ตามที่มีข่าวว่าใครป่วยโควิดให้รีบไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล อันนี้อาจสร้างความแตกตื่นและเป็นไปได้ยาก เพราะ “เตียงเต็ม” ถ้าเข้าโรงพยาบาลเอกชนก็อาจ “หัวแบะ” หรือไม่
มีข่าวว่า “อธิบดีกรมการแพทย์ขอขณะนี้ไม่ใช่ช่วงเวลาทำมาหากิน เป็นเวลาที่ต้องช่วยชีวิต ปชช. เอกชนบางแห่งที่ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง เป็นการกระทำที่น่าเกลียด ย้ำคนไข้ตรวจพบโควิดให้ติดต่อสายด่วน 1668 และ 1330 จะช่วยหาเตียงรองรับ. . . ในกรุงเทพมหานคร มีเตียงทั้งหมด 4,300 เตียง มีผู้ป่วยครองเตียง 2,400 เตียง ซึ่งมีเตียงว่าง 1,900 เตียง” <1>
อย่างไรก็ตามผู้ที่เคยป่วยหรือมีญาติป่วย คงเข้าใจได้ว่าในกรณีโรงพยาบาลของรัฐในประเทศไทย “ป่วยแค่ไหนก็ต้องกลับบ้าน <2> การจะหาเตียงคงยากมาก (อาจต้องมีเส้น) เพราะในปี 2561 เตียงคนไข้ 1 เตียง ใช้สำหรับประชากรถึง 437 คน ถ้าใครป่วยแล้วจะเข้าโรงพยาบาลคงยากยิ่ง ยิ่งในภาวะที่มีการระบาดของโควิดแล้ว คงยิ่งยากขึ้นไปอีก จากข้อมูลปี 2560 พบว่า จำนวนเตียงภาครัฐ มีทั้งหมด 122,470 เตียง คิดเป็นสัดส่วนเตียง 1.9 : 1,000 คน และเมื่อรวมกับจำนวนเตียงในสถานพยาบาลภาคเอกชนจำนวน 34,602 เตียง จะมีสัดส่วนเตียง 2.4 : 1,000 คน เทียบกับประเทศญี่ปุ่นมีสัดส่วนเตียง อยู่ที่ 7.9 : 1,000 ประชากร ประเทศเกาหลีใต้ มีสัดส่วนเตียง อยู่ที่ 6.4 : 1,000 ประชากร <3>
รัฐบาลก็ทำตัวเป็นฮีโร่ เที่ยวกวักมือเรียกทุกคนที่ติดโควิดไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล แต่อาจเป็นฮีโร่ “ปลอม” เพราะจำนวนเตียงคนไข้มีน้อยเหลือเกิน การสร้างโรงพยาบาลสนามอาจช่วยแก้ปัญหาได้ แต่โรงพยาบาลสนามที่ได้ผลที่สุดอยู่ที่อู่ฮั่นเพราะเป็นแหล่งระบาด แต่ของไทยกระจายไปทั่ว การไปตั้งโรงพยาบาลสนามกันทั่วไปหมดจะมีความพร้อมเพียงใดเป็นสิ่งที่พึงพิจารณา
สิ่งที่รัฐบาลควรให้ความรู้แก่ประชาชนก็คือ
1. องค์การอนามัยโลกประกาศแล้วว่า คนที่ติดโควิดส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยแสดงอาการ หรือมีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง และจะหายเองโดยไม่ต้องได้รับการรักษาพิเศษใดๆ ยกเว้นผู้สูงวัยหรือมีอาการหนัก ให้ไปพบแพทย์ <4>
2. การติดเชื้อโควิดสามารถรักษาตัวที่บ้านได้ ซึ่งแน่นอนต้องมีการเว้นระยะห่าง ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคของสหรัฐอเมริกา (CDC) แนะนำประชาชนที่ติดโควิดว่าให้รักษาที่บ้าน ยกเว้นมีอาการหนัก เช่น หายใจไม่ออกจริงๆ ค่อยเรียก 911 <5>
การรักษาประชาชนเป็นสิ่งจำเป็น แต่การสร้างกระแสจนแตกตื่น ไม่ต้องทำมาหากินกัน คงจะเป็นเรื่องใหญ่กว่า มีความเป็นไปได้ที่จำนวนคนฆ่าตัวตายเพราะโควิดน่าจะมากกว่าจำนวนคนที่ตายเพราะโควิดด้วยซ้ำไป ประเทศไทยในครึ่งแรกของปี 2563 มีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย 2,551 คน เพิ่มขึ้นถึง 22% จากปี 2562 <6> หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 460 ราย มากกว่าการเสียชีวิตเพราะโควิดในปี 2563 ที่ 61 ราย
อย่าแก้โควิดผิดทางจนประเทศพัง
อ้างอิง
<1> หมอย้ำรักษาโควิดใน รพ.ฟรี ทั้งรัฐ-เอกชน ย้ำสายด่วน "1668-1330" ประสานหาเตียง. 11 เมษายน 2564. https://www.hfocus.org/content/2021/04/21389
<2> สัดส่วนเตียงคนไข้กับประชากรไทย. 4 ธันวาคม 2562. https://marketeeronline.co/archives/134305
<3> จำนวนเตียงใน รพ.ของไทย ยังห่างจากค่าเฉลี่ยสากล. https://www.hfocus.org/content/2017/04/13730
<4> WHO. Coronavirus. https://www.who.int/health-topics/coronavirus#tab=tab_1
<5> CDC. What to Do If You Are Sick. https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/if-you-are-sick/steps-when-sick.html และโปรดดูเพิ่มเติมที่ https://www.covid19factcheck.com/
<6> เศร้า! อยู่อย่างสิ้นหวัง คนไทยฆ่าตัวตายอันดับ 1 ในอาเซียน. 30 มีนาคม 2564. https://bit.ly/32jzTuv