ในวิชาชีพต่างๆ ผู้ประกอบวิชาชีพต้องมีการพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่อง (Continuing Professional Development: CPD Program) เพื่อเพิ่มพูนความรู้อันเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมของวิสาหกิจ (Corporate Social Responsibility) โดยเฉพาะการรับผิดชอบต่อลูกค้าโดยแสดงออกว่านักวิชาชีพนั้นๆ มีการพัฒนาความรู้ความสามารถต่อเนื่อง CPD ถือเป็นเรื่องมาตรฐานและจรรยาบรรณทางวิชาชีพหรือเป็น Soft Laws ในวงวิชาชีพ
The Board of Valuers, Appraisers, Estate Agents and Property Managers โดยมีอธิบดีกรมประเมินค่าทรัพย์สินของมาเลเซีย (JPPH) เป็นประธาน เป็นองค์กรควบคุมวิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สิน นายหน้าและผู้บริหารทรัพย์สินของมาเลเซีย คณะกรรมการนี้ได้ออก Guidelines on Continuing Professional Development (CPD) for Registered Valuers, Appraisers and Estate Agents โดยได้ปรับปรุงเป็นฉบับที่ 3 (ล่าสุด) เมื่อปี 2560 <1> ซึ่งก็คล้ายกับขององค์กรควบคุมวิชาชีพในสิงคโปร์ และประเทศตะวันตกทั้งหลาย
CPD ของมาเลเซียกำหนดไว้ปีละ 10 ชั่วโมง โดยกิจกรรม CPD ไม่ใช่มีเฉพาะการอบรมต่างๆ แต่ยังรวมถึงกิจกรรมเหล่านี้
1. การเข้าร่วมประชุมกรรมการวิชาชีพ เช่นที่จัดขึ้นโดยคณะกรรมการเอง หรือ Royal Institution of Chartered Surveyors (RICS) และขององค์กรวิชาชีพทั้งในและต่างประเทศ เช่น การประชุมคณะกรรมการ ประชุมคณะกรรมการวินัย เป็นต้น โดยให้นับเป็นเวลา 0.5 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 6 ชั่วโมง
2. การเข้าร่วมการประชุม สัมมนาทางวิชาชีพ เช่น งานประชุมประจำปีของสมาคม World Valuation Congress, ASEAN Valuers Association, Pan Pacific Congress of Real Estates, FIABCI, International Federation of Surveyors (FIG), RICS และอื่นๆ ที่คณะกรรมการกำหนด การประชุมเหล่านี้มักกินเวลา 2-3 วัน แต่ให้นับได้ไม่เกิน 10 ชั่วโมง
3. กิจกรรมศึกษานอกเวลาในสถาบันการศึกษาที่ได้รับการรับรอง โดยได้ไม่เกิน 10 ชั่วโมง
4. การศึกษาวิจัย หรือการเขียนบทความทางวิชาการและได้รับการตีพิมพ์ โดยได้ไม่เกิน 10 ชั่วโมง
5. การศึกษาโดยการอ่านตำรา บทความที่เกียวข้องกับวงการอสังหาริมทรัพย์ โดยนับได้ไม่เกิน 1 ชั่วโมงของ CPD
6. การเป็นวิทยากรในสถาบันการศึกษาต่างๆ
7. การได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง เป็น
การให้มีที่มาของ CPD ที่หลากหลายจะทำให้นักวิชาชีพคือผู้ประเมินค่าทรัพย์สินในที่นี้มีการเรียนรู้จากหลายแหล่ง ไม่ถูกผูกขาดโดยองค์กรใดองค์กรหนึ่งโดยเฉพาะ ซึ่งหากมีการผูกขาดก็จะทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมในการแข่งขันเสรี และทำให้ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินตกอยู่ใต้อิทธิพลขององค์กรวิชาชีพองค์กรใดองค์กรหนึ่ง และทำให้ค่าใช้จ่ายในการเพิ่มพูนความรู้สูงขึ้น อย่างเช่นในทุกวันนี้ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินแต่ละคนอาจต้องใช้เงินนับหมื่นบาทในการศึกษาจากองค์กรวิชาชีพบางแห่ง
ยิ่งกว่านั้นแม้แต่ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินกันเอง ก็อาจจัดการอบรมความรู้ต่างๆ เองได้ เช่น ในอนาคต อาจมีสหภาพแรงงานผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน ในสังกัดสภาองค์การลูกจ้าง เพื่อจัดการศึกษากันเองในราคาถูก ไม่เป็นภาระแก่นักวิชาชีพ ก็น่าจะสามารถดำเนินการได้ ทั้งนี้เพราะผู้ประเมินค่าทรัพย์สินจากหลากหลายบริษัทหรือในสถาบันการเงินก็อาจรวมกันตั้งเป็นสหภาพแรงงานเพื่อปกป้องสิทธิประโยชน์ของตนโดยตรง และเพื่อธำรงความเป็นกลางทางวิชาชีพโดยไม่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของเจ้าของบริษัท
อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการพัฒนาวิชาชีพโดย CPD ก็คือการแสดงความรับผิดชอบต่อผู้ใช้บริการ เพื่อให้ผู้ใช้บริการมีความมั่นใจว่าผู้ประเมินค่าทรัพย์สินได้ Update ความรู้ในด้านอสังหาริมทรัพย์ การพัฒนาเมือง การพัฒนาที่ดิน ผังเมือง เทคนิคการประเมินค่าทรัพย์สิน และการสร้างเครือข่ายผู้ประเมินค่าทรัพย์สินทั้งในและระหว่างประเทศ เพราะในอนาคต การประเมินค่าทรัพย์สินในภูมิภาคนี้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกันในระหว่างผู้ประเมินค่าทรัพย์สินระดับ SMEs ทั้งหลาย โดยไม่ถูกผูกขาดโดยผู้ประเมินค่าทรัพย์สินข้ามชาติ
CPD จึงเป็นกุญแจสำคัญสำหรับการพัฒนานักวิชาชีพผู้ประเมินค่าทรัพย์สินในประเทศไทย
อ้างอิง
<1> The Board of Valuers, Appraisers, Estate Agents and Property Managers. Guidelines on Continuing Professional Development (CPD) for Registered Valuers, Appraisers and Estate Agents. https://lppeh.gov.my/WP2016/wp-content/uploads/2017/02/cpd-finalized-guidelines_6feb2017.pdf