วิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สินในประเทสไทย ผ่านไป 20 กว่าปียังไปไม่ถึงไหน ต่างจากอินโดนีเซียและเวียดนามที่เคยด้อยกว่าไทยแต่ก้าวพรวดพราดไปไกลแล้ว
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) เคยเป็นที่ปรึกษากระทรวงการคลังเวียดนาม เพื่อจัดทำ Roadmap ในการพัฒนาวิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สิน และเคยเป็นที่ปรึกษาในโครงการของกระทรวงการคลังอินโดนีเซียเพื่อสอนวิชาประเมินค่าทรัพย์สินใน 3 เมืองหลัก กล่าวว่า ประเทศไทยผ่านมา 20 กว่าปีแล้ว แต่วิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สินก็ยังไปไม่ถึงไหน
ในระหว่างวันที่ 28-29 มิถุนายน 2543 ณ โรงแรมโนโวเทล สยามสแควร์ กรุงเทพฯ มีการสัมมนาเรื่อง “Workshop on Property Valuation Policy” โดยมีเจ้าภาพร่วมจัดประชุมปฏิบัติการประกอบด้วย ธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ที่ปรึกษาจากประเทศออสเตรเลีย และมี ดร.โสภณ เป็นผู้ประสานงานการดำเนินการประชุม โดยเอกสารสรุปผลการประชุมนี้ อ.แคล้ว ทองสม ได้เก็บรักษาไว้และนำมาให้ ดร.โสภณ ดู ดร.โสภณจึงนำมาเผยแพร่เพื่อกระตุ้นการพัฒนาวิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สินอีกครั้งหนึ่ง
บทสรุปการสัมมนาโดย ดร.โสภณ
ผลกระประชุมเป็นดังนี้:
ประการแรก การพัฒนาสำนักงานกลางประเมินราคาทรัพย์สิน รัฐบาลมีนโยบายการปรับปรุงการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือน เพื่อเพิ่มรายได้ในอนาคต ขณะที่พระราชบัญญัติที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอยู่ในระหว่างการปรับปรุงแก้ไข ในขณะที่สำนักงานกลางประเมินราคาทรัพย์สินมีกำลังคนและการจัดทำการประเมินเพื่อการเก็บภาษีอยู่แล้ว ที่ประชุมจึงเห็นพ้องว่าให้สำนักงานกลางประเมินราคาทรัพย์สินสมควรรับหน้าที่นี้ต่อไป แต่ต้องมีการพัฒนาสำนักงานกลางประเมินราคาทรัพย์สินเป็นองค์การมหาชนหรือองค์การประเมินค่าทรัพย์สินแห่งชาติ พร้อมการออกพระราชบัญญัติประเมินมูลค่าทรัพย์สิน ความจำเป็นเร่งด่วนก็คือ การจัดทำแผนพัฒนาองค์การให้เป็นองค์การมหาชน หรือองค์การประเมินราคาทรัพย์สินแห่งชาติในรายละเอียดก่อนที่จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการต่อไป
ประการที่สอง เกี่ยวกับมาตรฐานการประเมินค่าทรัพย์สินในขณะที่ภาครัฐบาลและภาคเอกชนยังใช้มาตรฐานที่แตกต่างกันในการประเมินค่าทรัพย์สินทำให้มูลค่าทรัพย์สินที่ประเมินได้แตกต่างกันไปที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันว่าภาครัฐและภาคเอกชน ควรจะใช้มาตรฐานเดียวกันในการประเมินทรัพย์สินทั่วประเทศ สำนักงานกลางประเมินราคาทรัพย์สิน ควรจะเป็นผู้กำหนดมาตรฐานการประเมินค่าทรัพย์สินพร้อมกับการควบคุมทางวิชาชีพ ซึ่งบทบาทนี้ควรมีกำหนดเป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานกลางประเมินราคาทรัพย์สินตามพระราชบัญญัติประเมินมูลค่าทรัพย์สิน
ประการที่สาม ข้อมูลมูลค่าทรัพย์สิน ข้อมูลราคาประเมินทรัพย์สินที่จัดทำโดยสำนักงานกลางประเมินราคาทรัพย์สินยังไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ และยังมีข้อจำกัดในการให้ข้อมูลเพื่อหน่วยราชการเป็นหลัก และข้อมูลด้านการซื้อ-ขาย สำนักงานกลางประเมินราคาทรัพย์สินยังไม่มีอำนาจทางกฎหมายในการรวบรวมก่อให้เกิดปัญหาความถูกต้องในการประเมินราคาทรัพย์สินที่ประชุมจึงเห็นสมควรให้มีพระราชบัญญัติประเมินราคาทรัพย์สินเพื่อให้อำนาจแก่สำนักงานกลางประเมินราคาทรัพย์สินในการรวบรวมข้อมูลซื้อ-ขาย รวมทั้งตรวจสอบสภาพทรัพย์สิน และขอเอกสารข้อมูลทรัพย์สินเพื่อประกอบการประเมินค่าทรัพย์สินอย่างถูกต้อง นอกจากนี้สถาบันภาครัฐและภาคเอกชนยังจะได้ประโยชน์จากข้อมูลการประเมินทรัพย์สินดังกล่าว ฉะนั้นจึงสมควรให้สำนักงานกลางประเมินราคาทรัพย์สินพัฒนาและเผยแพร่ข้อมูลต่อทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต่อไป
ประการที่สี่ บทบาททางด้านการประเมินเพื่อการเวนคืน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการประเมินเพื่อการเวนคืน มีความต้องการใช้บริการประเมินเพื่อการนี้ และยังมีขีดความสามารถจำกัดในการดำเนินการเอง พร้อมทั้งสำนักงานกลางประเมินราคาทรัพย์สินได้หยุดการให้บริการดังกล่าวในด้านนี้ ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืน และจะเป็นอุปสรรคกับการพัฒนาประเทศโดยรวม ที่ประชุมจึงเห็นสมควรเพิ่มหน้าที่นี้ให้กับสำนักงานกลางประเมินราคาทรัพย์สินในการดำเนินการดังกล่าว
คำกล่าวของรองอธิบดีกรมที่ดิน (ว่าที่ ร.ต.สอาด ชมบุญ)
กราบเรียน ฯพณฯ ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังที่เคารพอย่างสูง กระผมในนามของกรมที่ดิน ธนาคารโลก องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ ผู้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่องนโยบายการประเมินราคาทรัพย์สิน ขอขอบพระคุณ ฯพณฯ ท่านเป็นอย่างสูงที่ได้กรุณามาเป็นประธานในการรับฟังหัวข้อสรุปผลการประชุมเชิงปฏิบัติการ และเป็นประธานกล่าวปิดประชุมในวันนี้ สืบเนื่องมาจากการที่รัฐบาลได้เห็นชอบให้ดำเนินการโครงการพัฒนากรมที่ดินและเร่งรัดการออกโฉนดที่ดินทั่วประเทศ โครงการได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2528 โดยวัตถุประสงค์หลักนอกจากจะเร่งรัดการออกโฉนดที่ดินให้ผู้มีสิทธิในที่ดินแล้ว วัตถุประสงค์หลักที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการพัฒนาการประเมินราคาทรัพย์สินในประเทศไทย
จากการติดตามโครงการพัฒนากรมที่ดินฯ อย่างใกล้ชิดโดยตลอด ธนาคารโลก กรมที่ดิน สำนักงานความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาระหว่าประเทศแห่งประเทศออสเตรเลีย และที่ปรึกษาของออสเตรเลียได้ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการกับสำนักงานกลางประเมินราคาทรัพย์สินมาตั้งแต่เริ่มโครงการฯ ได้เห็นพ้องต้องกันว่าสถานการณ์ที่เป็นอยู่ปัจจุบัน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตระหนักถึงความสูญเสียประโยชน์อย่างสำคัญยิ่งของการขาดการให้บริการด้านการประเมินราคาทรัพย์สินในภาครัฐที่เป็นมาตรฐาน และมีความจำเป็นที่จะต้องทบทวนนโยบาย และบทบาทภาระหน้าที่ในระยะสั้น ได้แก่ ภาระหน้าที่ปัจจุบันในการประเมินราคาเพื่อจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดิน กับระยะยาวที่จะขยายบทบาทภาระหน้าที่ครอบคลุมด้านการประเมนราคาทรัพย์สินให้ภาครัฐเพื่อเป็นฐานในการจ่ายค่าทดแทนเพื่อการเวนคืนที่ดินมาเป็นของรัฐ และเพื่อให้หน่วยราชากรท้องถิ่นใช้เป็นฐานในการจัดเก็บภาษีต่อไป
กรมที่ดินและธนาคารโลกได้ตระหนักถึงความจำเป็นของการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและบทบาทดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อให้นโยบายมีผลทางปฏิบัติและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกฝ่ายจึงได้มีความเห็นพ้องต้องกันในการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่องนโยบายการประเมินราคาทรัพย์สินขึ้นโดยหน่วยงานและกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดและใช้ราคาประเมินได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และความต้องการใช้บริการด้านการประเมินราคาทรัพย์สิน เพื่อได้เป็นทางเลือกในการนำเสนอรัฐบาลพิจารณากำหนดนโยบายและบทบาทของหน่วยปฏิบัติที่สอดคล้องต่อความต้องการใช้ราคาประเมิน และต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศโดยรวม ประเด็นที่มีการพิจารณาและข้อสรุปตลอดระยะเวลา 2 วัน ของการประชุมครั้งนี้ก็คือ
1. ขอบเขตหน้าที่และรูปแบบขององค์การของหน่วยงานที่รับผิดชอบการประเมินราคาเพื่อจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
2. เพื่อกำหนดมาตรฐานการประเมินราคาและมาตรการการควบคุม ตรวจสอบคุณภาพราคาประเมิน และจรรยาบรรณของนักประเมินราคา
3. ประเมินราคาเพื่อการเวนคืน
4. ข้อมูลราคาประเมินทรัพย์สิน
สำหรับข้อสรุปแต่ละประเด็นซึ่งจะเป็นผลจากการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้จะได้นำเสนอต่อไป
อนึ่ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงมาร่วมกันแสดงความคิดเห็น และแสวงหาทางเลือกเพื่อให้ได้ข้อยุติตามประเด็นดังกล่าว ได้แก่ กรมที่ดิน สำหนักงานกลางประเมินราคาทรัพย์สิน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการข้างราชการพลเรือน ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงบประมาณ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักบริหารหนี้สาธารณะ กรมการปกครอง กรมโยธาธิการ กรมทางหลวง การเคหะแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร สมาคมธนาคารไทย สมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ในช่วงเวลาต่อไปนี้ขออนุญาตนำเสนอข้อสรุปผลการประชุมเชิงปฏิบัติการ และหลังจากนำเสนอแล้วขอกราบเรียนเชิญ ฯพณฯ ท่านกรุณาให้คำแนะนำหรือชี้แนะ และกล่าวปิดประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่องนโยบายการประเมินราคาทรัพย์สิน ครั้งนี้ด้วย จักขอบคุณยิ่ง
คำกล่าวปิดของ ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม รมว.คลัง
ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม เรียนท่านรองอธิบดีและท่านผู้มีเกียรติ วันนี้ผมรู้สึกเป็นเกียรติและยินดีที่ได้มีโอกาสมาร่วมงานการสัมมนาซึ่งได้ทราบว่าจัดโดยความช่วยเหลือจากองค์การระหว่างประเทศหลายแห่งด้วยกัน เช่น ธนาคารโลก FAO รวมถึงออสเตรเลียแล้วก็ CP จริง ๆ แล้วขอเรียนว่า เมื่อผมได้รับคำเชิญเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรก ผมนึกถึงเมื่อตอนปี 2520 ซึ่งก่อนหน้าที่ผมจะเริ่มทำงานใหม่ ๆ ไม่กี่เดือน งานนี้เป็นงานที่ได้มีการศึกษามาแล้วโดย IMF แล้วผมก็ได้มาทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นครั้งแรก ได้ทราบว่าไม่กี่เดือนก่อนหน้านั้นทาง IMF ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาคนหนึ่งชื่อ Mr.Robersson ได้มาศึกษาในเรื่องนี้ และได้เสนอแนะให้ประเทศไทยมีการจัดตั้งสำนักงานกลางประเมินราคาทรัพย์สินขึ้นมาที่กรมที่ดิน
ด้วยปัญหาหลาย ๆ ประการด้วยกันอย่างที่เราประสบอยู่ทุกวันนี้ ก็คือราคาทรัพย์สินไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เวลาไปบอกกับทาง Bank ก็ต้องประเมินราคาไว้สูง ๆ แต่เวลาไปบอกกับทางคนเก็บภาษีก็จะบอกราคาต่ำ ๆ หรือเวลาจะซื้อจะขายก็ไม่มีราคาที่อ้างอิงได้อย่างชัดเจน ก็เกิดข้อขัดแย้งหรือเวลามีการเวนคืนหลวงก็จะเอาราคาที่ต่ำที่สุดมาเป็นเกณฑ์ แต่เวลาประเมินภาษีก็จะเอาราคาที่สูงที่สุดมาเป็นเกณฑ์เหล่านี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นหลักตอนนี้ก็คืออยากให้มีการตั้งสำนักกลางขึ้นมา จำได้ว่าตอนนั้นกรมที่ดินก็มีข้าราชการท่านหนึ่ง ถ้าจำไม่ผิดชื่อคุณดุสิต ได้ข่าวลาออกไปแล้วเป็นผู้ดำเนินการในเรื่องนี้ เวลาล่วงเลยมาร่วม 20 กว่าปีที่ผมจำความได้ จบจนกระทั่งวันนี้เห็นว่ามีการจัดสัมมนาในงวดนี้ มีความรู้สึกว่าเป็นเรื่องเก่าที่เคยพูดกันมาแล้ว
จริง ๆ บทบาทของสำนักงานกลางแห่งนี้ ซึ่งมีการจัดตั้งมาตั้งแต่ปี 2528 ก็น่าจะมีบทบาทที่กว้างขวางตามดำริไว้แต่แรก คือสามารถให้ประโยชน์ไม่เฉพาะแต่ทางราชการในการประเมินราคาทรัพย์สินเรื่องการเวนคืน หรือเรื่องการเก็บภาษีเท่านั้น ในบรรดาธนาคารพาณิชย์ที่มีการประเมินราคาของลูกค้าที่จะมาจดจำนองเพื่อการประกันการกู้ยืมเงินก็ตาม หรือ Bank อาคารสงเคราะห์ ซึ่งในวันนี้ไม่มีตัวแทนมาอยู่ ณ ที่นี้ด้วย ก็จะได้ประโยชน์จากที่ให้กู้กับประชาชนที่มากู้เงินเพื่อซื้อบ้าน จะได้มีการกำหนดราคาที่ถูกต้อง จริง ๆ แล้วบทบาทของสำนักงานแห่งนี้ น่าจะมีได้มากแล้วก็ในหลาย ๆ ประเทศ เช่นที่ สิงคโปร์ ก็เป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญอย่างมากในการที่จะให้ราคาเป็นราคาที่ยอมรับของทุกฝ่าย
เมื่อสักครู่ที่ได้ฟังรายงานจากการประชุมผมเองก็เป็นห่วงอยู่เล็กน้อยในประเด็นที่ว่าขณะนี้งานของภาครัฐทำได้ไม่เต็มที่แต่กลไกของเอกชนได้เริ่มต้นแล้ว มีบริษัทประเมินราคาที่ดินประเมินราคาทรัพย์สินขึ้นมาแล้วจำนวนไม่น้อยทีเดียว แล้วก็ทำหน้าที่นี้อยู่ด้วย แล้วก็ทำหน้าที่ในการให้บริการกับสถาบันการเงิน เช่น ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ในการประเมินราคาทรัพย์สินให้ด้วยอยู่แล้ว ถ้าหากว่ามีองค์กรของรัฐจัดตั้งอย่างนี้แล้วก็ทำงานแทรกซ้อนกันปัญหาคือว่า จะให้ภาครัฐกับเอกชนมีบทบาทที่แตกต่างกันอย่างไร จะให้รัฐเป็นผู้กำหนดโดยองค์กรนี้หรือจะให้เอกชนเป็นผู้กำหนดอย่างที่เป็นมา
บทบาทตรงนี้ผมอยากจะเห็นความชัดเจนในเรื่องนี้เพราะว่าที่ผ่านมาสมาคมของเอกชนในเรื่องนี้ได้มีการดูแลในเรื่องนี้มาพอสมควร ได้มีการทำงานโดยภาคเอกชนเพราะฉะนั้นผมอยากจะขอให้กรมที่ดิน ได้หารือกับทางสมาคมผู้ประเมินราคาทรัพย์สิน ซึ่งเข้าใจว่าเขามีการกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ซึ่งก็มีตัวแทนอยู่ ณ ที่นี่ด้วย ว่าจะแยกแยะหน้าที่อย่างไร เพราะว่าแน่นอนภาครัฐก็มีข้อดีส่วนหนึ่ง ภาคเอกชนก็มีข้อดีส่วนหนึ่ง และการที่จะให้เอกชนเป็นผู้ทำข้อมูลมีข้อดีคือมีความคล่องตัวสูง เป็นไปตามภาวะ แต่มีข้อเสียได้ว่าฉ้อฉลได้ง่าย คือเอกชนที่เป็นบริษัทผู้ประเมินถ้าได้คนที่ไม่ดีมาอาจจะประเมินราคาผิด ๆ ถูก ๆ ได้ ทำให้ความต้องการของอีกฝ่ายเกิดความเสียหายขึ้นมา แต่ซึ่งเรื่องนี้ก็คงต้องมาดูกันว่าระบบที่เหมาะสมเป็นอย่างไร
เมื่อกี้ได้ฟังว่าให้สถาบันแห่งนี้ให้สำนักงานเป็นผู้กำกับ ผู้ประเมินราคา ขณะที่ตนเองก็เป็นผู้ประเมินราคาด้วย ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าผมเข้าใจผิดหรือเปล่า อันนี้ก็คงจะเป็นจุดสำคัญที่ต้องการมีชี้ชัดมา ถ้าผมเข้าใจผิดก็ขอให้ช่วยแก้ไขด้วย แต่ถ้าเข้าใจไม่ผิดก็คือประเด็นนี้ต้องมีการสัมมนาชี้ชัดไป ผมก็อยากให้ที่ประชมแห่งนี้จะเป็นโอกาสต่อไปในระยะข้างหน้า เมื่อไรก็แล้วแต่ได้ชี้ชัดออกมาหรือว่าเป็นการทำงานในรูปแบบของคณะทำงานภายในของกรมที่ดินก็ได้ ว่าจะให้บทบาทของภาครัฐกับภาคเอกชนในเรื่องนี้เปลี่ยนแปลงแตกต่างอย่างไร แล้วก็ในรูปแบบของสำนักงานกลางในการเป็นหน่วยราชการหน่วยหนึ่ง ผมเองก็ยอมรับว่าการอยู่ในหน่วยราชการก็มีข้อจำกัดมากมายด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องอัตรากำลัง เรื่องของงบประมาณแผ่นดินที่จะเจียดจ่ายให้
เพราะฉะนั้นการฉีกตัวออกมาให้เป็นองค์การอิสระให้เป็นองค์การมหาชนก็น่าจะเป็นสิ่งที่เหมาะสม แต่ว่าจะให้ดีไปกว่านั้นผมอยากเห็นรูปแบบเหมือนกับบริษัทวิทยุการบินเสียด้วยซ้ำ คือเป็นหน่วยงานที่แยกออกไปจะเป็นรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นองค์การอิสระที่แยกออกไปจากรัฐบาลก็ยิ่งดี เพราะจริง ๆ รัฐบาลก็เป็นผู้ใช้ข้อมูล รัฐบาลเป็นผู้รับบริการเหมือนกัน อาจจะมีข้อขัดแย้งผลประโยชน์ก็ได้ ถ้าหากมีฐานะเป็นหน่วยราชการอยู่ หรือเป็นองค์กรของรัฐอยู่ ถ้าหากสามารถตั้งเป็นหน่วยงานอิสระที่มีทั้งเอกชนและรัฐเป็นผู้ถือร่วมกัน เหมือนกับบริษัทประเมินฐานะความน่าเชื่อถือ เช่น ทริส น่าจะเป็นรูปแบบหนึ่ง
จริง ๆ งานนี้เป็นงานที่ขายบริการได้ หารายได้ด้วยตัวเองได้ มีรายได้ของตัวเองได้ ไม่จำเป็นต้องมาพึ่งพางบประมาณหรือรายได้รัฐที่เจียดจ่ายให้ สามารถเก็บค่าบริการ เก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ใช้บริการได้ ไม่ว่าจะเป็นกรมที่ดินที่ใช้ในการประเมินราคาที่ดิน จัดเก็บภาษีที่ดิน หรือเก็บจาก Bank ที่จะมาใช้บริการในการประเมินราคาทรัพย์สิน หรือเก็บจากกรมทางหลวงที่มีการเวนคืนที่ดิน สามารถที่จะหารายได้เลี้ยงตัวเองได้ ทั้งรูปแบบที่น่าจะคิด คือเป็นรูปแบบของเป็นกิจการอิสระที่เป็นกิจารที่เหมือนกับ ทริส เหมือนกับหน่วยงานที่อยู่ได้ด้วยตนเอง อาจจะไม่ได้เป็นหน่วยงานเดี่ยวอาจจะมีคนอื่นมาตั้งแข่งก็ได้ ผมเชื่อในระบบการแข่งขันถ้าเรารู้ว่ามีคนอื่นมาแข่งกับเรา บรรยากาศในการทำงานน่าจะดีขึ้นคือทุกคนต้องพยายามแข่งขันเพื่อให้บริการออกมาดูดี ถ้าเป็นระบบ Monopoly ผูกขาดก็ออกมาจะเหมือนราชการคือไม่มีความกระตือรือร้นในการที่จะให้บริการได้
เพราะฉะนั้นรูปแบบที่เหมาะสมผมจึงอยากให้คิดให้รอบคอบให้ดีให้ลึกซึ้ง ว่างานนี้เป็นงานในเชิงธุรกิจได้ที่สามารถจะอยู่ได้ด้วยตนเองได้ สามารถที่จะมีความอิสระ มีความคล่องตัว ไม่ต้องผูกติดอยู่กับรัฐ หรือระบบราชการ ซึ่งก็จะมีข้อเสียเปรียบมากมายหลายประการด้วยกัน เราจะให้กฎหมายรองรับก็ได้ เราสามารถเอากฎหมายรองรับประกันความอิสระอันนี้ออกจากระบบราชการก็ได้ สิ่งเหล่านี้ผมก็อยากจะเห็นการทำงานที่ชัดเจนขึ้น หรือเป็นทั้งแนวเก่าแนวเป็นปัจจุบัน ก็คือให้บริษัทเอกชนต่าง ๆ ทำหน้าที่แต่ตัวเองเป็นผู้กำกับ เป็นผู้ตรวจสอบความถูกต้อง เหมาะสมและก็ลงโทษบริษัทเอกชนที่ทำผิดพลาด ทำเสียหาย หรือฉ้อโกง ผู้รับบริการ อันนี้ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่ผมคิดว่าเมื่อสักครู่ที่ฟังแล้วก็น่าจะเสริมเพิ่มเติมได้
ท้ายสุดนี้ผมมีความยินดีที่ได้มีโอกาสมาร่วมกิจกรรม และหวังเป็นอย่างยิ่งว่างานของการประเมินราคาทรัพย์สินน่าที่จะได้มีการดูแลให้เป็นระบบ เพราะว่าการพัฒนาประเทศในรูปแบบของประเทศไทย ที่เดินมาในแนวของทุนนิยม คือแนวที่จะต้องมีความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของมีการสะสมทุน ที่ดิน หรือทรัพย์สินก็เป็นทุนสำคัญอีกประการหนึ่ง เป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญประการหนึ่ง ไม่แพ้เงินและรายงานเรื่องทรัพย์สินที่ดินเป็นองค์ประกอบตัวหนึ่งที่สำคัญ การที่มีระบบที่ดูแลให้ราคาเหล่านี้มีความสม่ำเสมอมีความเหมาะสมกับสภาวการณ์ ไม่หวือหวา และก็ไม่ถูกปลุกปั่นจนไม่สอดคล้องกับเศรษฐกิจ ก็จะเป็นวิธีหนึ่ง หนทางหนึ่ง ในการช่วยจรรโลงให้เศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพ และมีความมั่นคง
เราจะได้เห็นว่าในอดีตที่ผ่านมา ทุกครั้งที่มีปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ มักเกิดจากปัญหาที่มีการซื้อ-ขายกันในราคาที่สูงเกินควร มีการตัดราคากัน ราคาไม่ได้สอดคล้องกับสภาพที่เป็นจริง เป็นการนำไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจล่มสลาย ซึ่งเรียกกันว่าฟองสบู่แตกในที่สุด และสิ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้เกิดในเมืองไทยเท่านั้น เกิดกับทั่วโลกมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา หรือฮ่องกง ก็ตาม
เพราะฉะนั้นถ้าเรามีระบบนี้อยู่และช่วยกันดูแลให้ระบบนี้ทำงานได้ เป็นระบบที่มีความน่าเชื่อถือหรือเป็นที่ยอมรับ ก็จะเป็นตัวที่ช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพให้กับประเทศโดยส่วนรวมนอกเหนือจากการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เราประสบกันอยู่ในเรื่องของการประเมินราคาเพื่อเวนคืน หรือเสียภาษี หรือว่าการกู้ยืมเงิน อย่างที่พูดจากันในวันนี้ ท้ายสุดนี้ผมก็ขอถือโอกาสนี้อำนวยพรให้พวกเราที่มาร่วมประชุมได้ประสบความสำเร็จในห้าที่การงาน หวังเป็นอย่างยิ่งว่างานนี้จะได้รับการจรรโลงได้รับการดูแลให้มีความสำเร็จต่อไป