ย้ายหัวลำโพง เปลี่ยนฮวงจุ้ยเมืองหรือไม่
  AREA แถลง ฉบับที่ 567/2564: วันจันทร์ที่ 09 สิงหาคม 2564

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

             ในอนาคตอันใกล้ หัวลำโพงก็จะปิดฉากแล้ว เนื่องจากมีการย้ายชุมทางสถานีหลักของรถไฟไทยไปอยู่ที่สถานีกลางบางซื่อ แล้วฮวงจุ้ยของเมืองจะเปลี่ยนไปอย่างบไร จะเปลี่ยนไปในทางที่ดีหรือไม่ อยู่ที่มือของเรานั่นเอง

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการผังเมืองให้ความเห็นว่าการย้ายหัวลำโพงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะได้ผ่านการวางแผนการสร้างสถานีกลางบางซื่อมานานแล้ว และไม่เฉพาะจะเป็นสถานีกลางสำหรับรถไฟ แต่ยังเป็นศูนย์รวมรถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูงตลอดจนรถไฟรางคู่อีกด้วย

            อันที่จริงสถานีรถไฟกลาง สถานีรถ บขส. ไปต่างจังหวัด และศูนย์รวมสถานีรถไฟฟ้า ควรจะอยู่รวมกัน ดร.โสภณ ได้ยกตัวอย่าง "บขส" คือ Port Authority Bus Terminal และ "หัวลำโพง" ของนครนิวยอร์ก (Penn Station) ก็ตั้งอยู่ใกล้กันในย่านใจกลางเมืองบนเกาะแมนฮัตตัน หรือในกรณีกรุงลอนดอน "บขส" ก็อยู่ใกล้พระราชวังบักกิงแฮมเลย ชื่อ Victoria Coach Station หากกรณีกรุงเทพมหานครไปตั้งอยู่นอกเมือง ห่างจากกรุงเทพมหานครถึง 40 กิโลเมตร ก็เท่ากับไม่มีรถ "บขส" เข้าเมืองเลยในอนาคต ต้องต่อรถกันพัลวัน เสียค่าใช้จ่ายประมาณ 300-400 บาท หากนั่งแท็กซี่เข้าเมือง แพงกว่าค่าโดยสารรถ บขส. จากต่างจังหวัดเสียอีก

            หากเราเดินทางไปยังนครใหญ่น้อยในญี่ปุ่น สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และประเทศตะวันตกอื่นๆ เช่นที่เกาะฮอกไกโด จะเห็นศูนย์คมนาคมในหลายเมือง เช่น ซัปโปโร และเมืองเล็กๆ อื่นๆ มีสถานีรถไฟกลางเมือง สถานีรถประจำทางในเมืองและระหว่างเมือง สถานีรถไฟใต้ดิน รวมทั้งศูนย์แท็กซี่ ก็ล้วนรวมอยู่ในที่เดียวกัน ทั้งนี้เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้เดินทางทั้งภายในเมืองและระหว่างเมือง

            แม้แต่การมี “เอกมัย” “สายใต้” และ “หมอชิต” ก็เป็นแนวคิดที่ผิดสำหรับ “บขส.” เพราะความไม่สะดวกในการเดินทาง เราจึงควรให้อยู่รวมกันแบบนครนิวยอร์ก หรือกรณีตัวอย่างอีกแห่งหนึ่งก็คือโครงการ KL Sentral ของกรุงกัวลาลัมเปอร์ ที่รวมรถไฟชานเมือง รถไฟต่างจังหวัด รถบัส รถไฟฟ้าสารพัดสายมาอยู่รวมกัน นกรุงกัวลาลัมเปอร์ ที่ดินแปลงนี้มีขนาดแค่ 200 ไร่ ซึ่งมีการก่อสร้างเต็มพื้นที่ ไม่ได้กันพื้นที่เป็นสวนแต่อย่างใด แต่อาคารอาจก่อสร้างเป็น Zero-Carbon หรือไม่ปล่อยมลพิษเลยก็ว่าได้

            อย่างไรก็ตามในกรณีกรุงเทพมหานคร กลับแยกส่วนออกไปคนละทิศละทาง แม้แต่หมอชิตก็ยังมีข่าวจะย้ายไปถึงรังสิต ซึ่งทำให้ค่ารถ บขส. ชั้น 3 เดินทางไปกลับจากเชียงรายถึงกรุงเทพมหานคร ยังอาจถูกกว่าค่าแท็กซี่จาก บขส.รังสิตเข้ามาถึงในใจกลางเมืองกรุงเทพมหานครก็เป็นไปได้  ทุกวันนี้เราได้แยกส่วนและสร้างความยากลำบากในการเดินทางและต้นทุนค่าเดินทางที่สูงมากแก่ประชาชน

            แต่ในเมื่อ “หัวลำโพง” ย้ายออกไปแล้ว ที่ตรงนั้นจะนำไปทำอะไรดี อันที่ดินใจกลางเมือง เช่นค่ายทหารกลางกรุงมะนิลาหลายแห่ง ก็ให้ย้ายออกและพัฒนาเป็นศูนย์การค้าไปแล้ว ท่าเรือกลางกรุงลอนดอน (London Docklands) 1,338 ไร่ ก็นำมาพัฒนาในเชิงพาณิชย์อย่างเข้มข้น นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างที่ตั้งเวิลด์เอ็กซ์โป กลางนครเซี่ยงไฮ้ 3,300 ไร่ แต่เดิมก็เป็นย่านโรงงาน-โกดังเก่าใจกลางเมือง นำมาพัฒนาเพื่อรับใช้คนเมือง ไม่ได้คิดจะเก็บโกดังเก่าแก่ไว้เป็นอนุสรณ์สถานแต่อย่างใด หรืออย่างสถานีรถไฟนครโอซากาที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว เพราะรถไฟลงใต้ดินหมด ที่ดินแปลงนั้นก็นำมาประมูลหาประโยชน์เข้ารัฐ

            ดังนั้นหัวลำโพงของไทยเรานั้น แทนที่จะคิดนำไปทำเป็นพิพิธภัณฑ์ เก็บอาคารทรงโค้งที่ไม่มีใครสร้างแบบนี้ไว้เป็นอนุสรณ์ ก็เท่ากับให้ “คนขายขายคนเป็น” แต่ควรย้ายอาคารดังกล่าวไปสร้างเป็นอนุสรณ์สถานในที่อื่น ที่ดินแปลงใหญ่ที่เป็นหัวลำโพงเดิมนี้ ก็นำมาประมูลเพื่อสร้างเป็นศูนย์ธุรกิจ นำความเจริญเข้าสู่เมือง นำรายได้มาพัฒนาประเทศ จะเป็นประโยชน์เป็นอย่างยิ่งต่อส่วนรวม

            ด้วยเหตุนี้เราจึงจะสามารถนำหัวลำโพงมาเสริมสร้างฮวงจุ้ยของเมืองด้วยการพัฒนาในเชิงพาณิชย์ ให้บริษัทเอกชนใหญ่ๆ มาเช่าเป็นสำนักงานในระยะเวลา 50 ปีตามกฎหมายที่มีอยู่ (ไม่ต้องถึง 90 ปี) ให้แต่ละบริษัทมาสร้างอาคารสำนักงาน เพราะบริเวณนี้ก็มีรถไฟฟ้าวิ่งผ่าน มีความเจริญเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ฮวงจุ้ยของเมืองก็ได้รับการส่งเสริมให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ไม่ใช่นึกง่ายๆ แค่เอาไปเป็นโบราณสถาน เอาไปเป็นพิพิธภัณฑ์เท่านั้น

            การพัฒนาเมืองต้องคิดให้รอบคอบ เราไม่ลืมอดีต ใครอยากชื่นชมความขลังของอาคารโกดัง-โรงซ่อมรถไฟอายุร้อยปี ก็สามารถไปชื่นชมที่หัวลำโพง นำไปสร้างไว้รวมกันเป็นพิพิธภัณฑ์ แต่อย่าให้ "คนตายขายคนเป็น" นะครับ

อ่าน 1,689 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved