ดร.โสภณ พรโชคชัย: ไม่นิยมเกาะสถาบัน (หากิน)
  AREA แถลง ฉบับที่ 306/2564: วันพฤหัสบดีที่ 22 เมษายน 2564

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            หลายคนนิยมการเกาะสถาบันทำมาหากิน เอาอย่างง่ายๆ ก็คือสถาบันการศึกษา เพื่อให้ได้รับความน่าเชื่อถือ ทำให้การค้าขายคล่องแคล่ว ได้เงินมากกว่าทั่วไป

            ที่ผ่านมา เคยมีอาจารย์จากคณะหนึ่งในสถาบันอุดมศึกษาชื่อดังที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย มาชวนผมจัดอบรมเรื่องอสังหาริมทรัพย์ เพราะเห็นอีกคณะหนึ่งจัดแล้วมีคนสนใจเรียนกันมาก  ท่านว่าคณะของเราก็ค่อนข้างจะตรงแขนงวิชามาก และน่าจะจัดได้ดีไม่แพ้ใคร  ขณะนั้นผมก็จัดอบรมในนาม “โรงเรียนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย” ของผมเอง  แม้คำว่า “โรงเรียน” จะดูด้อยกว่า “มหาวิทยาลัย” แต่ก็อยู่ที่การบริการ  ผมก็เลยตัดสินใจไม่ไปทำอย่างนั้น  เป็นผู้บริหารหลักสูตรเองในนามของคณะหนึ่ง ก็คงดึงดูดคนเรียนได้ไม่น้อย

            อย่างที่ Asian Institute of Technology (AIT) ที่เป็นสถาบันสอนปริญญาโท-เอกระดับนานาชาติที่ผมจบมา ท่านอดีตอธิการบดี ก็เคยเมตตาชวนให้ผมไปร่วมจัดหลักสูตรด้านอสังหาริมทรัพย์เหมือนกัน  สถาบันแห่งนี้ตั้งโดยประชาคม ASEAN หรือ SEATO ในสมัยนั้น  โดยมี Asian Institute of Management (AIM) อยู่ที่ฟิลิปปินส์ และ AIT อยู่ที่ประเทศไทย  ผมก็คิดไปคิดมา ก็อย่าดีกว่าเพราะผมไม่อยากเกาะสถาบันหากิน  แต่ผมก็ช่วยคณะและสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งตั้งหลักสูตรปริญญาโทด้านอสังหาริมทรัพย์ให้ หรือไปช่วยบรรยายบ้าง แต่ก็ไม่ได้ไปร่วมอะไรเป็นพิเศษ  ผมก็จัดการเรียนการสอนในนามโรงเรียนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทยมาโดยตลอด

            อย่างหลักสูตรอสังหาริมทรัพย์ที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งผมก็เป็นศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ (คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์) ผมก็เป็นอาจารย์คนแรกในหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต  บรรยายตั้งแต่อาจารย์ชั้นผู้ใหญ่ในวันนี้ยังเป็นลูกจ้างชั่วคราวหรือนักศึกษาอยู่แล้ว  แต่ผมก็ช่วยในฐานะผู้บรรยาย ไม่ได้ไปมีส่วนเกี่ยวข้องอื่น หรือไปเกาะสถาบันหากินแต่อย่างใด  ผมยินดีไปบรรยายให้ทุกที่ๆ เชิญมาด้วยความเต็มใจ ผมถือว่า Knowledge Is Not Private Property.

            อย่างไรก็ตามเราพึงแยกแยะระหว่างการเกาะสถาบันกับความภาคภูมิใจในสถาบัน เช่น

            1. ผมภูมิใจที่เป็นนักเรียนเก่าโรงเรียนเทพศิรินทร์ เพราะเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียง รัชกาลที่ 8 ก็ยังเคยศึกษาที่นี่ และผมก็สอบเข้าได้ในลำดับต้นๆ

            2. ผมภูมิใจที่เป็นศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ที่ผมสอบเข้าได้ในลำดับต้นๆเช่นกัน และถือเป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาเก่าแก่และยืนอยู่ข้างฝ่ายประชาธิปไตย (ความรู้สึกในสมัย 40 ปีก่อน) หรือ

            3. ภูมิใจที่เป็นศิษย์เก่า Katholieke Universiteit Leuven ในประเทศเบลเยียมที่มีชื่อเสียงเกริกไกร และผมก็เคยไปเยี่ยม ไปพบกับศาสตราจารย์ที่เคยสอนผมมา

            แต่ความภูมิใจนี้เป็นเรื่องหนึ่ง เราไม่ได้เอาสถาบันมาหากิน นอกเสียจากการอ้างอิงสถาบันที่จบมาเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือต่อลูกค้าและผู้ใช้บริการเท่านั้น  ในทางตรงกันข้าม บางคนอาจอ้างชื่อสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงมาหากินทั้งที่กิจการที่ดำเนินการอยู่ไม่ได้เกี่ยวกับสถาบันการศึกษานั้นๆ เลย  อย่างนี้จึงถือเป็นการเกาะสถาบัน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม ไม่สง่างาม  ออกไปทางหลอกลวง เป็นต้น

            ความรักสถาบันกับการหลงสถาบันก็แตกต่างกัน บางคนเดือดดาลที่มีคนมาวิจารณ์หรือแตะต้องสถาบันที่ตนรัก  เราก็ไม่ควรที่จะไปมีเรื่องกับเขา จะยกพวกตีกันคงไม่ได้ หรือจะลอบเตะตัดขาผู้หญิงจากทางด้านหลังโดยอ้างตนรักสถาบันก็คงไม่ได้เช่นกัน  เราจะถือสถาบันเป็น “อัตตา” ก็คงไม่ได้  สถาบันอาจเป็น “อนัตตา” เช่น ถ้ามีกีฬาระหว่างโรงเรียน เราก็ต้องเชียร์โรงเรียนเรา ถ้ามีกีฬาสี เราก็เชียร์สีของเรา เมื่อมีกีฬาระหว่างห้อง เราก็เชียร์ห้องของเรา  และภายในห้องของเราเอง เราก็แข่งกันเองเช่นกัน สุดท้ายก็เป็นแค่ตัวตนของเรามากกว่าสถาบันโดยรวม

            ถ้าเรารักสถาบันของเรา เราต้องทำดีเพื่อสถาบันนั้นๆ จะทำชั่วโดยอ้างเพื่อสถาบันก็คงไม่ได้ สถาบันที่ดีก็คงไม่ต้องการให้เราปกป้องด้วยการทำร้ายผู้เห็นต่าง  มีแต่พวกอันธพาลหัวไม้ แก๊ง ชุมโจรที่ใช้กำลังเข้าห้ำหั่นกันเมื่อสถาบันที่เรารักถูกแตะต้อง  แม้แต่พระพุทธเจ้าหรือสัตบุรุษทั่วไปทั้งหลายก็ไม่มีกฎหมายห้ามวิจารณ์ถึงแต่อย่างใด  คนดีจริงต้องกล้าได้รับการตรวจสอบ

            อย่างผมสอนโดยใช้ “โรงเรียนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย” ในความควบคุมของกระทรวงศึกษาธิการนั้น เราไม่ได้ถือตนเป็นสถาบันอะไร  เราถือผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่ผู้สอนเป็นศูนย์กลาง  ผู้เรียนไม่ต้องเอาใจผู้สอน  แต่ผู้สอนต่างหากที่ต้องสอนให้ดีที่สุด หาไม่หากไม่ผ่านการประเมินผล โรงเรียนก็ต้องเชิญผู้ที่มีความรู้ความสามารถมากกว่ามาบรรยายแทนนั่นเอง

            ยิ่งกว่านั้นในการทำธุรกิจ บางคนก็นิยมการไปเกาะเกี่ยวกับส่วนราชการต่างๆ นัยว่าเผื่อจะได้มีโอกาสเจาะตลาดพวกข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ จะได้เชื่อมต่อกัน มีโอกาสทางธุรกิจมากขึ้น เผลอๆ อาจได้รับการเชื้อเชิญจากหัวหน้าคณะรัฐประหารให้มาทำงานการเมืองด้วยกันในฐานะเพื่อนร่วมรุ่น เป็นต้น  การเกาะสถาบันแบบนี้ไม่สง่างาม และเสี่ยงต่อการทำธุรกิจสีเทาเช่นกัน

            ทำธุรกิจที่ไม่เกาะสถาบัน ไม่ต้องมีการจิ้มก้อง ไม่ต้องหวังผลประโยชน์ต่างตอบแทน น่าจะสบายใจที่สุด และยั่งยืน


ที่มาภาพประกอบ:
http://klonchanjit.blogspot.com/2015/09/blog-post_13.html
อ่าน 3,806 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved