ชาวเขาและไร่เลื่อนลอย: ไปต่อไม่ได้
  AREA แถลง ฉบับที่ 249/2564: วันจันทร์ที่ 29 มีนาคม 2564

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            เราจะจัดการปัญหาป่าไม้ ชาวเขากับไร่เลื่อนลอยอย่างไรดี จึงจะส่งผลดีต่อประเทศชาติและทุกฝ่ายในระยะยาวแบบ Win Win มาดูกัน

            จากการที่กะเหรี่ยงบางกลอยมีข้อเรียกร้องที่ประสงค์จะทำไร่เลื่อนลอย 36 ครอบครัวๆ ละประมาณ 150 ไร่ รวม 5,400 ไร่ (https://bit.ly/2NEpuWr) นั้น ปรากฏว่าประเทศไทย ณ สิ้นปี 2563 มี 21,884,396 ครัวเรือน (https://bit.ly/2OB7BIb) แสดงว่าถ้าคนไทยอื่นต้องการมีที่ดินครอบครัวละ 150 ไร่ ก็จะต้องใช้ที่ดิน 3,282,659,400 ไร่ หรือ 5,252,255 ตารางกิโลเมตร ในขณะที่ประเทศไทยมีขนาดเพียง 513,120 ตารางกิโลเมตร หรือมากกว่าขนาดประเทศไทยถึง 10 เท่า (https://bit.ly/2MWxq5f) เราจะยอมให้ชาวกะเหรี่ยงมีอภิสิทธิ์เหนือคนไทยอื่นได้อย่างไร

            บางท่านอาจเห็นด้วยหรือไม่กับ “โครงการอันเนื่องจากพระราชดำริ” (https://bit.ly/3ca0j6D) แต่โครงการนี้ก็โครงการย่อยหลายประการที่พยายามหยุดการทำไร่เลื่อยลอยของชาวเขา  เป็นประจักษ์หลักฐานว่าการทำไร่เลื่อนลอยไม่สมควร  อย่างไรก็ตามในภายหลังก็มีความพยายามที่จะอธิบายว่า “ไร่เลื่อนลอย” ไม่ทำลายป่า และพยายามเรียกชื่อให้ดูดีขึ้นว่า “ไร่หมุนเวียน” แต่ถ้าไร่หมุนเวียนดีจริง ประเทศไทยก็คงไม่มีพื้นที่ใหญ่เพียงพอให้ทุกคนทำไร่เลื่อนลอยอย่างแน่นอน  มาดูโครงการแก้ไขปัญหาไร่เลื่อนลอยในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เช่น:

            1. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ จ.เชียงใหม่  โครงการนี้ได้รับการระบุว่า “ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2528 อยู่ที่บ้านม่อนเงาะ หมู่ 5 ตำบลเมืองก๋าย อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งแต่เดิมบริเวณนี้มีชาวเขาเผ่าม้งอาศัยอยู่ มีการถางป่าทำไร่เลื่อนลอย ปลูกฝิ่นและพืชอื่น ๆ ดังนั้นจึงเกิดแผนพัฒนาการส่งเสริมให้ชาวเขาปลูกพืชทดแทนฝิ่น

            2. โครงการพระราชดำริปางตอง 2 (ปางอุ๋ง) จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตั้งอยู่ที่ตำบลหมอกจำแป่ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งแต่เดิมพื้นที่ดังกล่าวมีการทำไร่เลื่อนลอย ปลูกฝิ่น และตัดไม้ทำลายป่าเป็นบริเวณกว้าง (ในหลวง) ทรงมีพระราชดำริให้รวบรวมราษฎรบริเวณนั้นพร้อมกับพัฒนาความเป็นอยู่ ส่งเสริมอาชีพปลูกป่า สร้างอ่างเก็บน้ำ และฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้สมบูรณ์ยั่งยืน ปัจจุบันปางอุ๋งกลายเป็นแหล่งปลูกพืชที่น่าสนใจหลายชนิด และมีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้ทำมากมาย

            3. ค่าน้ำนมนมวัวและอาชีพเลี้ยงวัวที่พ่อให้มา. . .(ในหลวง) เล็งเห็นว่าอาชีพการเลี้ยงโคนมจะช่วยให้ชาวไทยได้บริโภคอาหารที่มีคุณค่า ทั้งยังช่วยให้เกษตรกรไทยได้มีอาชีพที่มั่นคงและเป็นหลักแหล่ง ไม่ต้องบุกรุกทำไร่เลื่อนลอย จึงก่อเกิด “อาชีพโคนม” อาชีพพระราชทานที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทยมายาวนานและยั่งยืน โดยพระองค์ได้ศึกษาจากประเทศเดนมาร์คเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2503

            แม้หลายท่านจะพยายามอธิบายว่า “ไร่เลื่อนลอย” ไม่ทำลายป่า และสร้างวาทกรรมใหม่ว่า “ไร่หมุนเวียน”  แต่ประเทศไทยก็คงไม่มีพื้นที่เพียงพอให้ชาวเขามาทำไร่เลื่อนลอยได้เช่นนี้ และเป็นการแสดงความเป็นอภิสิทธิ์ชนเหนือประชาชนส่วนอื่นของประเทศ  ถ้า “ไร่เลื่อนลอย” ไม่ทำลายป่าจริงๆ ก็คงไม่มีโครงการหลายโครงการที่พยายามหยุดยั้งการทำไร่แบบนี้

            ที่ผ่านมายังมีความพยายามสร้างความชอบธรรมให้กับชาวเขาว่าอยู่มานานแล้ว ทั้งที่ชาวเขาบางส่วนก็หนีภัยสงครามมาจากเมียนมา ไม่ได้อยู่มานับร้อยปีดังอ้าง  และแม้ใครก็ตามที่อยู่มานานแล้ว แต่ก็คงไม่สามารถอนุญาตให้อยู่แบบนี้ได้ตลอดไป  เมื่อ 60 ปีก่อน ประชากรไทยอาจน้อย แต่ปัจจุบันมีมากมายถึง 67 ล้านคน  จะยังอนุญาตให้ทำไร่เลื่อนลอยดังเดิมคงไม่ได้   และแม้แต่หมู่บ้านที่อยู่มาแต่บรรพบุรุษ ก็สามารถถูกเวนคืนได้  คนไทยก็ยังถูกเวนคืนมากมาย ทำไมจะเวนคืนที่ดินของชาวเขาไม่ได้

            สิ่งที่รัฐควรทำก็คือการจัดการโดยละมุนละม่อม ไม่ใช่ไปเผา “กระต๊อบ” ของชาวเขา หรือการเชิญตัวลงมาอย่างทุลักทุเล  และที่สำคัญที่สุดก็คือการจัดที่อยู่อาศัยให้ใหม่ ในประเทศไทย ก็มีองค์การบริหารส่วนตำบลหลายแห่งที่มีชาวกะเหรี่ยงอยู่เป็นส่วนใหญ่ในลักษณะที่เป็นชุมชนกึ่งเมืองกึ่งชนบท ไม่จำเป็นต้องไปอยู่บนยอดเขา  ยิ่งกว่านั้น หากจ้างชาวเขาลาดตระเวนรักษาป่า ก็ควรว่าจ้างอย่างน้อยตามค่าแรงขั้นต่ำเพื่อว่าพวกเขาจะได้ไม่ต้องประกอบอาชีพเสริมด้วยการทำไร่เลื่อนลอย เป็นต้น

            ในทางตรงกันข้าม หากให้รับสมัครทหารปลดประจำการ ข้าราชการเกษียณอายุราชการแล้ว หรืออาสาสมัครป่าที่คอยดูแลพิทักษ์ป่า อยู่ในป่าโดยไม่ทำไร่ทำนาเลื่อนลอยแบบชาวเขาที่ทำอยู่ทุกวันนี้ แต่มีรายได้ให้เพียงพอกับการครองชีพ ให้อยู่ป่า กางเต็นท์หรือมีบ้านแบบเคลื่อนที่ (Mobile) หรือแม้แต่ปลูก “กระต๊อบ” อยู่ให้ช่วยลาดตระเวนตรวจตราการบุกรุกทำลายป่า ก็อาจมีคนทั่วไปมาสมัครเป็น “อาสารักษาป่า” ไป “ช่วยชาติ” กันจำนวนมหาศาลไม่แพ้ชาวกะเหรี่ยงก็เป็นไปได้

            การจะทำเช่นนี้ได้ รัฐบาลต้องจัดงบประมาณให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจัดหาอาสารักษาป่าไม้ให้เพียงพอ หาไม่ก็เท่ากับเป็นการเปิดช่องให้พวกบุกรุกทำลายป่าเขาบุกรุกโดยปราศจากการขัดขวาง
 

อ่าน 2,847 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved