AREA แถลง ฉบับที่ 10/2556: 16 มกราคม 2556
ทวายคอดคอดกระและระบบทางด่วน: ข้อสังเกตบางประการ
ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
สิ่งที่ประเทศไทยควรมีเพื่อเสริมศักยภาพของประเทศก็คือคลองคอคอดกระซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ จึงควรวางแผนระยะยาว แต่ทุกวันนี้ประเทศไทยเรายังติดกับปัญหาเล็ก ๆ เช่น การประกาศขึ้นค่าทางด่วนเป็นคราว ๆ หรือการ “ซื้อเวลา” ในการแก้ปัญหา “หญ้าปากคอก” ของโครงสร้างพื้นฐาน
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ในฐานะผู้อำนวยการโรงเรียนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย ได้นำคณะนักศึกษาหลักสูตรการประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์มืออาชีพ รุ่นที่ 17 ดูงานการพัฒนาพื้นที่ด่านพุน้ำร้อน อำเภอเมืองกาญจนบุรี จึงนำข้อสังเกตบางประการมานำเสนอเผยแพร่ พร้อมกับข้อคิดเกี่ยวกับโครงการพัฒนาคอคอดกระ และระบบทางด่วนที่มีประเด็นเรื่องการขึ้นค่าทางด่วนและการผ่อนผันให้รถบรรทุกน้ำหนักเกินวิ่งได้
ในกรณีทวาย-บ้านพุน้ำร้อน จังหวัดกาญจนบุรี ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้แถลงไว้ใน AREA แถลง ฉบับที่ 12/2555: 30 มกราคม 2555 ว่าการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวายและเส้นทางคมนาคมไปสู่บ้านพุน้ำร้อนจังหวัดกาญจนบุรี จะทำให้จังหวัด “กึ่งทางตัน” เช่น กาญจนบุรีนี้ มีโอกาสเติบโตทางเศรษฐกิจสูง และใน AREA แถลง ฉบับที่ 20/2555: 21 กุมภาพันธ์ 2555 ได้ชี้ให้เห็นถึงทำเลเด่นด่านไทย-พม่าเมืองกาญจนบุรี ที่จะมาจากการพัฒนานี้
อย่างไรก็ตาม ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้เสนอใน AREA แถลง ฉบับที่ 106/2555: 7 กันยายน 2555 ถึงกรณีการพัฒนาทวายและบ้านพุน้ำร้อน กาญจนบุรีนี้ ว่า “ไม่เห็นกระรอก อย่าเพิ่งโก่งหน้าไม้” กล่าวคือหลายอย่างยังไม่ได้เป็นจริงตามแผนได้ นักลงทุนพึงให้ความระมัดระวัง เช่น โครงการสาธารณูปโภคที่ว่าจะดำเนินการ ก็ยังค่อนข้างล่าช้า โดยเฉพาะการตัดถนนจากบ้านพุน้ำร้อนถึงบางใหญ่ นนทบุรี ยังค่อนข้าง “เลือนราง” ล่าช้า
นอกจากนี้การสร้างทางรถไฟเชื่อมต่อระหว่างบ้านพุน้ำร้อน กับสถานีน้ำตก ไทรโยค ซึ่งยังไม่มีเขตทางใด ๆ เพราะไม่มีการเวนคืน ดังนั้นจึงคงต้องใช้เวลาอีกนาน ส่วนกรณีการตั้งนิคมอุตสาหกรรมในชายแดนไทย-พม่า ฝั่งไทยโดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยนั้น ขณะนี้ยังไม่มีที่ดิน เพราะเป็นที่ดินราชพัสดุ ดูแลอยู่โดยทหาร ยังไม่รู้จะใช้ที่ดินบริเวณใด ที่สำคัญก็คืออาจตั้งไม่สำเร็จ เพราะหากต่างชาติจะตั้งโรงงาน ก็ตั้งฝั่งพม่าที่มีเงื่อนไขดีกว่า ค่าแรงถูกกว่า และลงทะเลส่งออกจากท่าเรือน้ำลึกทวาย คงจะสะดวกกว่า แต่ยังคงต้องใช้เวลาอีกนับสิบปีที่ท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายจะสำเร็จ
ในครั้งนี้ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ในทางยุทธศาสตร์คงเป็นไปได้ยากที่ภาคเอกชนจะผลิตสินค้าที่นิคมอุตสาหกรรมทวายแล้วส่งขึ้นรถไฟมาบ้านพุน้ำร้อน แล้วไปลงเรือที่ท่าเรือมาบตาพุด หรือต่อไปยังกัมพูชา เพื่อลงท่าเรือน้ำวุงเต่าของเวียดนาม แม้การจราจรที่ช่องแคบมะละกะจะติดขัดและมีโจรสลัดเป็นระยะ ๆ แต่การผลิตสินค้าที่ทวายย่อมควรส่งออกที่ท่าเรือน้ำลึกทวายมากกว่า หาไม่จะสร้างท่าเรือดังกล่าวไว้ทำไม
ที่สำคัญการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวาย อาจถือเป็นการคุกคามผลประโยชน์ของประเทศไทยด้วยซ้ำไป เนื่องจากมีขนาดใหญ่กว่ามาบตาพุด ซึ่งเป็นท่าเรือและนิคมอุตสาหกรรมหนักขนาดใหญ่ที่สุดของไทย และแทบจะมีโอกาสขยายตัวต่อได้ยากเพราะการขัดขวางของเอ็นจีโอร่วมกับกลุ่มนักประท้วงต่าง ๆ ซึ่งจากการสำรวจพบว่าไม่ใช่ความเห็นหลักของคนในพื้นที่ที่ต้องการให้อุตสาหกรรมขยายตัวออกไปต่างหาก
ด้วยเหตุนี้ หากประเทศไทยทบทวนการขุดคอคอดกระ ซึ่งเป็นส่วนที่แคบที่สุดของแหลมมลายูอยู่ในเขตบ้านทับหลี ตำบลมะมุ อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง กับ อำเภอสวี จังหวัดชุมพร ประมาณกิโลเมตรที่ 545 ของถนนเพชรเกษม มีระยะทางจากฝั่งทะเลตะวันตกจรดฝั่งตะวันออกกว้างเพียง 50 กิโลเมตร โครงการนี้คิดมาตั้งแต่สมัยพระนารายณ์มหาราช ในการที่จะขุดคลองตัดผ่านจนกระทั่งถึงรัชกาลที่ 4 ฝรั่งเศสก็คิดขุดเช่นกัน แต่เนื่องด้วยความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับอังกฤษที่เป็นเจ้าของกิจการท่าเรือในปีนังและสิงคโปร์โครงการนี้จึงระงับไป ในสมัยนายปรีดี พนมยงค์ได้เสนอให้ขุดเช่นกัน แต่ก็ไม่ได้ดำเนินการ
หากดำเนินการสำเร็จ ท่าเรือทวาย ก็คงแทบไม่มีประโยชน์อะไร สิงคโปร์ มาเลเซียที่มีการพัมนาท่าเรือขนาดใหญ่สุดแหลมมาลายูก็คงได้รับผลกระทบกับการนี้ นอกจากนี้ไทยยังจะสามารถสร้างนิคมอุตสาหกรรม และอื่น ๆ ได้อีกมาก ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยได้ประโยชน์มหาศาลและเจริญขึ้นในระยะเวลาอันสั้น หากไทยได้รับความร่วมมือจากประเทศมหามิตรอื่น ๆ เช่น จีน โครงการนี้อาจประสบความสำเร็จได้ ยิ่งกว่านั้นด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ความเป็นไปได้ยิ่งมีมากขึ้น ดังนั้นประเทศไทยจึงควรขุดคอคอดกระเป็นอย่างยิ่ง
หากมองย้อนกลับมาดูประเทศไทยในด้านโครงสร้างพื้นฐานขณะนี้ ยังถือว่ายัง “ย่ำอยู่กับที่” โดยเมื่อวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา ยังมีข่าวว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ยังคงยังไม่พิจารณาปรับอัตราค่าทางด่วนในเร็ววันนี้ ด้วยเกรงจะกระทบต่อประชาชน อย่างไรก็ตามในกรณีค่าทางด่วนนี้ ควรมีการวางแผนกันล่วงหน้า และแจ้งให้ประชาชนได้รับทราบล่วงหน้าว่าจะมีการปรับค่าทางด่วนเป็นเท่าใดในช่วงเวลาใดตามสัญญาบ้างจนสิ้นสุดระยะเวลาสัมปทาน ไม่ใช่พิจารณาและเลื่อนการพิจารณาไปเป็นครั้ง ๆ แบบเฉพาะกิจด้วยความเกรงผลกระทบทางการเมือง
หรืออีกประเด็นหนึ่งในข่าวเดียวกันก็บอกว่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมให้ขยายเวลาผ่อนผันน้ำหนักบรรทุกของรถพ่วง 7 เพลา 24 ล้อ ที่ 58 ตัน เป็นเวลา 1 ปี หรือสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2556 จากเดิมที่จะผ่อนผันให้ 6 เดือน เพราะต้องการให้ผู้ประกอบการมีเวลาปรับตัว 6 เดือน การบริหารรัฐกิจที่ไม่เด็ดขาด เพื่อประโยชน์สาธารณะ อาจทำให้ผลประโยชน์ของประชาชนเสียหายได้ ที่สำคัญ การกำหนดนโยบายเช่นนี้ควรดำเนินการแล้วเสร็จจนได้ข้อสรุปมานานแล้ว แทนที่จะ “ซื้อเวลา” อยู่ร่ำไป
จะเห็นได้ว่ารัฐบาลควรวางนโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในระยะยาว และหยุดการแก้ไขปัญหาเล็ก ๆ แบบเฉพาะหน้าตามกระแสการเมือง
อ้างอิง
ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน |