ว่ากันว่าในไม่ช้าไม่นานเศรษฐกิจจีนจะใหญ่กว่าสหรัฐอเมริกา และจีนจะครองโลก จีนจะทำได้ไหม แต่ผู้นำจีนก็ออกมาบอกว่าไม่หวังครองโลก แต่พฤติกรรมมันอาจต่างจากคำพูดของนายสีจิ้นผิง
ในโอกาสครบรอบ 100 ปีของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน นายสีพูดกล่าวเตือนมหาอำนาจโลกว่า “จีนจะไม่ยอมถูกกดขี่และถูกรังแกอีกแล้ว” คำพูดนี้ฟังไปก็เหมือนการสร้างแรงบันดาลใจของบรรดาไลฟ์โค้ชต่างๆ ที่มุ่งหวังปลุกยักษ์หรือปลุกพลังในตัวเราให้โชติช่วงชัชวาลย์ออกมา แต่ในความเป็นจริงแล้ว จีนที่ถูกกดขี่หรือถูกรังแก หมดไปตั้งแต่ปี 2492 ที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนยึดประเทศจีนได้สำเร็จ หรืออาจนับตั้งแต่ปี 2514 ที่จีนเข้าแทนที่ไต้หวันในสหประชาชาติ และเป็นหนึ่งในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ด้วยเหตุนี้คำพูดของนายสีจึงถือเป็น “ดราม่า” ก็ว่าได้ จีนไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะถูกกดขี่รังแกอีกต่อไป (ต่อไปจะกดขี่รังแกชาติอื่นหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง)
จีนมีโอกาสแซงหน้าสหรัฐอเมริกาก็เมื่อมีการระบาดของโควิด-19 เพราะในช่วงปี 2563 เศรษฐกิจจีนเติบโตสวนกระแสการระบาด แต่ในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลงเพราะการระบาดของโรคอย่างขนาดใหญ่ในปีเดียวกัน บลูมเบิร์กได้ตีพิมพ์บทวิเคราะห์การแข่งขันทางเศรษฐกิจจีนกับสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2564 เป็นบทวิเคราะห์ที่น่าสนใจยิ่งที่จะช่วยให้นักลงทุนและคนไทยเราได้ “รู้เขา รู้เรา” และรู้จักการถือหางข้างที่ถูกต้องในอนาคต
สิ่งที่จะขัดขวางการเติบโตของเศรษฐกิจจีนก็คือ
1. การกระตุ้นต่างๆ ของจีนกำลังอ่อนแรงลง
2. ภาษีศุลกากรและการควบคุมการค้าอื่นๆ ขัดขวางการเข้าถึงตลาดโลกและเทคโนโลยีขั้นสูง
3. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนทำให้หนี้สาธารณะของจีนเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์
4. การตั้งตนเป็นอิสระทางการเงินและการแยกตัวจากสังคมการเงินนานาชาติในสังคมโลก
5. ความล้มเหลวในการปฏิรูปประเทศโดยเฉพาะด้านการทุจริตในวงราชการ
6. วิกฤตการณ์ทางการเงินอาจทำให้จีนหยุดชะงักก่อนที่จะขึ้นถึงจุดสูงสุด
7. ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของคนในชาติที่ถ่างห่างออกไปมากขึ้น ถึงแม้นายสีจะ “คุย” ว่าตนสามารถลดจำนวนคนจนลงได้นับร้อยล้านคน แต่ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนกลับยิ่งห่างออกไป
8. ค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น
9. การลดลงของประชากรวัยทำงานและการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงวัย
10. การสร้างตัวเลขเศรษฐกิจที่ “ดีเกินจริง” ของจีนอาจกลายเป็นเพียงการสร้าง “ปราสาททราย”
มาดูค่าครองชีพในนครเซี่ยงไฮ้ นครนิวยอร์ก และกรุงเทพมหานครเชิงเปรียบเทียบกัน จะได้เห็นถึงค่าครองชีพที่ต่างกันเป็นอย่างมาก
จากตารางการเปรียบเทียบราคาบ้าน (ในที่นี้ใช้ราคาห้องชุดในย่านชานเมือง) และรายได้ต่อคนต่อเดือน จากฐานข้อมูลของ Numbeo พบว่า ราคาห้องชุดในนครเซี่ยงไฮ้ นิวยอร์กและกรุงเทพมหานคร เป็นเงินตารางเมตรละ 242,289 บาท 247,003 บาท และ 77,577 บาทตามลำดับ ในขณะที่รายได้ต่อเดือนของคนทำงานเป็นเงิน 54,667 บาท 208,470 บาท และ 23,644 บาทตามลำดับ
เมื่อประมาณการว่าห้องชุดหนึ่งๆ ในแต่ละเมืองมีขนาดเท่ากันคือ 35 ตารางเมตร จะพบว่าประชาชนในแต่ละเมืองต้องสะสมเงินเป็นเวลากี่ปีจากรายได้ต่อปีในการซื้อบ้านหลังหนึ่ง ผลที่พบก็คือในนครเซี่ยงไฮ้ ประชาชนต้องสะสมเงินถึง 12.9 ของรายได้ต่อปี จึงจะสามารถซื้อห้องชุดในชานนครเซี่ยงไฮ้ได้หน่วยหนึ่ง หรือราคาห้องชุดในชานเมืองนครเซี่ยงไฮ้ เป็น 12.9 เท่าของรายได้ต่อปีนั่นเอง ในขณะที่ตัวเลขของสหรัฐอเมริกา เป็นเพียง 3.5 ปี แสดงว่าในสหรัฐอเมริกา ค่าครองชีพโดยเฉลี่ยถูกกว่าเซี่ยงไฮ้มาก การนี้แสดงถึงชีวิตที่สะดวกสบายกว่าในนิวยอร์กเมื่อเทียบกับเซี่ยงไฮ้ ในส่วนของกรุงเทพมหานคร ตัวเลขอยู่ที่ 9.6 ปี ซึ่งก็ยังไม่แย่เท่าเซี่ยงไฮ้
จำนวนประชากรของจีนจะลดลงโดยเชื่อว่าในช่วง 3 ทศวรรษนับจากนี้ ประชากรจีนอาจหดตัวลง 260 ล้านคน ในขณะที่ประชากรอินเดียยังเติบโตและเพิ่มขึ้นมากกว่าจีนภายในปี 2570 หรืออีก 6 ปีข้างหน้า ทำให้กำลังแรงงานของจีนลดลง แต่อย่างไรก็ตามจีนก็แก้ปัญหาด้วยการอนุญาตให้มีลูกได้ถึง 2 คนแล้วตั้งแต่ปี 2559 และยังมีแผนการที่จะเพิ่มอายุงานให้เกษียณนานขึ้น ทำให้การจ่ายบำนาญช้าลง
ปัญหาของจีนในปัจจุบันแสดงได้ชัดเจนจากกำลังการผลิตที่ล้นเกินในอุตสาหกรรมต่างๆ มีจำนวนเมืองร้างที่มีอาคารว่างเปล่าเป็นจำนวนมาก ไม่เป็นไปตามแผนการสร้างเมืองใหม่ของจีน และทางหลวงขนาด 6 ช่องทางจราจรที่ลัดเลาะเข้าไปในพื้นที่เกษตรกรรมที่มีประชากรเบาบาง ซึ่งถือเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า ถือเป็นการมใช้จ่ายเงินที่เกินกำลัง และขาดประสิทธิภาพเท่าที่ควร สิ่งต่างๆ เหล่านี้อาจจะนำไปสู่สู่ภาวะถดถอยอย่างรุนแรง และส่งผลให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนหดตัวต่ำลงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
ในฝั่งของสหรัฐภายใต้การนำของนายโจ ไบเดน ก็กำลังเร่งขยายกำลังคน การยกระดับตลาดเงิน ตลาดทุน และการเร่งสร้างสรรค์นวัตกรรมทางเทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐาน และการขยายตัวของการซื้อที่อยู่อาศัยที่หวังจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐมีการเติบโตอย่างยั่งยืน เมื่อสหรัฐก้าวกระโดดต่อไป จีนก็คงต้องเหนื่อยที่จะไล่ทันสหรัฐให้ทันให้ได้ ในขณะนี้ ขนาดเศรษฐกิจสหรัฐอยู่ที่ 21.43 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่จีนอยู่ที่ 14.34 ล้านล้านเหรียญ หรือประมาณ 67% ของขนาดเศรษฐกิจของสหรัฐ แต่สหรัฐมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 2.2% ในขณะที่จีนเติบโตปีละ 6.1% รายได้ต่อหัวของสหรัฐสูงกว่าจีนถึง 6.4 เท่า
ในขณะที่จีนพยายามขยายอิทธิพลมากขึ้น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อินเดีย รัสเซีย ยุโรปตะวันตก และหลายประเทศในโลกต่างก็มองด้วยความสงสัยถึงความไม่ชอบมาพากล และความไม่น่าไว้วางใจหลายประการ นี่ก็จะเป็นตัวถ่วงในการเติบโตของจีนในอนาคตเช่นกัน ด้วยเหตุนี้จีนจึงต้องเร่งเข้าไปมีอิทธิพลในประเทศโลกที่ 3 เป็นอย่างมากทั้งในเอเชีย ยุโรปและอเมริกาใต้ หมู่เกาะแปซิฟิก รวมทั้งประเทศไทย จึงทำให้ไทยต้องเตรียมพร้อมในการรับการลงทุนจากจีน และควรเป็นการเตรียมพร้อมอย่างชาญฉลาด เพื่อไม่ให้เสียเปรียบจีนในระยะยาว
การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ของจีนในไทยจึงเป็นการช่วงชิงความได้เปรียบในเชิงภูมิรัฐศาตร์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประเทศที่แทบจะถูกกลืนไปแล้ว ก็เช่น กัมพูชา ลาว เมียนมา และไทยคงเป็นเป้าหมายต่อไป กฎระเบียบการให้ต่างชาติโดยเฉพาะจีนเข้าครอบครองอสังหาริมทรัพย์ในไทย จึงต้องกำหนดให้รัดกุมที่สุด เพราะประเทศที่หวังจะ “ฮุบ” อสังหาริมทรัพย์ในไทย ก็ไม่ใช่อื่นไกล คือจีนนั่นเอง ส่วนสหรัฐ ญี่ปุ่น ยุโรปคงไม่มาแข่งด้วย
เราต้องเตรียมรับมือการบุกยึดเศรษฐกิจไทยของจีนโดยด่วน
อ้างอิง
<1> 100 ปี พรรคคอมมิวนิสต์จีน ความเป็นมาและก้าวต่อไปในศตวรรษใหม่. https://www.bbc.com/thai/international-57692590
<2> United Nations General Assembly Resolution 2758. https://en.wikipedia.org/wiki/United_Nations_General_Assembly_Resolution_2758
<3> Eric Zhu and Tom Orlik. When Will China Rule the World? Maybe Never. Bloomberg. July 6, 2021. https://www.bloomberg.com/news/features/2021-07-05/when-will-china-s-economy-beat-the-u-s-to-become-no-1-why-it-may-never-happen
<4> India may overtake China as most populous country sooner than UN projections of 2027. https://cutt.ly/rmnoGdC
<5> Investopedia. The Top 25 Economies in the World. https://www.investopedia.com/insights/worlds-top-economies