ฟื้นโครงการเส้นทางลัดสู่ภาคใต้ (สมุทรสาคร-แหลมผักเบี้ย-ชะอำ)
  AREA แถลง ฉบับที่ 637/2564: วันศุกร์ที่ 10 กันยายน 2564

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            โครงการเส้นทางลัดสู่ภาคใต้ (สมุทรสาคร-แหลมผักเบี้ย-ชะอำ) ได้พับไปแล้ว แต่อันที่จริงควรสร้างมาก ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) มาช่วยกระตุ้นการก่อสร้างทางด่วนสายนี้

            เกี่ยวกับโครงการเส้นทางลัดสู่ภาคใต้ (สมุทรสาคร — แหลมผักเบี้ย — ชะอำ) ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ตามนี้: https://www.ryt9.com/s/ryt9/162293

 

            1.  ความเป็นมาของโครงการ

            การเจริญเติบโตและขยายตัวทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ส่งผลให้ปริมาณการจราจร และความต้องการ เส้นทางในการคมนาคมขนส่งเพิ่มมากขึ้น จึงเกิดความคิดในการศึกษาความเป็นไปได้ของเส้นทางเพื่อแก้ไขปัญหาจราจร และพัฒนาโครงข่ายการคมนาคมขนส่งจากกรุงเทพมหานครลงสู่ภาคใต้ โดยการขยายโครงสร้างพื้นฐาน อันเป็นปัจจัยส่งเสริมความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

            การจราจรและขนส่งระหว่างภาคใต้และภาคอื่นๆ ของประเทศไทยมี 2 เส้นทางหลักในการเดินทางได้แก่ ทางหลวงหมายเลข 4 (เพชรเกษม)  และทางหลวงหมายเลข 35 (พระรามที่ 2) โดยเฉพาะทางหลวงหมายเลข 4 ช่วง ก.ม. 136+500 วังมะนาว — เพชรบุรี เริ่มมีความไม่คล่องตัว ปัจจุบันมีปริมาณการจราจร  35,721  คันต่อวัน แต่จากการคาดการณ์ในอนาคต หากไม่มีโครงการก่อสร้างระบบขนส่งเพิ่มเติมแล้วปริมาณการจราจรปี 2550 จะมีปริมาณจราจร 36,467 คันต่อวัน และเพิ่มเป็น 62,338 คันต่อวันในปี 2560 และ สูงสุด 101,268 คันต่อวัน ในปี 2570

            เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรระหว่างภาคใต้และภาคต่างๆ ของประเทศในอนาคต จึงเกิดโครงการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และแผนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมพื้นที่โดยรอบโครงการเส้นทางลัดสู่ภาคใต้ (สมุทรสาคร — แหลมผักเบี้ย — ชะอำ) ภายใต้การดูแลของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการเส้นทางลัดสู่ภาคใต้ ซึ่งเป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motorway) ยกระดับเชื่อมต่อระหว่างเมืองสายบางใหญ่ — บ้านโป่ง ลงสู่ทางทิศใต้ โดยเชื่อมต่อกับถนนเพชรเกษม (ทางหลวงหมายเลข 4) ถนนพระรามที่ 2 (ทางหลวงหมายเลข 35) และตัดผ่านอ่าวไทยบริเวณจังหวัดสมุทรสาคร ขึ้นฝั่งบริเวณใกล้หาดแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี และไปเชื่อมต่อกับถนนเพชรเกษม ที่บริเวณอำเภอชะอำ โดยคาดว่าจะเป็นเส้นทางลัด  ย่นระยะทางและระยะเวลาในการเดินทางลงสู่ภาคใต้ เป็นการพัฒนาโครงข่ายเชื่อมต่อกับแผนแม่บททางหลวงพิเศษระหว่างเมือง และเชื่อมกับโครงข่ายถนนในแผนแม่บทในภาพรวมทั่วประเทศได้

            โครงการดังกล่าว สนข.ได้ดำเนินการศึกษาเกี่ยวกับความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม โดยได้รับความร่วมมือจากทบวงมหาวิทยาลัย และเป็นการทำงานร่วมกันของคณาจารย์ 4  มหาวิทยาลัยหลัก ได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และ 3 มหาวิทยาลัยสนับสนุน ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

 

            2. ลักษณะโครงการและเส้นทางของโครงการ

            โครงการเส้นทางลัดสู่ภาคใต้เป็นโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motorway) ขนาด 3 ช่องจราจร/ทิศทาง รวม 6 ช่องจราจร ความกว้างประมาณ 26 เมตร ก่อสร้างเป็นทางยกระดับตลอดเส้นทาง โดยแบ่งแนวเส้นทางเป็น 3 ช่วง (รูปที่ 1)

            ช่วงที่ 1  เริ่มจากทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองบางใหญ่-บ้านโป่ง บริเวณบ้านแหลมบัว แนวทางมุ่งสู่ทิศใต้ตัดกับถนนเพชรเกษม (ทางหลวงหมายเลข  ก.ม. 47+000) ที่ประมาณ ก.ม. 5  แล้วมีเส้นทางแยกเพื่อไปบรรจบกับถนนปิ่นเกล้า — นครชัยศรี (ทางหลวงหมายเลข 338) ที่ ก.ม. 11  เพื่อรับรถยนต์จากถนนบรมราชชนนี จากนั้นแนวทางจะมุ่งสู่ทิศใต้ตัดถนนพระรามที่ 2 (ทางหลวงหมายเลข 35 ก.ม. 35+500) ประมาณ ก.ม. 36 ลักษณะโครงสร้างของถนนจะเป็นทางยกระดับกว้างประมาณ 26 เมตร สูงจากพื้นดินเดิมประมาณ 10 เมตร ระยะห่างช่วงเสา ประมาณ 25-40 เมตร รวมระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 36 ก.ม.

            ช่วงที่ 2 เริ่มจากถนนพระรามที่ 2 มุ่งหน้าไปทางทิศใต้ เพื่อจะลงทะเลที่บริเวณวัดกระซ้าขาว จาก ก.ม. 36 ถึง ก.ม. 44 จะมีการเพิ่มความกว้างของถนนเป็น 39 เมตร เพื่อให้มีทางขนานเชื่อมจากถนนพระรามที่ 2 ไปสถานที่บริการทางหลวง (Service Area) เป็นจุดพักรถริมทะเลก่อนขึ้นสะพานซึ่งประชาชนในท้องถิ่นสามารถเข้าไปใช้บริการได้ โดยไม่ต้องเสียค่าผ่านทาง (ระยะทาง 8 ก.ม.) ในช่วงอ่าวไทย โครงสร้างถนนเป็นรูปแบบของสะพานที่มีความกว้าง 25 เมตร ระยะห่างช่วงเสา 100 เมตร ผิวจราจรสูงจากระดับน้ำทะเลสูงสุด 17 เมตร ระยะทางประมาณ 47 ก.ม. ในระหว่างทางจะมีที่พักริมทางที่ ก.ม. 68 เพื่อให้ประชาชนได้ใช้เป็นจุดพักรถ และเป็นจุดชมวิวที่ ก.ม. 70 จะมีช่วงสะพานกว้าง 125 เมตร และ 150 เมตร ช่วงละ 2 ช่อง และยกระดับสูงจากระดับน้ำสูงสุด 40 เมตร เพื่อให้เรือสินค้าขนาดใหญ่เข้าสู่ปากแม่น้ำแม่กลอง สะพานจะไปขึ้นฝั่งทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของแหลมผักเบี้ยประมาณ 3 ก.ม.  ที่บริเวณบ้านดอนมะขามช้าง ซึ่งจะเป็นทางยกระดับแบบเดียวกับโครงการที่ 1 เป็นระยะทาง 7  ก.ม. จุดสิ้นสุดของช่วงนี้จะมีศูนย์บริการทางหลวงที่จะตัดกับถนนเพชรบุรี — หาดเจ้าสำราญ  (ทางหลวงหมายเลข 3117 ก.ม. 11+450) รวมระยะทางในช่วงนี้ทั้งสิ้นประมาณ 62 ก.ม.

            ช่วงที่ 3 เริ่มจากทางหลวงหมายเลข 3177 มุ่งหน้าสู่ทิศใต้ขนานกับถนนคันกั้นน้ำเค็มของกรมชลประทานห่างประมาณ 1-2 ก.ม. เส้นทางตัดกับทางหลวงหมายเลข 3187 และหมายเลข  3174 ไปเชื่อมกับถนนเพชรเกษม (เดิม) เพื่อเข้าอำเภอชะอำที่ ก.ม. 124 และไปเชื่อมต่อกับถนนเพชรเกษม (เลี่ยงเมือง)ที่จะสู่ภาคใต้ที่ ก.ม. 128 ลักษณะโครงสร้างถนนจะเป็นทางยกระดับเช่นเดียวกับโครงการในช่วงที่ 1 โดยมีระยะทางรวมทั้งสิ้นประมาณ 30 ก.ม.

 

            3.  วัตถุประสงค์

            วัตถุประสงค์ในการพัฒนาโครงการเส้นทางลัดสู่ภาคใต้ เพื่อแก้ไขปัญหาจราจร พัฒนา และเชื่อมต่อโครงข่ายการคมนาคมขนส่งจากกรุงเทพมหานครสู่ภาคใต้ โดยจัดทำเป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motorway) เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อันเป็นปัจจัยส่งเสริมความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและเพื่อให้เป็นเส้นทางลัดทำให้การคมนาคมจากภาคกลางไปสู่ภาคใต้มีความสะดวกรวดเร็วขึ้น


4. ขั้นตอนการดำเนินการ

            โครงการนี้ ดำเนินการศึกษาโดยความร่วมมือของทบวงมหาวิทยาลัยที่ได้มีการระดมคลังสมองของประเทศ โดยได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการศึกษาตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1กันยายน 2545 และเริ่มโครงการ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2545 เป็นการทำงานร่วมกันของคณาจารย์ 4 มหาวิทยาลัยหลัก และ 3 มหาวิทยาลัยสนับสนุนดังกล่าวข้างต้น ดำเนินการศึกษาเพื่อคัดเลือกแนวทางที่เหมาะสมที่สุด เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด และสามารถแก้ปัญหาการจราจรสู่ภาคใต้ได้ในระยะยาวโดยมี สนข.เป็นผู้ประสานงานโครงการภาครัฐ ใช้เงินงบประมาณ 45 ล้านบาท

 

            5. ผลประโยชน์ของโครงการที่คาดว่าจะได้รับ

            จากผลการศึกษาโครงการดังกล่าวของ 4 มหาวิทยาลัยหลักดังกล่าวข้างต้น  ได้นำเสนอให้เห็นว่าเส้นทางลัดสู่ภาคใต้ จะช่วยให้การคมนาคมจากภาคกลางสู่ภาคใต้มีความสะดวกรวดเร็วขึ้น เป็นการเชื่อมต่อโครงข่ายการจราจรของประเทศสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้แก่ภาคใต้ ดังนี้

            5.1 พัฒนาโครงข่ายการจราจรของประเทศ เนื่องจากโครงการฯ สามารถทำหน้าที่รับและกระจายปริมาณการจราจรที่จะเดินทางไปภาคใต้ และรองรับปริมาณการจราจรจากภาคใต้ที่จะเดินทางเข้ากรุงเทพมหานครได้อย่างมีประสิทธิภาพ

            5.2 จากการศึกษาของคณะทำงานด้านเศรษฐศาสตร์ พบว่าโครงการฯ จะมีประโยชน์ต่อภาพรวมทางด้านเศรษฐกิจ ทั้งในระดับภาคและระดับประเทศ โดยที่สามารถเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าจากประเทศไทยสู่ประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ

            5.3 โครงการฯ จะช่วยให้เกิดการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้การติดต่อกันทำได้อย่างสะดวกรวดเร็วมากขึ้น

            5.4 การพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ การคมนาคมขนส่งที่สะดวกจะเป็นปัจจัยหลักในการดึงดูด และจูงใจให้เกิดการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม 

            5.5 การพัฒนาด้านการท่องเที่ยว ทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน โครงการฯ จะสามารถเชื่อมโยงนักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามายังแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

อ่าน 1,861 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved