันที่สุดนั้น ก็ค่อยๆ เดินและมีบันไดจึงไม่ยากนัก
ในคืนแรกที่นอนบนภูนั้น อากาศหนาวมาก ผมก็เอาเสื้อผ้าไปไม่มาก แต่อาศัยว่าผมพอสู้กับอากาศหนาวได้เพราะมีไขมันมาก ก็เลยรอดไป แต่ก็ตื่นเป็นพักๆ เพราะความหนาว เอาผ้าห่มมาพับ 3 ชั้น โดยห่มช่วงบน ปล่อยช่วงล่างไม่ได้ห่มไว้ เพื่อรักษาความอบอุ่นในร่างกาย ยกเว้นเท้าที่นอกจากใส่ถุงเท้าแล้ว ยังเอาขายัดลงไปในกระเป๋าเดินทางเพื่อให้อบอุ่นขึ้นนั่นเอง
พอถึงเวลาตี 5 กว่าของวันที่ 3 มกราคม ผมก็ตื่นขึ้นมา แต่เห็นภริยาผมและสองพี่น้องที่ไปด้วยยังหลับอยู่ ผมเลยไม่ได้ปลุก กะว่าให้พวกเขาพัก เอาไว้ให้พวกเขาดูอาทิตย์ขึ้นในวันถัดมาหลังจากปรับตัวได้ดีกว่า ผมก็ออกเดินทางไปที่ดอยนกแอ่นเพียงคนเดียวพร้อมไฟฉายเล็กๆ อันหนึ่งที่ได้จากงานศพของอาจารย์มนูญ ศิริวรรณ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2563 ขณะนั้นอุณหภูมิ 3 องศา ผมเห็นมีบางคนเอาถุงนอนห่อตัวไปด้วยเพราะหนาวเหน็บ!?!
ตอนกลางวันอากาศร้อนมาก ผมใส่เสื้อเชิ้ตแขนยาวแบบคนทำงานและกางเกงผ้าธรรมดา พร้อมหมวกปีกเพื่อกันแดด เดินระยะทางเกือบ 30 กิโลเมตร โดยเดินไปดูอาทิตย์ขึ้น และเดินโดยรอบทั้งน้ำตกและหน้าผาทั้งหลาย แต่ผมสรุปบทเรียนได้ว่าเราควรเช่าจักรยานล้อกว้างจะสะดวกกว่าการเดินทั้งวัน และข้อคิดอีกอย่างเกี่ยวกับเสื้อผ้าก็คือ ผมเห็นคนแบกไปมากเกิน ผ้าห่ม ถุงนอนก็มีให้เช่า เราอาจนำเพียงลองจอนชั้นดี หรือเสื้อหนาวที่มีคุณภาพ และไม่ควรใส่หลายชั้นจนเทอะทะ
ขากลับในเช้าวันที่ 4 มกราคม พวกเราเอากระเป๋ากะไปให้ลูกหาบ แต่ก็ยังไม่มีลูกหาบเลย จึงตัดสินใจแบกของลงมาเอง กระเป๋าของผมหนักราว 5 กิโลกรัม แต่เป็นของผมเองแค่ 3 กิโลกรัมเห็นจะได้ และเป็นของภริยาอีกเกือบ 2 กิโลกรัม พอแบกลงได้ระยะหนึ่ง เห็นเพื่อนผู้หญิงที่ไปด้วยแบกพะรุงพะรัง ผมจึงช่วยเขาแบกอีก 3 กิโลกรัม รวมแล้ว ผมแบกน้ำหนัก 82 กิโลกรัมและของอีกเกือบ 8 กิโลกรัมลงเขา
บางคนว่าขาลงเขาเร็วกว่าขาขึ้นเพราะแรงโน้มถ่วง เรื่องนี้ไม่จริงเลยสำหรับผม เพราะขาลงมองเห็นความสูงชัน ต้องระวังมาก โชคดีที่ช่วงที่ผมไปไม่ใช่หน้าฝน ไม่มีทากและทางเดินไม่เปียกแฉะ แต่ก็ลื่นมากเพราะฝุ่นและใบไม้แห้ง จึงต้องระวังมาก ออกจากฐานเวลา 7 โมงเช้า ถึงข้างล่างตอนเกือบบ่ายสอง ช่วงปีนลงก็ใช้เวลา 6 ชั่วโมงเท่าขาขึ้น แต่คงเป็นเหมือนช่วงขาขึ้นที่ผมถ่ายคลิปเป็นระยะๆ ด้วย ตอนแรกผมได้ข่าวว่าขาขึ้นจะเร็ว ผมจึงจองตั๋วรถทัวร์ไว้เวลา 11:30 น. แต่ปรากฏว่า ณ เวลานั้น ผมยังปีนได้ไม่ถึงครึ่งทางเลย
ระหว่างปีนลงมีเรื่องหวาดเสียว เพราะเกือบลื่นไหลหลายครั้ง มีอยู่ครั้งหนึ่งลื่นไหลลงข้างทาง ดีที่ผมคว้าไม้ไผ่ไว้ได้ แต่ไม่ไผ่นั้นปลายแหลมมาก ผมคว้าได้ก็รีบปัดออกด้านข้าง หาไม่ก็คงแทงปักอกหรือคอเข้าไปแล้ว ผมนึกภาพเลือดไหลจ๊อกๆ ลงมาระหว่างทางแล้ว “หนาว” เลย อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เราจึงพึงระวังเป็นอย่างมาก แต่ถ้าสำหรับคนวัยหนุ่มสาว การวิ่งขึ้นลงเป็นเรื่องปกติ ข้อเข่าพวกเขาก็คงดีด้วย
ถ้ามีกระเช้าขึ้นภูกระดึงสำหรับผู้สูงวัย หญิงมีครรภ์ คนพิการ ให้ได้มีโอกาสไปชื่นชมธรรมชาติข้างบนบ้าง ก็คงจะดีเป็นอย่างมาก ทำกระเช้าไปให้ทั่วทุกบริเวณจุดท่องเที่ยวของภูกระดึงไปเลย ไม่ต้องห่วงลูกหาบ เพราะเขาจะได้มีงานอื่นทำอีกมาก แม้แต่ขยะก็ยังสามารถเก็บได้ง่ายด้วยกระเช้า มีใครป่วยไข้ ก็ใช้กระเช้าลำเลียงได้ทันท่วงที แถมยังมีเงินช่วยพัฒนาป่าและชุมชนได้อีก ท่านทราบไหมประชาชนชาวภูกระดึงต้องการให้มีกระเช้าถึง 97% ส่วนใครยังอยากปีน ก็เป็นสิทธิส่วนบุคคลที่ยังสามารถทำได้เช่นกัน
นี่จึงเป็นประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิตที่ผมได้มีโอกาสปีนภูกระดึง ถ้ามีโอกาสผมก็คงจะไปอีก