โควิด-19 ไม่ได้ทำให้ราคาบ้านทั่วโลกตกต่ำลงเลย แต่ในกรณีประเทศไทย ท่านเชื่อหรือไม่ ราคาบ้านอาจตกต่ำลงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน อาจเป็นประเทศเดียวที่ระบบที่อยู่อาศัยพังทลาย น่ากลัวจริงๆ
สิ่งที่น่าแปลกก็คือหลายประเทศในโลกนี้ติดเชื้อมาก แต่กลับไม่ส่งผลกระทบต่อราคาบ้าน มาดูกันในรายละเอียดกัน <1>
1. สหรัฐอเมริกา: จากข้อมูลของ Federal Housing Finance Agency ราคาบ้านเพิ่มขึ้นประมาณ 1% ในรอบเดือน และในรอบ 1 ปีเพิ่มขึ้น 10.2% สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดถึง 26 ล้านคนแล้ว แต่ราคาบ้านก็ยังไม่ตกต่ำลง
2. อังกฤษ: ณ เดือนตุลาคม 2563 ราคาบ้านในอังกฤษเฉลี่ยมีราคา 245,443 ปอนด์ (9.94 ล้านบาท) ราคาบ้านเพิ่มขึ้น 0.7% ในรอบ 1 เอือนที่ผ่านมา ทำให้ราคาทั้งปีเพิ่มขึ้น 5.4% ที่เป็นเช่นนี้เป็นเพราะอังกฤษมีมาตรการกระตุ้นการซื้อบ้านอยู่ในขณะนี้ จึงทำให้ราคาบ้านเพิ่มขึ้น แต่ในขณะนี้มียอดผู้ติดเชื้อราว 4 ล้านคน
3. เยอรมนี: ราคาบ้านตั้งแต่เดือนมกราคม ถึง ตุลาคม 2563 เพิ่มขึ้นแล้ว 7.1% จากดัชนี 171.87 เป็น 185.2266 เศรษฐกิจเยอรมนียังเดินหน้าต่อไปแม้จะเผชิญกับการคุกคามของโควิดก็ตาม ในขณะนี้มียอดผู้ติดเชื้อสูงบถึง 2.1 ล้านคน
4. อิตาลี: อาจถือได้ว่าประเทศนี้เป็นศูนย์กลางของโควิดก็ว่าได้ แต่ราคาบ้านก็ยังเพิ่มขึ้นจากดัชนี 98.6 ในเดือนมกราคม 2563 เป็น 99.8 ในเดือนตุลาคม 2563 หรือเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ซึ่งนับว่าไม่เลวเลยทีเดียวถ้าเทียบกับผู้ติดเชื้อถึงราว 2.5 ล้านคน
5. สิงคโปร์: ราคาบ้านก็เพิ่มขึ้น 0.8% ในรอบไตรมาสที่ 2-3 ของปี 2563 ถึงแม้ว่าโควิดจะติดกันงอมแงมในสิงคโปร์ แต่ส่วนมากติดในหมู่คนงาน ไม่ใช่ชาวสิงคโปร์เอง โดยสิงคโปร์มีผู้ติดเชื้อราว 60,000 คน
อย่างไรก็ตามในกรณีประเทศไทย ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) รายงานว่าเมื่อกลางปี 2563 ราคาที่อยู่อาศัยลดลง 3.5% และในช่วงครึ่งปีหลังอีก 1% โดยประมาณ ทำให้ราคาที่อยู่อาศัยที่เสนอขายโดยผู้ประกอบการพัฒนาที่ดินลดลง 4.5% ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามในกรณีบ้านมือสองที่เพิ่งเสร็จๆ ในเวลา 1-3 ปี ราคาแทบไม่เปลี่ยนแปลง และราคาที่อยู่อาศัยมือสองที่มีอายุ 20-30 ปี ราคายังไม่เปลี่ยนแปลงเนื่องจากราคาค่อนข้างถูกอยู่แล้ว
ย้อนกลับมาเจาะรายละเอียดเกี่ยวกับบ้านในสหรัฐอเมริกา ที่มีบางกระแสว่าจะ “ล้มละลาย” เพราะโควิดนั้น ราคาบ้านในสหรัฐอเมริกากลับเพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ โดยทั่วประเทศในรอบ 1 ปีล่าสุด ตุลาคม 2562-ตุลาคม 2563 ราคาบ้านเพิ่มขึ้น 10.2% ในขณะที่ในช่วงปี 2561-62 ราคาบ้านเพิ่มขึ้นเพียง 5.5% เท่านั้น ยิ่งกว่านั้น โดยเฉพาะในภูมิภาคนิวอิงแลนด์ ราคาบ้านเพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 12.5% ในปี 2563 ในขณะที่ปี 2562 เพิ่มขึ้นเพียง 3.6% อีกภูมิภาคหนึ่งที่ราคาบ้านเพิ่มขึ้น 12.5% ในปี 2563 ก็คือภูมิภาคภูเขา (ซึ่งอยู่ทางตอนกลางค่อนไปทางตะวันตกของประเทศ) <2>
ส่วนราคาบ้านในเดือนล่าสุดคือเดือนตุลาคมก็ปรากฏว่าในเดือนเดียวราคาบ้านก็เพิ่มเฉลี่ยถึง 1.5% โดยกลุ่มภูมิภาคนิวอิงแลนด์ บ้านมีราคาเพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 2.1% ภายในเวลาเดือนเดียวเท่านั้น หากนับจากสิ้นปี 2562 จนถึงปัจจุบัน จะพบว่าราคาบ้านในปี 2563 ในรอบ 10 เดือนล่าสุด ราคาเพิ่มขึ้น 8.8% โดยประมาณ (แต่ถ้านับครบ 12 เดือนก็จะเป็น 10.2%
จากตัวเลขข้างต้นแสดงว่าโควิดทำอะไรเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาไม่ได้มากนัก เศรษฐกิจยังเติบโตต่อเนื่อง รัฐบาลก็ยังส่งเสริมให้ผู้มีรายได้น้อยซื้อบ้านเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันสำหรับผู้มีรายได้สูง ก็มีการเก็งกำไรในที่อยู่อาศัยเช่นเดียวกัน จึงทำให้ราคาบ้านไม่ตกต่ำลงอย่างที่หลายคนเข้าใจ เศรษฐกิจยังพยายามเดินหน้าต่อไปท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ในขณะนี้ ปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการซื้อบ้านก็คือ อัตราดอกเบี้ยต่ำมาก ในขณะเดียวกันโควิด-19 ก็ทำให้มีความต้องการบ้านแนวราบมากขึ้น
ยิ่งกว่านั้นในกรณีสเปนที่ถูกโควิด-19 เล่นงานหนักจนมีผู้ติดเชื้อถึง 2.3 ล้านคน แต่จากข้อมูลพบว่าก่อนการระบาดของโควิด สถานการณ์ทางการเงินของครัวเรือนและวิสาหกิจต่างๆ ในสเปนอยู่ในภาวะที่เข้มแข็ง มี “สุขภาพดี” ขึ้นกว่าปีวิกฤติ 2551 จำนวนอสังหาริมทรัพย์ใหม่ที่สร้างขึ้นนั้นไม่มากเกินไปเมื่อเทียบกับแนวโน้มการเติบโตของประชากร (แต่ในไทยอัตราการเพิ่มขึ้นของบ้านสูงกว่าประชากรมากมากว่า 20 ปีแล้ว ทำให้บ้านค่อนข้างเฟ้อ และธนาคารสเปนยังมีสภาพคล่องที่ดีกว่า จึงสามารถรับมือกับวิกฤตในปัจจุบัน <3>
อย่างไรก็ตามผลกระทบทางเศรษฐกิจของโควิดจะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อตลาดแรงงาน และส่งผลให้ความต้องการที่อยู่อาศัยยอดขายบ้านลดลง 39.2% ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา และจะค่อยๆ ฟื้นตัวในปี 2564 รายได้ของครัวเรือนกำลังหดตัวลงตามโอกาสในการจ้างงานที่ลดลงในอนาคต ซึ่งอาจนำไปสู่การประหยัดจากภาคครัวเรือนและการเลื่อนการตัดสินใจซื้อบ้าน
ส่วนตลาดบ้านสำหรับชาวต่างชาติซึ่งคิดเป็น 15% ของทั้งหมดในปี 2563 จะได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะคงมีความต้องการน้อยมาก และใบอนุญาตก่อสร้างใหม่อาจลดลง 40% ภายในปี 2563 อสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือโรงแรมเพราะการท่องเที่ยวคงไม่เกิดขึ้นในเวลาอันสั้น แต่ทั้งนี้ก็เป็นไปทั่วโลก เป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ส่วนภาคที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุดก็คงเป็นบ้านเช่า
ในกรณีประเทศไทย “จุดตาย” ก็คือ เราใช้จ่ายเงินมากเกินไปกับโควิด-19 โดยไทยใช้งบเยียวยาสูงสุดในภูมิภาค แต่ยังไม่ตรงจุดมากนัก นางเบอร์กิท ฮานสล์ ผจก. ธ.โลกในไทยกล่าว . . .ที่ผ่านมาถือว่าไทยจัดสรรงบประมาณมากถึง 13% ของจีดีพีของปีนี้ ถือว่ามีสัดส่วนสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออก การใช้เงินอย่างขาดประสิทธิภาพและไม่ตรงกลุ่มเป้าหมาย ทำให้เศรษฐกิจไม่ได้รับการแก้ไข และอาจเสื่อมทรุดลงในอนาคตได้ <4>
ยิ่งกว่านั้นวินัยทางการเงินเคหะการก็ปรากฏว่าหย่อนยานมาก เราอำนวยสินเชื่อ 95%-120% ยิ่งกว่านั้นสถาบันการเงินหลายแห่งก็ประเมินค่าทรัพย์สินเอง ทำให้อาจขาดความเป็นกลาง และน่าจะมีต้นทุนสูงกว่าการว่าจ้างบริษัทประเมิน ปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้ระบบสินเชื่อของไทยได้รับความเสียหาย กลายเป็น NPLs และ NPAs กันอย่างมหาศาล สถาบันการเงินที่ว่าเข้มแข็งกว่าในช่วงปี 2540 ก็อาจพังทลายลงได้เพราะหนี้เสียอาจจะพุ่งขึ้นมหาศาลได้
เมื่อหนี้เสียเพิ่มราคาบ้านก็คงต้องลดลง ในปรากฏการณ์ปี 2540-2543 ราคาบ้านลดลงประมาณ 20% แต่ในปี 2564 นี้ราคาบ้านคงไม่ได้ลดลงถึงขนาดนั้น อาจจะไม่เกิน 10% ทั่วทั้งตลาด คนที่ซื้อเก็งกำไรหวังให้คนมาเช่า (ตามที่พวกโค้ชสอนไว้บ่อยๆ) ก็ถึงคราวจะต้อง “เจ็บตัว” เพราะหาคนเช่าได้ยาก หรือต้องลดค่าเช่าลงมากๆ จึงจะหาค่าเช่าได้ อย่างนี้ราคาก็ลด ค่าเช่าก็ลด
วิกฤติอาจเกิดขึ้นกับตลาดที่อยู่อาศัยได้ โปรดสังวร
อ้างอิง
<1> ราคาบ้านทั่วโลกยัง'เพิ่ม'สวนกระแสโควิด. กรุงเทพธุรกิจ 22 ธันวาคม 2563. https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/651715
<2> อเมริกันไม่หวั่นโควิด ราคาบ้านเพิ่ม 10% ในรอบปี. AREA แถลง. 8 มกราคม 2564. https://bit.ly/2XiLEik
<3> อย่ากลัวโควิดพังอสังหาฯ ขนาดสเปนยังสบาย. AREA แถลง. 8 มกราคม 2564. https://bit.ly/2XkQV90
<4> โควิด-19: ธนาคารโลกคาดสิ้นปีเศรษฐกิจไทยติดลบอย่างน้อย 8.3% ต่ำสุดในภูมิภาคอาเซียน ด้าน ครม.มีมติต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีกหนึ่งเดือน. https://bbc.in/2HVHeJH