AREA แถลง ฉบับที่ 4/2556: 7 มกราคม 2556
สาเหตุที่ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นสูงและลดลง
ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ระบุ ราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง เพราะสาธารณูปโภค เป็นสำคัญ โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของรถไฟฟ้า ทำให้ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นอย่างมาก
จากการวิจัยราคาที่ดินต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ.2537 ของศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส พบว่า ในรอบ 5 ปีล่าสุด (พ.ศ.2550-2555) ราคาที่ดินบางบริเวณขึ้นสูงมาก แต่บางบริเวณกลับตก นักลงทุนจึงพึงเรียนรู้สาเหตุและลักษณะการเปลี่ยนแปลงราคาที่ดิน
พื้นที่ที่ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นมาก ได้แก่:
อันดับ 1 ถนนสุขุมวิท บริเวณอาคารไทม์สแควร์ (I3-1) มีราคาเมื่อ พ.ศ.2550 เป็นเงินเพียง 500,000 บาทต่อตารางวา เพิ่มขึ้นเป็น 1,300,000 บาทต่อตารางวา หรือกลายเป็น 2.6 เท่าของราคาเดิม เนื่องจากการที่ราคาเพิ่มสูงขึ้นมากเช่นนี้ เพราะอิทธิพลของรถไฟฟ้าโดยตรง
อันดับ 2 ถนนวิทยุ (I2-5) มีราคาเมื่อ พ.ศ.2550 เป็นเงินเพียง 550,000 บาทต่อตารางวา เพิ่มขึ้นเป็น 1,300,000 บาทต่อตารางวา หรือกลายเป็น 2.4 เท่าของราคาเดิม เนื่องจากการพัฒนาโครงการธุรกิจอย่างเข้มข้นต่อเนื่องในพื้นที่นี้
อันดับ 3 ถนนสุขุมวิท 21 (I3-2) มีราคาเมื่อ พ.ศ.2550 เป็นเงินเพียง 360,000 บาทต่อตารางวา เพิ่มขึ้นเป็น 800,000 บาทต่อตารางวา หรือกลายเป็น 2.2 เท่าของราคาเดิม เช่นเดียวกันเป็นเพราะการที่ราคาเพิ่มสูงขึ้นมากเช่นนี้ เพราะอิทธิพลของรถไฟฟ้าโดยตรง
อันดับ 4 ถนนสุขุมวิท บริเวณสถานีขนส่งเอกมัย (I3-4) มีราคาเมื่อ พ.ศ.2550 เป็นเงินเพียง 340,000 บาทต่อตารางวา เพิ่มขึ้นเป็น 750,000 บาทต่อตารางวา หรือกลายเป็น 2.2 เท่าของราคาเดิม ผิดกับบริเวณถนนพระรามที่ 4 กล้วยน้ำไท ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นน้อยมาก เพราะไม่มีรถไฟฟ้า
อันดับ 5 บริเวณสยามสแควร์ (I2-4) มีราคาเมื่อ พ.ศ.2550 เป็นเงินเพียง 700,000 บาทต่อตารางวา เพิ่มขึ้นเป็น 1,500,000 บาทต่อตารางวา หรือกลายเป็น 2.1 เท่าของราคาเดิม เพราะเป็นศูนย์รวมรถไฟฟ้า BTS และมีการพัฒนาเชิงพาณิชย์ต่อเนื่อง
อันดับ 6 ถนนสุขุมวิท 62 บางจาก (G3-1) มีราคาเมื่อ พ.ศ.2550 เป็นเงินเพียง 170,000 บาทต่อตารางวา เพิ่มขึ้นเป็น 350,000 บาทต่อตารางวา หรือกลายเป็น 2.1 เท่าของราคาเดิม เพราะเป็นจุดเชื่อมต่อของรถไฟฟ้า BTS ทำให้เกิดการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทอาคารชุดมากมาย
อันดับ 7 ถนนอโศกดินแดง (I1-3) มีราคาเมื่อ พ.ศ.2550 เป็นเงินเพียง 160,000 บาทต่อตารางวา เพิ่มขึ้นเป็น 320,000 บาทต่อตารางวา หรือกลายเป็น 2.0 เท่าของราคาเดิม อันเป็นผลจากการพัฒนาที่ดินอย่างเข้มข้นบริเวณถนนรัชดาภิเษก
อันดับ 8 ถนนพญาไท (I2-3) มีราคาเมื่อ พ.ศ.2550 เป็นเงินเพียง 350,000 บาทต่อตารางวา เพิ่มขึ้นเป็น 700,000 บาทต่อตารางวา หรือกลายเป็น 2.0 เท่าของราคาเดิม เนื่องจากการที่ราคาเพิ่มสูงขึ้นมากเช่นนี้ เพราะอิทธิพลของรถไฟฟ้าโดยตรง
อันดับ 9 ถนนสาทร (I4-3) มีราคาเมื่อ พ.ศ.2550 เป็นเงินเพียง 550,000 บาทต่อตารางวา เพิ่มขึ้นเป็น 1,100,000 บาทต่อตารางวา หรือกลายเป็น 2.0 เท่าของราคาเดิม เนื่องจากตั้งอยู่ใจกลางเมือง และมีรถไฟฟ้าในบริเวณใกล้เคียง
อันดับ 10 ถนนพหลโยธินช่วงต้น (I1-1) มีราคาเมื่อ พ.ศ.2550 เป็นเงินเพียง 300,000 บาทต่อตารางวา เพิ่มขึ้นเป็น 600,000 บาทต่อตารางวา หรือกลายเป็น 2.0 เท่าของราคาเดิม ซึ่งก็เช่นเดียวกัน เป็นผลจากรถไฟฟ้าโดยตรง
ในทางตรงกันข้าม พื้นที่ที่ราคาที่ดินลด มีที่สำคัญดังนี้:
อันดับ 1 ถนนเลียบคลอง 15 กม.ที่ 5 (A6-4) มีราคาเมื่อ พ.ศ.2550 เป็นเงินถึง 3,500 บาทต่อตารางวา ลงลงเหลือเพียง 2,500 บาทต่อตารางวา หรือเหลือเพียง 71% ของราคาเดิม เพราะขาดสาธารณูปโภคใหญ่ ๆ ในพื้นที่
อันดับ 2 ตรงข้ามศูนย์ศิลปาชีพบางไทร (A1-2) มีราคาเมื่อ พ.ศ.2550 เป็นเงินถึง 5,500 บาทต่อตารางวา ลงลงเหลือเพียง 4,600 บาทต่อตารางวา หรือเหลือเพียง 84% ของราคาเดิม เพราะมีการกำหนดห้ามก่อสร้างในบริเวณนี้ ทำให้ราคาที่ดินถูกจำกัดไว้
อันดับ 3 เขตหนอกจอก (E4-2) มีราคาเมื่อ พ.ศ.2550 เป็นเงินถึง 11,300 บาทต่อตารางวา ลงลงเหลือเพียง 10,000 บาทต่อตารางวา หรือเหลือเพียง 88% ของราคาเดิม เพราะห่างไกลความเจริญในใจกลางเมือง
อันดับ 4 ถนนปทุมธานี สามโคก กม.16 (N7-3) มีราคาเมื่อ พ.ศ.2550 เป็นเงินถึง 10,000 บาทต่อตารางวา ลงลงเหลือเพียง 9,000 บาทต่อตารางวา หรือเหลือเพียง 90% ของราคาเดิม เพราะห่างไกลความเจริญ และยังมีพื้นที่อื่นพัฒนาอีกมาก
อันดับ 5 ถนนลำต้อยติ่ง (E5-2) มีราคาเมื่อ พ.ศ.2550 เป็นเงินถึง 5,300 บาทต่อตารางวา ลงลงเหลือเพียง 5,000 บาทต่อตารางวา หรือเหลือเพียง 94% ของราคาเดิม เพราะสาธารณูปโภคมีจำกัด
อันดับ 6 ถนนทองสัมฤทธิ์ (E5-3) มีราคาเมื่อ พ.ศ.2550 เป็นเงินถึง 10,000 บาทต่อตารางวา ลงลงเหลือเพียง 9,500 บาทต่อตารางวา หรือเหลือเพียง 95% ของราคาเดิม เพราะขาดสาธารณูปโภคใหญ่ ๆ ในพื้นที่
อันดับ 7 บางปู (H7-1) มีราคาเมื่อ พ.ศ.2550 เป็นเงินถึง 11,500 บาทต่อตารางวา ลงลงเหลือเพียง 11,000 บาทต่อตารางวา หรือเหลือเพียง 96% ของราคาเดิม เพราะเป็นพื้นที่ ๆ ไม่มีกิจกรรมใด ๆ ในช่วงที่ผ่านมา
ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าการก่อสร้างสาธารณูปโภค โดยเฉพาะทางด่วน รถไฟฟ้า จะเป็นตัวแปรสำคัญ และหากลงทุนด้วยการวางแผนที่ดีเพียงพอ จะทำให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อผู้ลงทุน รัฐบาล ประชาชน และสังคมโดยรวม ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน |