โรงแรมทั่วโลกวอดวาย แต่ไทยมีทางแก้
  AREA แถลง ฉบับที่ 231/2564: วันอังคารที่ 23 มีนาคม 2564

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            แหล่งท่องเที่ยวทั่วโลกประสบปัญหาหนักหนาสาหัสไปตามๆ กันเพราะโควิด-19 เนื่องจากคนไม่สามารถเดินทางไปมาได้เช่นแต่ก่อน  เราจะทำอย่างไรให้รอดได้

            จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปลายปี 2562 ทำให้การท่องเที่ยวตลอดปี 2563 เงียบเหงามากโดยเฉพาะในประเทศไทยและประเทศที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของโลก สถานการณ์ดูย่ำแย่ไปหมด ทั้งนี้เพราะผู้คนไม่สามารถไปท่องเที่ยวต่างประเทศเยี่ยงแต่ก่อน การเดินทางอบรม สัมมนาข้ามชาติก็ทำ (แทบ) ไม่ได้ จนกระทั่งกัปตัน นักบิน แอร์โฮสเตทยังมีอันตกงานเป็นจำนวนมาก

            ในประเทศไทยเอง สมาคมโรงแรมไทยบอกว่ามีโรงแรมสมาชิกปิดถึง 80% แต่สมาคมมีสมาชิกเพียง 930
โรงแรมเท่านั้น  โรงแรมในไทยมีทั้งหมด 54,200 แห่ง โดยส่วนมากไม่ได้เป็นสมาชิกของสมาคม และเชื่อว่ามีเป็นจำนวนมากที่ปิดกิจการไปในระยะที่เกิดโควิด-19 (https://cutt.ly/Pk9b0Mo) และหลายแห่งก็อาจเปิดเพียงบางส่วน หรือเปิดเพื่อให้สามารถดูแลพนักงานไปได้ในระยะหนึ่ง  เชื่อว่ามีพนักงานโรงแรมเป็นจำนวนมากที่ลงทะเบียนว่ามีงานทำเป็นพนักงานโรงแรม แต่แท้จริงแล้วไม่ได้รับค่าจ้าง  อันนี้เป็นข้อมูลที่ผมได้รับในฐานะกรรมการสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย

            เรามาดูที่ประเทศอื่นๆ กันบ้าง ที่บราซิลโดยเฉพาะจังหวัดบาเฮียซึ่งมีนครซัลวาดอร์-เมืองหลวงเก่าตั้งอยู่ รวมทั้งในนครใหญ่ๆ ปกติจะมีงานคาร์นิวัลโดยมีการแห่แหนกันทั่วประเทศ  แต่มาในปีนี้โควิด-19 ทำให้บราซิลต้องยกเลิกการจัดงานนี้ไป  นักท่องเที่ยวก็หายวับไป เงินหมุนเวียนประมาณ 45,000 ล้านบาทจากงานนี้ พร้อมด้วยตำแหน่งงาน 25,000 ตำแหน่งก็อันตรธานไปด้วย (https://cutt.ly/gk9klDB)  ผมเคยไปประเมินโรงแรมประเภท EcoResort เพื่อการท่องเที่ยวในนครซัลวาดอร์นี้ ปรากฏว่าในขณะนี้โรงแรมก็มีมาตรการรักษาความปลอดภัยจากโควิด-19 อย่างเข้มงวด ซึ่งย่อมส่งผลลบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก

            ในแถบทะเลแคริเบียน ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวหลักของโลกแห่งหนึ่งโดยมีประเทศเม็กซิโกและประเทศในทะเลแคริเบียนเป็นประเทศแหล่งท่องเที่ยว ปรากฏว่าการท่องเที่ยวในแถบนี้น่าจะลดรายได้ลง 19% และจำนวนนักท่องเที่ยวลดเหลือแค่ประมาณ 40% เท่านั้น (https://cutt.ly/3k9QuAT) ซึ่งก็ยังมีนักท่องเที่ยวเหลือมากกว่าที่เข้ามาในประเทศไทยเสียอีก ณ เมืองท่องเที่ยวหลักคือเมืองแคนคูนมีมาตรการว่า

  1. ไม่จำเป็นต้องมีการตรวจโควิด-19
  2. ไม่จำเป็นต้องตรวจก่อนบินออกจากเมือง
  3. การตรวจในเมืองนี้ตรวจได้ที่โรงแรมและส่วนมากจะฟรี

            ส่วนโรงแรมในแหล่งท่องเที่ยวน้ำตกไนแองการาซึ่งเป็นน้ำตกที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง ปรากฏว่าในฝั่งแคนาดา ซึ่งเห็นน้ำตกได้สวยงามมากกว่า ปิดไป  โดยกำหนดไม่ให้คนออกจากพื้นที่ถ้าไม่มีความจำเป็น การอยู่รวมกันเกิน 10 คนก็ไม่ได้ (https://cutt.ly/0k9T2zI)  ดังนั้นโรงแรมทั้งหลายจึงปิดไป  ผมเคยไปที่นี่มา มีโรงแรมและแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่งที่ตอนนี้ “ร้าง” ไปเลย  ส่วนในฝั่งสหรัฐอเมริกายังเปิดให้มีการท่องเที่ยวตลอด (https://cutt.ly/Ik9TCXT) เศรษฐกิจก็ยังเติบโตท่ามกลางโควิด-19  ที่ตอนนี้กำลังลดลงอย่างมีนัยสำคัญในสหรัฐอเมริกา

            ที่น้ำตกวิคตอเรียที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกแห่งหนึ่งและกั้นระหว่างประเทศแซมเบียและซิมบับเว  ผมเคยไปประเมินโรงแรมแบบรีสอร์ตที่มีชื่อเสียงระดับโลกที่เมืองลิวิงสโตนของแซมเบีย ปรากฏว่ามีผู้คนคลาคล่ำประมาณ 1-2 ล้านคนต่อปีที่เดินทางไปเยือนน้ำตกวิกตอเรียซึ่งเป็นมรดกทางธรรมชาติที่ขึ้นทะเบียนกับองค์การยูเนสโก  โรงแรมต่างๆ ในพื้นที่นี้มีกิจการดีมาก โดยมีผู้คนมาเยือนไม่ขาดสายตลอดปี เพราะแทบไม่มีฤดูฝน ยกเว้นในปลายเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนกมภาพันธ์เท่านั้น มูลค่าของโรงแรมที่ประเมินได้ก็คุ้มค่ากับการ “เทคโอเวอร์” เป็นอย่างมาก  แต่หลังจากมีโควิด-19 น้ำตกก็ปิดไประยะหนึ่ง  ในครึ่งแรกของปี 2563 มีนักท่องเที่ยวเข้าไปแค่ 14,000 คน (https://cutt.ly/dk9xrmP) คือเหลือเพียง 1% ของที่เคยมา จึงทำให้กิจการโรงแรมทั้งหลายแทบ “ล้มทั้งยืน”

            ที่สิงคโปร์ก็ออกอาการ “หนักมาก” สมาคมผู้จัดการโรงแรม (Hospitality Asset Managers Association: HAMA) กล่าวว่าวิกฤติโควิด-19 นี้ แตกต่างจากวิกฤติอื่นๆ ก่อให้เกิดการขายโรงแรมกันขนานใหญ่โดยประเด็นสำคัญก็คือโรงแรมเหล่านี้กู้หนี้ยืมสินมาจากสถาบันการเงินมาพัฒนา จึงต้องหาทางใช้หนี้สินโดยเร็ว (https://cutt.ly/Ak9nbJM)  ผมในฐานะที่ไปสำรวจประเมินค่ากิจการต่างๆ ในสิงคโปร์พบว่าปกติสิงคโปร์เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ แต่มาในครั้งนี้นักท่องเที่ยวลดลงเป็นอย่างมาก ทำให้กิจการโรงแรมถึงขนาด “ชะตาขาด” ต้องทำการการยืดหนี้ รีไฟแนนซ์ ให้คนอื่นทำแทน ล้มละลาย ยึดทรัพย์ ขาดด่วน ฯลฯ กันเลยทีเดียว

            แล้วบาหลีแหล่งท่องเที่ยวคู่แข่งภูเก็ตของเราเป็นอย่างไรบ้าง  อาจกล่าวได้ว่า “เละเป็นโจ๊ก” ไปเลยก็ว่าได้  ผมไปประเมินค่าโรงแรมในบาหลี และเกาะลอมบอกซึ่งเป็นเสมือนเกาะพี่เกาะน้องกับบาหลี หรือเป็นหนึ่งในสิบ “บาหลี” (ใหม่) เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ก็ปรากฏว่านักท่องเที่ยวเบาบางมาก เพราะโควิด-19 ที่อินโดนีเซียระบาดค่อนข้างรุนแรงมาก ในบาหลีมีห้องพักประมาณ 146,000 ห้อง แต่มีผู้เข้าพักเป็นตัวเลขเพียงหลักเดียว เช่น บางโรงแรมมี 200 ห้อง แต่มีผู้เข้าพักเพียง 9-10 ห้อง เป็นต้น  สมาคมการท่องเที่ยวบาหลีขอให้รัฐบาลให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเป็นเงิน 20,370 ล้านบาท ระยะเวลา 10 ปีแก่โรงแรมต่างๆ แทนสถาบันการเงินทั้งหลาย เพื่อว่าโรงแรมเหล่านั้นจะได้ไม่ถูกธนาคารยึด หรือไม่ถูกนายทุนข้ามชาติ เช่น จีน เข้ามาซื้อในราคาแสนถูก (https://cutt.ly/fk9mkkx)

            อย่างไรก็ตามก็มีการเติบโตสวนกระแสเช่นกัน เช่น ที่มัลดีฟที่รายได้หลักของประเทศมาจากการท่องเที่ยว ปรากฏว่ากลับมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น โดยนักท่องเที่ยวต้องผ่านการตรวจโควิด-19 ไม่เกิน 4 วันก่อนเดินทางเข้ามา และจัดให้มาท่องเที่ยวตามเกาะต่างๆ ในมัลดีฟโดยขณะอยู่ในโรงแรมก็ไม่ต้องสวมหน้ากากให้ยุ่งยากใจเสียอีก  ทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากมายโดยเฉพาะ (https://cutt.ly/Jk9EyHv) ผลปรากฏว่ามีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมมัลดีฟมากกว่าเดิมเสียอีก โดยนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นในกรณีประเทศอังกฤษ รัสเซีย ยูเครน คาซักสถาน โรมาเนีย เป็นต้น  นี่ไทยเราสูญเสียโอกาสทองสำหรับฤดูกาลท่องเที่ยวในช่วงปลายปี 2563 – ต้นปี 2564 ไปเสียแล้ว

            โรงแรมพร้อมกาสิโนก็กลับไม่มีปัญหา โดยเฉพาะที่กรุงกาโบโรเน ประเทศบอตสวานา ซึ่งมีโรงแรมและกาสิโนหลายแห่ง  ผมก็เคยไปประเมินค่าโรงแรมประเภทนี้ที่บอตสวานา  โดยประเทศนี้มีผู้ติดเชื้อ 25,802 ราย เสียชีวิต 226 ราย แต่เกือบทั้งหมดหายแล้ว มีเพียง 3,683 รายที่ยังติดเชื้ออยู่ (https://cutt.ly/rk9c6YP)  อย่างไรก็ตามกิจการกาสิโนและโรงแรมชั้นดีในกรุงกาโบโรเนก็ยังสามารถเปิดบริการได้ตามปกติ  และอาจกลายเป็นสถานที่พักผ่อนที่ปลอดภัยสำหรับผู้ที่มีฐานะในประเทศนี้ เพราะโรงแรมเหล่านี้โดยเฉพาะในเครือ Avani มีมาตรการป้องกันโควิด-19 เป็นอย่างดี

            เพื่อความอยู่รอดของโรงแรมไทย รัฐบาลควรให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่โรงแรม ควรให้นักท่องเที่ยวที่ผ่านการฉีดวัคซีนเข้าไทยได้ และให้อยู่เฉพาะในโรงแรมเป็นหลัก มีเจ้าหน้าที่ (สวมชุดรัดกุม) ไปรับถึงสนามบิน และจัดให้เข้าพักในโรงแรมที่แยกเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะ มีบริการตรวจโควิด-19 เป็นระยะๆ โดยนักท่องเที่ยวอาจไม่ต้องสวมหน้ากากให้รำคาญกายและใจ  กิจการโรงแรมไทยก็มีโอกาสรอด ไม่ถูกจักรวรรดินิยมกลืนกินไป

ช่วยกันคิดเพื่อโรงแรมไทยอยู่รอด
ที่มา: https://www.hospitalitynet.org/news/4101461.html
อ่าน 2,723 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved