ตึกถล่ม 2548, 2564: ดับเพลิงต้องรู้อัตราการทนไฟ
  AREA แถลง ฉบับที่ 263/2564: วันจันทร์ที่ 05 เมษายน 2564

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            สมควรไว้อาลัยแก่เจ้าหน้าที่ดับเพลิงเป็นอย่างยิ่งที่เสียชีวิตจากการดับเพลิงเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2564 อย่างไรก็ตามจากประสบการณ์ปี 2548 และ 2564 นี้ เจ้าหน้าที่ดับเพลิงพึงทราบอัตราการทนไฟและรับน้ำของอาคารเพื่อความปลอดภัยของตนเองด้วย

            เมื่อวันเสาร์ที่ 3 เมษายน 2564 ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้อาคารหลังหนึ่งในหมู่บ้านกฤษดานคร 31 โดยมีรายละเอียดของข่าวว่า “ที่เกิดเหตุเป็นบ้านปูน ลักษณะเป็นอาคารสูง 3 ชั้น บนเนื้อที่ประมาณ 200 ตารางวา มีรั้วรอบขอบชิด เปิดเป็นบริษัท ชื่อบริษัท โลกโสภา จำกัด พบแสงเพลิงกำลังโหมลุกไหม้จากชั้นล่างลุกลามอย่างรวดเร็วไปทั้งอาคาร เจ้าหน้าที่ระดมสายยางฉีดน้ำ โดยพบยังมีผู้ที่ติดค้างอยู่ภายในอีก 8 ราย ทางเจ้าหน้าที่นักผจญเพลิง จึงเข้าไปช่วยเหลือ ท่ามกลางควันไฟที่ยังพวยพุ่งอยู่ตลอดเวลา จนสามารถช่วยเหลือไว้ได้ 7 ราย ส่วนอีก 1 รายเสียชีวิต ติดค้างอยู่ในห้องน้ำ กระทั่งเวลาผ่านไปกว่า 1 ชั่วโมง เพลิงเริ่มสงบลง ทั้งนี้ระหว่างที่เจ้าหน้าที่กำลังระดมหัวฉีด ฉีดน้ำอยู่นั้น เกิดเสียงปูนดังลั่นตลอดเวลา ก่อนที่อาคารทั้งหลังได้ทรุดตัวลงมาทันที เจ้าหน้าที่ดับเพลิงกำลังปฏิบัติหน้าที่ต่างพากันวิ่งหนีตายออกมา แต่ก็มีเจ้าหน้าที่เสียชีวิตและยังติดอยู่ภายใน” <1>

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ขอแสดงความเสียใจต่อการสูญเสียชีวิตทั้งผู้อยู่อาศัยในบ้านและเจ้าหน้าที่ดับเพลิง  กรณีนี้ ก็เคยเกิดขึ้นในปี 2548 ตามข่าว “ไฟไหม้ตึก 7 ชั้นถล่มฝังทั้งเป็น ตร.ดับเพลิง 10 ชีวิต” <2> โดยเกิดเหตุ “เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 9 ม.ค. เกิดเหตุเพลิงไหม้ บริษัทยูไนเต็ด ยูเนียนพาร์ท จำกัด ซอยวัดดวงแข ถนนพระราม 6 แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กทม. ซึ่งเป็นอาคารพาณิชย์ สูง 7 ชั้น จำนวน 5 คูหา จำหน่ายชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ และอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ นานาชนิด เจ้าหน้าที่ดับเพลิงสวนมะลิได้นำกำลังประมาณ 10 นาย แต่งชุดผจญเพลิงพร้อมหัวฉีดดับเพลิงครบชุด พังประตูอาคารเข้าไปภายในเพื่อค้นหาผู้ที่ติดอยู่ ท่ามกลางกลุ่มควันที่ยังหนาทึบ จนกระทั่งเวลา 15.35 น. ความร้อนระอุของเปลวไฟทำให้ตัวอาคารแตกร้าวอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะผนังตึกด้านข้างร้าวปริส่งเสียงดังลั่น ทันใดนั้นตึกทั้งหลังก็พังครืนถล่มลงมาในพริบตา. . .”

            เฉพาะอาคารที่แขวงรองเมือง “อธิบดีกรมการประกันภัย เปิดเผยว่า. . .บริษัทยูไนเต็ด ยูเนียนพาร์ทส จำกัด มีการเอาประกันภัยทรัพย์สินกับบริษัท ดังนี้

            1. บริษัทแอกซ่าประกันภัย จำกัด (มหาชน) จำนวนเงินเอาประกันภัย 60,000,000.- บาท มีรายละเอียดดังนี้

            1.1 สิ่งปลูกสร้าง (ไม่รวมรากฐาน) รวมรั้ว กำแพง 8,500,000.- บาท ประตูลิฟท์ และระบบสาธารณูปโภคทุกชนิด

            1.2 สต็อกสินค้าอะไหล่และอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งสิ้น 20,300,000.- บาท ซึ่งอยู่ในความดูแลรักษาของผู้เอาประกันภัยในฐานะผู้รักษาทรัพย์

            1.3 เฟอร์นิเจอร์ เครื่องตกแต่งติดตั้งตึงตรา 31,200,000.- บาท รวม 60,000,000.- บาท

            2. บริษัทภัทรประกันภัย จำกัด (มหาชน) จำนวนเงินเอาประกันภัย 14,180,000.- บาท มีรายละเอียดดังนี้

            2.1 สิ่งปลูกสร้าง 3,500,000.- บาท

            2.2 การสูญเสียโอกาสการใช้อาคาร 180,000.- บาท (ให้ไม่เกิน 18 เดือนและไม่เกินเดือนละ 10,000.- บาท)

            2.3 เฟอร์นิเจอร์ เครื่องตกแต่งติดตั้งตรึงตรา 3,000,000.- บาท

            2.4 สต็อกสินค้าอะไหล่และอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งสินค้า 7,500,000.- บาท รวม 14,180,000.- บาท ดังนั้นมีการเอาประกันภัยทั้งสิ้น จำนวน 74,180,000.- บาท” <3>

            จะเห็นได้ว่าการที่มีไฟไหม้อาคารเป็นเวลานาน ประกอบกับการฉีดน้ำปริมาณมากเข้าไปในอาคาร ทำให้ปูนที่ร้อนจัดเสื่อมสภาพและมีน้ำหนักของน้ำเป็นอันมากกดทับเพิ่มเติม ซึ่งทำให้เกิดการถล่มของอาคารได้  นอกจากนั้นยังอาจมีเหตุอื่นที่เป็นไปได้อีก เช่น การวางเพลิง การก่อสร้างผิดแบบ ไม่ได้มาตรฐานหรือการต่อเติมอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นต้น  สาเหตุเหล่านี้ทำให้เกิดการสูญเสียและนำไปสู่การตรวจสอบสภาพอาคารรายปีในเวลาต่อมา แต่ก็ “หย่อนยาน” ในเวลาต่อมาเช่นกัน

            จะเห็นได้ว่าในกฎกระทรวงฉบับที่ 60 (พ.ศ. 2549) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 (5 กรกฎาคม 2549) มีระบุไว้ชัดเจนว่าในกรณีโครงสร้างหลักก่อสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กหรือคอนกรีตอัดแรง. . .ช่วยทําให้เสาหรือคานมีอัตราการทนไฟได้ไม่น้อยกว่าสามชั่วโมง. . . และหากเป็นอาคารตั้งแต่สองชั้นขึ้นไป โครงหลังคาต้องมีอัตราการทนไฟไม่น้อยกว่าสองชั่วโมง <4>

            เจ้าหน้าที่ดับเพลิงจึงควรให้ความสำคัญเกี่ยวกับอัตราการทนไฟนี้ โดยเฉพาะการฉีดน้ำปริมาณมากเข้าไปในอาคาร ก็อาจทำให้ปูนที่ถูกไฟไหม้เสื่อมสภาพเร็ว และหากมีเสียงดังขอบปูนเป็นระยะๆ ก็ย่อมแสดงว่าอาคารใกล้ถล่มแล้ว เป็นต้น

อ้างอิง

<1> ไฟไหม้-ตึกพังถล่ม คร่า5ศพ สลด4กู้ภัยพลีชีพ. ข่าวสด  4 เมษายน 2564. https://www.khaosod.co.th/newspaper/newspaper-front-page/news_6265805

<2> ไฟไหม้ตึก 7 ชั้นถล่มฝังทั้งเป็น ตร.ดับเพลิง 10 ชีวิต. https://www.thaiappraisal.org/thai/newsdigests/newsdg_view.php?strquery=newsd55.htm

<3> เพลิงไหม้บริษัทยูไนเต็ด ยูเนียนพาร์ทส จำกัด. https://www.ryt9.com/s/ryt9/41567

<4> กฎกระทรวงฉบับที่ 60 (พ.ศ. 2549) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522. https://download.asa.or.th/03media/04law/cba/mr/mr49-60.pdf

 


ที่มา https://www.slideshare.net/taem/taem11-1723307 (หน้า 17)

 

 

 

อ่าน 2,901 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved