ทุกวันนี้มีการปลูกกล้วย ปลูกส้ม หรือไม้ผลอื่นๆ บนที่ดินว่างเปล่าใจกลางกรุงอยู่มากมายทุกหัวระแหง จนนับไม่ถ้วน หันไปทางไหนก็เจอการเลี่ยงภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอย่างนี้ ไม่ใช่ว่าคนร่างกฎหมายฉบับนี้จะไม่รู้ว่านี่เป็นการเปิดช่องทางในการเลี่ยงภาษี จงใจทำให้ประเทศชาติเสียหายเก็บภาษีได้น้อยลง พัฒนาประเทศได้น้อยลง คนร่างกฎหมายนี้จึงสมควรถูกนำไปลงโทษ อย่าให้เป็นเยี่ยงอย่าง
ที่ดินบางแปลง มีเนื้อที่รวมกันประมาณ 50 ไร่ ราคาตารางวาละ 1 ล้านบาท มูลค่าแปลงละไม่ตํ่ากว่า 20,000 ล้านบาท เดิมเป็นที่รกร้าง แต่ต่อมากลายเป็นสวนมะนาว ก่อนกฎหมายบังคับใช้เพียงแค่ 1 เดือนทั้งนี้หากเทียบอัตราที่ดินรกร้าง อย่างที่ดินของคุณพ่อของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ขายที่ดิน 50 ไร่ 3 งาน 8 ตารางวาบนถนนบางบอน 3 ในราคา 600 ล้านบาท ปรากฏว่า ณ เดือนมีนาคม 2564 ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย ได้ประเมินใหม่เป็นเงิน 720 ล้านบาท แสดงว่าผู้ซื้อก็ได้กำไรไปถึง 20% หรือเพิ่มขึ้นปีละ 3.9% หากสมมติให้ราคาประเมินของกรมธนารักษ์สำหรับที่ดินแปลงนี้เป็นเงิน 200 ล้านบาท
1. หากที่ดินแปลงนี้เป็นที่ว่างเปล่า 50 ล้านแรก จะเก็บ 0.3% และ 51-200 ล้านบาท จะเก็บ 0.4% ก็จะเป็นเงินปีละ 750,000 บาทเท่านั้น
2. แต่การ “แสร้ง” ทำเป็นที่ดินเกษตรที่มีรายได้สุดต่ำและไม่คุ้ม ก็จะเสียภาษีในอัตรา 0.01% สำหรับที่ดินราคา 75 ล้านบาทแรก 0.03% สำหรับที่ดิน 25 ล้านบาทล้านบาทถัดมา และอีก 0.05% สำหรับที่ดิน 100 ล้านบาทถัดมา หรือรวมแล้วเสียภาษีเพียง 65,000 บาท ทั้งนี้ในกรณีบริษัท แต่ถ้าในกรณีบุคคลธรรมดา ไม่ต้องเสียภาษีในช่วง 3 ปีแรกอีกต่างหาก
3. แถมในพระราชกฤษฎีกาลดภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2564 ณ 30 มกราคม 2564 และเพิ่งต่ออายุใหม่เมื่อเร็วๆ นี้ ระบุว่าให้ลดภาษีสำหรับที่ดินเกษตรกรรมและอื่นๆ ลงอีก 90% เหลือ 10% ก็แสดงว่าที่ดินมูลค่า 720 ล้านบาทแปลงนี้จะเสียภาษีเพียง 6,500 บาทต่อปีเท่านั้น
การที่ที่ดินราคา 720 ล้านบาท แต่เสียภาษีเพียง 6,500 บาท จึงไม่มีความเป็นธรรม หากพิจารณาตามมาตรฐานสากล ที่ดิน 720 ล้านบาทแปลงนี้ หากต้องเสียภาษีสัก 1.5% ควรเสียภาษีประมาณ 10.8 ล้านบาทต่อปี ไม่ใช่ 6,500 บาทต่อปีเช่นนี้ และแม้ต้องเสียภาษีถึง 10.8 ล้านบาทต่อปี ราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นต่อปีที่ 3.9% ก็ยังมากกว่าภาษีที่ต้องเสียอยู่ดี คนรวยๆ หรือใครก็ตามจึงไม่ควรกลัวการเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
กรณีนี้ชี้ให้เห็นว่าระบบภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของไทยนั้นบิดเบี้ยวไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง และเอื้อผลประโยชน์ต่อ “เจ้าสัว” ทั้งหลายเป็นอย่างยิ่ง คณะเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการออกกฎหมายทั้งพระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา ที่ทำให้ประเทศชาติเสียผลประโยชน์ควรถูกลงโทษ ยึดทรัพย์ ยึดคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ยึดบำเหน็จบำนาญ ถูกไล่ออกจากราชการ และควรฟ้องร้องให้ได้รับโทษทางอาญาด้วยซ้ำไป
บางคน (แสร้ง) มองปรากฏการณ์นี้ในแง่ดี เช่น
1. กระตุ้นให้เจ้าของที่ดินนำที่รกร้างว่างเปล่ามาใช้ประโยชน์ แต่การใช้ประโยชน์อย่างนี้คือการเลี่ยงภาษีอย่างน่าละอายกลับไม่พูดถึง
2. ไม่ปล่อยที่ให้รกร้างให้เป็นแหล่งบ่มเพาะอาชญากรรม แต่ในความเป็นจริงการป้องกัน ป้องปรามและแก้ไขเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้ามีการจัดเก็บภาษีถูกต้อง มี “ไฟลนก้น” เจ้าของที่ดินก็ไม่ปล่อยปละละเลยที่ดินเช่นนี้อยู่แล้ว
3. เพิ่มปอด พื้นที่สีเขียวให้กับเมือง แต่ความจริงนี่เป็นพื้นที่สีเขียวกำมะลอที่แค่ปลูกกล้วย ปลูกมะนาว ไม้ไม่คงทนถาวร ไม่ได้ช่วยเพิ่มปอดอะไรนักเลย
4. ช่วยชะลออุปทานที่อยู่อาศัยใหม่ๆ ไม่ให้ออกมาจนล้นตลาดจากความตื่นกลัวภาษี อันที่จริงเราไม่จำเป็นต้องพัฒนาเป็นแบบเดียวกันคือที่อยู่อาศัยก็ได้ แต่เราควรเอาที่ดินเปล่านี้มาพัฒนาเพื่อไม่ให้เมืองขยายไปในแนวราบไม่สิ้นสุด ถ้าตลาดที่ดินไม่ได้เป็นของผู้ขาย แต่เป็นของผู้ซื้อ ราคาก็ไม่ขึ้นสูงอย่างรวดเร็วเช่นทุกวันนี้ ประชาชนส่วนใหญ่กลับได้ประโยชน์ที่ราคาอุปทานใหม่ๆ ไม่เพิ่มราคาขึ้นมากนักเสียอีก
อย่างไรก็ตามการแสร้งทำการเกษตรนี้เท่ากับเป็นการวางแผนไว้แต่แรกเพื่อเปิดช่องให้อภิมหาเศรษฐี สามารถหลบเลี่ยงภาษีได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้ผลประโยชน์ของรัฐลดลง รายได้ที่ควรนำมาจากภาษีคนรวยมาช่วยคนจน มาช่วยพัฒนาประเทศก็ลดน้อยถอยลง จึงถือว่าการร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้ เป็นการกระทำที่ผิดพลาด (ด้วยความจงใจหรือไม่ก็ตาม) ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการร่างและการออกกฎหมายที่ทำร้ายชาติเช่นนี้ สมควรได้รับการลงโทษ ถ้าเป็นในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช ก็ควรนำไปประหารเจ็ดชั่วโคตร และในสังคมสมัยใหม่ คนที่ไม่เกี่ยวข้องไม่ควรได้รับโทษส่งเดช จึงควรลงโทษเฉพาะคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง
เราไม่ควรกลัวการเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพราะราคาที่ดินเพิ่มขึ้นปีละ 3-5% อยู่แล้ว ภาษีนี้ยิ่งเสียยิ่งดี “ยิ่งให้ ยิ่งได้” ยิ่งทำให้ชุมชนมีคุณภาพจากผลพวงของภาษีบำรุงท้องถิ่น ราคาทรัพย์สินก็ยิ่งงอกงาม