ตอนแรกผมก็เคยเห็นด้วยกับการที่ให้ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินควบคุมกันเองแทนที่จะให้ระบบราชการมาคุม แต่ต่อมาคิดได้ว่าต้องคิดใหม่เสียแล้ว
วิชาชีพใดๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน นายหน้า ผู้บริหารทรัพย์สิน ล้วนแต่ควรมีการออกใบประกอบวิชาชีพเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค แต่เมื่อ 20 กว่าปีก่อน หลายคนก็คงคิดเหมือนผมว่า เราควรให้นักวิชาชีพควบคุมกันเองในลักษณะ Self-Regulatory Organization หรือย่อว่า SRO โดยดูตัวอย่างจากอังกฤษที่มี Royal Institution of Chartered Surveyors (RICS) เป็นต้นแบบ
อย่างไรก็ตาม SRO นี้มีเฉพาะในอังกฤษที่ก่อตั้งมา 153 ปีนับแต่ 15 มิถุนายน 2411 (สมัยรัชกาลที่ 4 ของไทย) และมีพัฒนาการเรื่อยมาจนได้รับคำว่า Royal นำหน้า <1> อย่างไรก็ตามนับแต่บัดนั้นจนบัดนี้ ก็ทำให้มีสมาชิกทั่วโลกเพียง 134,000 คนเท่านั้น <2> และในภาคพื้นยุโรป ก็มีการควบคุมวิชาชีพของตนเอง ไม่ใช่ว่าจะขึ้นต่อ RICS แต่ RICS ก็พยายามยกตนเองเป็นองค์กรระดับโลก
นอกจากนี้อีกเหตุผลหนึ่งที่ในช่วงแรกอยากให้นักวิชาชีพควบคุมกันเอง ก็เพราะเห็นว่าระบบราชการค่อนข้างยุ่งยากและยืดยาด อาจเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสิชาชีพ อย่างกรณีนักวิชาชีพช่างรังวัดเอกชนที่มีคณะกรรมการช่างรังวัดเอกชน <3> นั้น คณะกรรมการนี้ก็มีผู้ทรงคุณวุฒิ 7 ท่านแต่ทั้งหมดได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐมนตรี กรณีนี้ยิ่งทำให้เห็นว่านักวิชาชีพแทบไม่มีส่วนร่วมเท่าที่ควร
แต่ข้อเสียของ SRO แบบไทยๆ ก็คือ การให้ผู้บริหารของบริษัทประเมินบางแห่งมา “ใหญ่กว่า” บริษัทประเมินอื่นๆ มาควบคุม มาสอบ มาตัดสินอะไรต่างๆ โดยเป็นการให้คุณให้โทษแก่บริษัทประเมินอื่นนั้น เป็นความไม่เป็นธรรมเป็นอย่างยิ่ง และอาจจะมีข้อครหาในการเลือกที่รักมักที่ชัง ซึ่งก็มีข่าวข่าวเกิดขึ้นบ้างเป็นครั้งคราวในวงการต่างๆ ซึ่งแสดงถึงความไม่โปร่งใสเท่าที่ควร
ในอีกด้านหนึ่ง เราควรมีการควบคุมโดยทางราชการเพราะข้อดีก็คือการเป็นทางการ การเป็นที่ยอมรับทั่วไป และราชการในเชิงทฤษฎีก็คือเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของประชาชนที่เลือกตั้งมา ดังนั้น การปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน ต้องควบคุมโดยรัฐเป็นสำคัญ ส่วนสมาคมต่างๆ ก็อาจพัฒนาวิชาชีพกันเองได้ หรืออาจจัดงานสังสรรค์ระหว่างกันได้ แต่ก็ถือเป็นคู่ค้ากับประชาชนหรือสถาบันการเงินผู้ใช้บริการ จะครอบงำวิชาชีพฝ่ายเดียวก็คงไม่ได้
ทางออกที่ควรจะเป็นก็คือการเป็นสภาวิชาชีพเช่นเดียวกับสภาวิชาชีพบัญชี ที่แต่เดิมก็มาสมาคมวิชาชีพบัญชี แต่ก็ยุบเลิกสมาคมมาเป็นสภา ส่วนในวงการสถาปนิก วิศวกร ก็มีสภาวิชาชีพเช่นกัน ถึงแม้จะมีสมาคมในระดับ “พระบรมราชูปถัมภ์” ก็ตาม แต่การควบคุมวิชาชีพเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน ต้องให้ทางราชการดูแล หาไม่ก็จะเกิดการ “ซูเอี๋ย” กันได้ และทำให้เกิดความเสื่อมตามมา
แต่การเป็นสภาวิชาชีพก็มีปัญหายุ่งยากก็คือต้องออกเป็นพระราชบัญญัติ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าในประเทศไทยออกกฎหมายเพื่อประชาชนได้ยากและใช้เวลายาวนานมาก ประหนึ่งว่าจะพยายามเปิดช่องโหว่ไว้ให้มีการทุจริตกันอย่างง่ายดายเพราะไม่มีการควบคุมทางวิชาชีพอย่างจริงจัง ไม่มีการให้คุณให้โทษ ไม่มีการประกันทางวิชาชีพ ทำให้ไม่มีใครควบคุมกันมากนัก วงการวิชาชีพจึงไม่พัฒนาเท่าที่ควร
โดยสรุปแล้วเราต้องการ
1. ตั้งสภาวิชาชีพหรือไม่ก็ตั้งหน่วยงานขึ้นมากำกับดูแล โดยประธานย่อมเป็นผู้เกี่ยวข้องจากภาคราชการ ซึ่งอาจเป็นกรมธนารักษ์ กรมที่ดิน หรือ ก.ล.ต. แต่ไม่ใช่ให้แต่ละหน่วยงานมี Short List เป็นของตนเองต่างหาก
2. คณะกรรมการก็มาจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้ใช้บริการรายใหญ่ เช่น สถาบันการเงิน บริษัทมหาชน หรือส่วนราชการที่ต้องใช้บริการทางด้านนี้
3. ในส่วนที่สำคัญที่สุดก็คือ ตัวแทนนักวิชาชีพ ซึ่งไม่ใช่ให้นายกสมาคมหรือองค์กรวิชาชีพอื่นใดได้ไป “กินตำแหน่ง” โดยปริยาย แต่ตัวแทนเหล่านี้ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของนักวิชาชีพอย่างบริสุทธิ์โปร่งใสเพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
เรื่องแบบนี้ควรได้รับการผลักดันจากนักวิชาชีพ โดยผู้ประเมินค่าทรัพย์สินส่วนที่เป็นลูกจ้าง ต้องไม่เกรงใจนายจ้างจนขาดหลักการ บริษัทประเมินต้องไม่เกรงใจแต่ผู้บริหารสมาคม หรือส่วนราชการ การมีระบอบประชาธิปไตยในวงการจริงๆ จึงจะเป็นทางออกเพื่อให้วิชาชีพนี้มีที่ยืนในสังคมที่รับใช้ประชาชนและมีความรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวม ไม่ใช่แค่รักษาผลประโยชน์ของตนเอง พรรคพวก หรือแม้แต่นักวิชาชีพกันเอง
เราอยู่แบบนี้กันมานาน 2-3 ทศวรรษแล้ว พอได้แล้ว
อ้างอิง
<1> ประวัติ RICS. https://en.wikipedia.org/wiki/Royal_Institution_of_Chartered_Surveyors
<2> จำนวนสมาชิก https://www.rics.org/uk/about-rics/?link=bottom-nav
<3> โครงสร้างสำนักงานช่างรังวัดเอกชน https://www.dol.go.th/lo/Documents/doc1/history2562.pdf