ตามที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) รับทำการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ โดยอ้างโพลของ NIDA เองเกี่ยวกับการสอบถามความเห็นของประชาชนเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ซึ่งเป็นกรรมการคนหนึ่งในคณะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ (SEA) จึงนำเสนอความคิดเห็นเพื่อประโยชน์ต่อการศึกษา
5/15 ถ.นนทรี ยานนาวา กทม.10120
31 พฤษภาคม 2564
เรื่อง ขอให้ทบทวนการทำโพลของ NIDA และขอเสนอแนวทางการศึกษา
เรียน ประธานคณะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อม
ระดับยุทธศาสตร์สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ (SEA)
ตามที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) รับทำการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ โดยอ้างโพลของ NIDA เองเกี่ยวกับการสอบถามความเห็นของประชาชนเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน กระผมซึ่งเป็นกรรมการคนหนึ่งในคณะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ (SEA) เห็นว่าการศึกษานี้ไม่สามารถนำมาใช้ได้ จึงนำเสนอหนังสือนี้มาคัดค้านโพลดังกล่าว
โพลดังกล่าวจัดทำขึ้นโดยไม่ได้เผยแพร่แก่สาธารณชนในเว็บไซต์ของ Nida Poll และจัดทำโดยใช้วิธีสุ่มโทรศัพท์ไปยังประชาชนในภาคใต้จำนวนพันคนเศษ เพื่อให้ความเห็นเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน และพบว่าประชาชนเกินครึ่งไม่เห็นด้วยกับโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ โพลดังกล่าวไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ใช้อ้างอิงไม่ได้ เพราะ
1. การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในกรณีนี้เป็นการใช้ความรู้สึกเพราะมีการโฆษณากันตลอดว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นอันตรายโดยประชาชนไม่ได้รับข้อมูลความปลอดภัยของโรงไฟฟ้าโดยเฉพาะในยุคใหม่ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ความรู้สึกแบบนี้จึงนำมาใช้ประกอบการศึกษาทางวิชาการไม่ได้
2. สิ่งที่ NIDA พึงสำรวจคือความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่โดยตรงเพื่อให้ได้ความเห็นของคนส่วนใหญ่ แต่กลับไม่สำรวจ เพียงแค่ไปเยี่ยมบ้าน สัมภาษณ์อย่างไม่เป็นทางการโดยไม่ได้นำพาว่าประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ที่ถือว่าเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจริงๆ หากมีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทั้งที่ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ต้องการโรงไฟฟ้าถ่านหิน และต้องการให้จัดทำประชามติ แต่ NIDA ก็ไม่ยอมรับไปดำเนินการ ทั้งยังไม่ยอมสำรวจความเห็น
3. สิ่งที่ NIDA ทำก็คือการไปเชิญผู้นำฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินมา “สานเสวนา” ซึ่งบุคคลเหล่านี้ต่างก็มีจุดยืนของตนเองชัดเจน จึงเป็นการดำเนินการที่แทบจะสูญเปล่า
กระผมจึงเสนอให้ NIDA สำรวจความเห็นของประชาชนเจ้าของพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงว่ามีความเห็นอย่างไร เพื่อฟังเสียงส่วนใหญ่เป็นสำคัญ โดยอาจสำรวจจำนวนมาก ให้ประชาชนในพื้นที่ออกมาแสดงความเห็นในลักษณะคล้ายการลงประชามติ (เพื่อที่จะได้ไม่มีข้อกังขาว่าสำรวจไม่ครบถ้วน หรือถูกอ้างว่าไม่ใช่ความเห็นของคนส่วนใหญ่) คาดว่าค่าใช้จ่ายในการนี้น่าจะต่ำกว่าค่าใช้จ่ายในการจัดสานเสวนาเพียงครั้งเดียว
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา และขอขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้
ขอแสดงความนับถือ
(ดร.โสภณ พรโชคชัย)
ในฐานะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อม
ระดับยุทธศาสตร์สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ (SEA)