ในแต่ละปี มีการจัดอันดับเมืองที่น่าอยู่ที่สุดในโลกประมาณ 10 เมือง ท่านเชื่อหรือไม่ว่าเมืองเหล่านั้น มีราคาที่อยู่อาศัยถูกกว่าโดยเปรียบเทียบกับรายได้ของประชาชนชาวกรุงเทพมหานครเสียอีก แล้วอย่างนี้กรุงเทพมหานครและเมืองไทยจะอยู่ยากไหม
จากข้อมูลล่าสุดเมืองที่น่าอยู่ที่สุดในโลกจากการจัดอันดับล่าสุดโดยวารสาร the Economist ที่เว็บไซต์ www.travelandleisure.com ได้นำมาลงเมื่อเดือนธันวาคม 2563 (https://bit.ly/3vGpA0f) พบว่า เมืองที่น่าอยู่ที่สุดเรียงตามลำดับดังนี้:
อันดับที่ 1 กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย
อันดับที่ 2 นครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย
อันดับที่ 3 นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย
อันดับที่ 4 นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น
อันดับที่ 5 นครแคลเกอรี ประเทศแคนาดา
อันดับที่ 6 นครแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา
อันดับที่ 7 นครโตรอนโต ประเทศแคนาดา
อันดับที่ 7 ร่วม กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
อันดับที่ 9 กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก
อันดับที่ 10 นครอะดีเลด ประเทศออสเตรเลีย
เมืองเหล่านี้ผมไปมาหมดทุกเมืองแล้วรู้สึกน่าอยู่จริงๆ เมืองที่น่าอยู่นั้นอยู่ในประเทศแคนาดา ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ถึง 8 เมืองซึ่งประเทศทั้งสามนี้ มีธรรมชาติที่สวยสดงดงามมากที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง แต่ก็ยังมีนครอื่น ๆ ที่น่าอยู่อีกมากมายแม้ในสหรัฐอเมริกาเอง เพียงแต่สำหรับคนไทยจะรู้สึกว่านครต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกาไม่ปลอดภัย โดยเป็นเพราะอิทธิพลของภาพยนตร์ร่วมสมัยนั่นเอง
แม้นครเหล่านี้จะน่าอยู่ แต่ก็ยังมีคนไร้บ้านหรือผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ซึ่งหาเลี้ยงชีพด้วยการเก็บขยะ หรือในนครเหล่านี้ก็ยังมีย่านที่น่าจะอันตรายในระดับหนึ่ง และยิ่งถ้ามีแหล่งท่องเที่ยว ก็ยังจะพบมิจฉาชีพประจำถิ่นอีกด้วย ซึ่งผู้อยู่อาศัยก็ยังต้องมีความระมัดระวังในการอยู่อาศัย ไม่ใช่จะปลอดภัย 100% เราต้องระมัดระวังตัวให้ดี อย่าประมาทไม่ว่าอยู่ที่ไหน เว้นแต่เรามีการ์ดหรือกองกำลังคอยดูแล ก็อาจไม่มีอันตราย แต่คนที่ต้องมีกองกำลัง ก็อาจมีคู่อริ มี “กองกำลังติดอาวุธไม่ทราบฝ่าย” มาโจมตีถึงตายได้เช่นกัน
เมืองน่าอยู่เขาดูจากอะไร เขาดูกัน 5 ด้านได้แก่
1. ด้านความมั่นคงทางการเมือง ซึ่งนับเป็นเรื่องที่เปราะบางที่สุด โดยเฉพาะด้านภัยสงคราม สำหรับกรุงเทพมหานครก็อาจมีความเปราะบางทางด้านนี้ เพราะอาจมีสงครามกลางเมืองจากความไม่สงบภายใน
2. ด้านบริการสุขภาพ ถ้ามีพร้อมและมีบริการที่ดี หากเจ็บไข้ได้ป่วยก็สามารถส่งโรงพยาบาลได้ทัน กรณีนี้จึงเป็นหลักประกันที่สำคัญมากในเมืองที่ไม่น่าอยู่มักมีบริการด้านนี้ที่ตกต่ำถดถอย อย่างกรุงเทพมหานครมีเตียงคนไข้เพียง 1.9 เตียง ต่อประชากร 1,000 คน ซึ่งยังนับว่าน้อยมาก
3. ด้านวัฒนธรรม เช่น อาคารสถานที่ ๆ น่าสนใจ น่าท่องเที่ยว มีประวัติศาสตร์ที่น่าภูมิใจ รวมทั้งมีสภาพแวดล้อมทางสังคมและธรรมชาติที่น่าอยู่อาศัย
4. ด้านการศึกษา เพื่ออนาคตของลูกหลานของผู้อยู่อาศัย การที่อยู่ในเมืองที่มีการศึกษาดี ประชากรก็ย่อมมีวัยวุฒิและคุณวุฒิที่ดีไปด้วย
5. ด้านสาธารณูปโภคและสาธารณูปการที่ดี เช่น ระบบขนส่งมวลชน รถประจำทาง ทางด่วน รถไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ เป็นต้น เพื่อความสุขสบายแก่ผู้อยู่อาศัยนั่นเอง
เมืองที่น่าอยู่เราเปรียบเหมือน “สวรรค์” แต่บางครั้งก็เป็นเหมือนสวรรค์ที่ไม่ค่อยมีความสุข (unhappy paradise) เพราะกฎระเบียบต่าง ๆ มีชัดเจนตามอารยประเทศ จะมานั่งร้องรำทำเพลง กินเหล้ารบกวนเพื่อนบ้าน คงต้องถูกตำรวจจับ/ปรับกันบ้าง บางครั้งชีวิตก็อาจจะเรียบง่ายและพอเพียงมาก ไม่มีชีวิตกลางคืน ต่างจากกรุงเทพมหานคร หรือเมืองในประเทศเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ที่แม้บางครั้งจะเป็นเสมือน "นรก" แต่ก็กลับเป็นนครที่มีความสุข (happy hell) สำหรับคนมีเงิน มีอำนาจ มีเส้นสาย ฯลฯ
สำหรับผู้ได้เปรียบในสังคมไทย เช่น ข้าราชการโดยเฉพาะในระดับสูง และระดับที่สามารถฉ้อราษฎร์บังหลวงได้ หรือพ่อค้าที่มีเส้นสาย คนทำผิดกฎหมาย เช่น เปิดบ่อนเถื่อน ขายยาบ้า เปิดซ่องเถื่อน ทำหวยใต้ดิน คงรักเมืองไทยมากเป็นพิเศษ เพราะเปิดโอกาสให้พวกเขาร่ำรวยโดยปราศจากการตรวจสอบ และถึงแม้ทำผิดกฎหมายแต่มีเงิน ก็สามารถ “ลอยนวล” ได้อย่างหน้าตาเฉยเป็นที่ขัดหูขัดตาประชาชนในมากหลายกรณี
จากเว็บไซต์ของ numbeo.com แสดงให้เห็นถึงราคาห้องชุดต่อตารางเมตรโดยในที่นี้สมมติให้ห้องชุดแต่ละแห่งมีขนาด 35 ตารางเมตร ซึ่งบางแห่งอาจจะเล็กไปหน่อย แต่ในไทยอาจจะถือว่าใหญ่ไปหน่อยเพราะปกติขนาดห้องชุดของคนไทยจะไม่เกิน 30 ตารางเมตร ซึ่งถือว่าเล็กมากตามมาตรฐานของชาติอื่น แต่เพื่อให้สามารถคำนวณเปรียบเทียบได้ จึงกำหนดไว้ที่ 35 ตารางเมตรต่อหน่วย และขณะเดียวกันก็เปรียบเทียบกับรายได้เฉลี่ยปานกลางต่อเดือนโดยคูณ 12 เป็นรายได้ต่อปี แล้วเอาราคาบ้านมาหารด้วยรายได้เฉลี่ยต่อปี
สัดส่วนระหว่างราคาบ้านและรายได้เฉลี่ยต่อปีสำหรับกรุงเทพมหานครสูงถึง 8.55 เท่า คือ ห้องชุดหน่วยหนึ่งมีราคาเฉลี่ย 2,719,792 บาท โดยรายได้เฉลี่ยต่อเดือนของคนไทยในกรุงเทพมหานครอยู่ที่ 26,502 บาท เมื่อเอาราคาบ้านหารด้วยรายได้ที่คูณด้วย 12 เดือน ก็จะออกมาสูงถึง 8.55 เท่า แสดงว่าราคาบ้านในกรุงเทพมหานครสูงมากเมื่อเทียบกับเมืองอื่นๆ นี่เป็นการวัดกำลังซื้อที่อยู่อาศัยของประชาชน (Affordability)
นครที่ถือว่ามีสัดส่วนระหว่างราคาห้องชุดกับรายได้ต่อปีต่ำสุดคือนครแคลเกอรี ทางตอนกลางของประเทศแคนาดา โดยมีสัดส่วนเพียง 2.36 เท่า แสดงว่าประชาชนสามารถซื้อ “ที่ซุกหัวนอน” ได้ไม่ยาก ชีวิตจึงมีความสุข ในขณะที่นครที่มีสัดส่วนราคาบ้านต่อรายได้สูงสุดใน 10 นครที่น่าอยู่ที่สุดในโลกนั้น คือกรุงโตเกียว โดยมีสัดส่วนสูงถึง 6.24 เท่า ซึ่งก็ยังต่ำกว่าในกรณีประเทศไทยเสียอีก
หากปรากฏว่ามีคนหนุ่มสาวที่คิดจะย้ายไปอยู่ต่างประเทศ ซึ่งก็ต้องไปปรับตัวใช้ชีวิตที่นั่น หางานทำที่มีรายได้พอสมควร ก็นับว่าเมืองที่น่าอยู่ที่สุดในโลก 10 เมืองนี้ น่าจะไม่ “อยู่ยาก” นัก สามารถใช้ชีวิตที่สงบสุข มีอนาคตได้มากพอสมควรทีเดียว อย่างไรก็ตามบางคนก็อาจมีภัยร้ายถึงชีวิตโดยไม่คาดฝันเช่น “ลุงวิชา รัตนภักดี” ในสหรัฐอเมริกาที่ถูกชายผิวดำผลักล้มจนเสียชีวิต แต่กรณีนี้ก็เกิดขึ้นได้ในกรณีประเทศไทยเช่นกัน
การที่ที่อยู่อาศัยในประเทศไทยมีราคาค่อนข้างแพงเมื่อเทียบกับรายได้นั้น ก็เพราะที่ผ่านมาตลาดเป็นของผู้ขาย บริษัทพัฒนาที่ดินมหาชนสามารถทำกำไรสุทธิได้ 15-20% ในแต่ละปี ในขณะที่ประชาชนทั่วไปแทบไม่ได้มีรายได้เพิ่มขึ้นในหลายปีที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครจึงนับว่า “อยู่ยาก” ขึ้นทุกวัน
แต่จะอย่างไร เราก็ต้องพยายามพัฒนากรุงเทพมหานครให้น่าอยู่สำหรับประชาชน (ไม่ใช่น่าอยู่เฉพาะคนมีเส้น มีเงิน มีอำนาจ)