หลายท่านคงเคยเห็นช้างหรือสัตว์ป่าอื่นๆ ขวางทางเดินของรถราต่างๆ พวกเราเห็นกันอย่างไร ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) มาช่วยกันมองว่าเรื่องนี้อาจเป็นการกีดขวางทางของใครก็ไม่แน่ ของช้างหรือของคน แต่เราควรสร้างทางด่วนข้ามเขาใหญ่ บางส่วนอาจเจาะทะลุภูเขา หรืออาจจะทำเป็นทางด่วนยกระดับในบางพื้นที่เพื่อร่นระยะเวลา
ปกติจากด่านตรวจอุทยานแห่งชาติเข้าใหญ่ไปถึงศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ ระยะทาง 46.2 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง 15 นาที หรือ 75 นาที แต่ถ้าหากก่อสร้างทางด่วน ก็อาจร่นระยะเวลาเหลือเพียงครึ่งเดียยว หรือ 37 นาที และยังไม่เป็นการรบกวนสัตว์ป่า เป็นการเพิ่มช่องทางการเดินทางได้ดีขึ้นกว่าปกติอีกด้วย
ที่ผ่านมา NGOs ตัวร้าย ๆ มักต่อต้านการก่อสร้างถนนขึ้นเข้าใหญ่หรือผ่านป่าเขาอื่น ดร.โสภณ เอาตัวอย่างดีๆ มาให้ดูจากไต้หวัน รับรองถูกใจคนไทยและ NGOs (ถ้าใจไม่แย่เกินไป) แน่นอน
เมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวน่าสลดว่า “ช็อก ช้างเขาใหญ่ เหยียบคุณตาวัย 80 ดับคาเต็นท์ผากล้วยไม้ คาดได้กลิ่นอาหาร” <1> โดยมีรายละเอียดว่า “พลายดื้อ ช้างเขาใหญ่วัย 30 ปี ที่เคยนั่งทับรถ เหยียบคุณตาวัย 80 ปี ขับรถมาคนเดียวจากสมุทรปราการ เสียชีวิตคาเต็นท์บริเวณผากล้วยไม้ คาดช้างตามกลิ่นส้มโอที่เจอในรถ ประกาศปิดลานกางเต็นท์ทั้ง 2 แห่ง เวลา 03.00 น. วันที่ 15 มกราคม. . .ที่เกิดเหตุในลานกางเต็นท์ผากล้วยไม้ พบเต็นท์ที่กางไว้ถูกรื้อยกออกจากจุดเดิม และพบร่าง นายประโยชน์ จิตร์บุญ อายุ 80 ปี. . .ถูกช้างเหยียบตามร่างกายเสื้อผ้าหลุดลุ่ย มีบาดแผลที่ขาซ้าย ตรวจสอบพบทรัพย์สินผู้ตาย มีเงินสดจำนวน 103,180 บาท และยังมีบัตรประจำตัว เป็นวิศวกรเครื่องกล”
“. . .ในคืนนี้มีนักท่องเที่ยวมาแจ้งเข้าพักทั้งหมด 47 คน รวมทั้ง นายประโยชน์ ผู้ตาย ผู้ตายได้มานอนที่จุดกางเต็นท์ผากล้วยไม้ เป็นคืนที่ 2. . . พร้อมตั้งเต็นท์อยู่ใกล้เคียงที่จอดรถห่างกันประมาณ 5-6 เมตร ห่างจากจุดที่นักท่องเที่ยวคนอื่นตั้งเต็นท์ในลานกว้างประมาณ 50 เมตร. . .(ช้าง) เดินวนรอบรถใช้ตัวดันข้างรถจนบุบ ก่อนจะเดินไปที่เต็นท์ดึงเต็นท์ออกเหยียบไปที่ร่างของนายประโยชน์ขณะหลับอยู่ นักท่องเที่ยวได้ยินเสียงนายประโยชน์ร้องโอดโอย จากนั้นช้างเดินไปที่หน้าห้องน้ำที่อยู่ห่างกันประมาณ 15 เมตร เดินกลับมาเหยียบที่ร่างนายประโยชน์อีกครั้งเป็นครั้งที่ 2. . .จากการตรวจค้นในรถเก๋งของนายประโยชน์ ผู้ตาย พบส้มโอปอกเปลือกแล้วอยู่ในกล่อง คาดว่าพลายเจ้าดื้อได้กลิ่นส้มโอ อยากกินจึงเดินวนรอบรถ หรืออาจได้กลิ่นส้มโอที่นายประโยชน์นำลงไปกินที่เต็นท์ด้วย จนทำให้เกิดโมโหกระทืบร่างผู้ตายขณะนอนหลับจนเสียชีวิต”
เรื่องสลดนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นเลยหากอุทยานแห่งชาติมีมาตรการที่ดีกว่านี้หากรู้ความเคลื่อนไหวและตำแหน่งของช้างป่าเชือกนี้ หรือมีรั้วป้องกันสัตว์ป่า โดยเฉพาะหากมีถนนยกระดับหรืออุโมงค์ลอดภูเขา เพื่อให้การสัญจรและชีวิตสัตว์ป่าไม่ปะปนกัน และที่ผ่านมาก็พบสัตว์ป่าโดยเฉพาะช้างตัวดังกล่าวและช้างตัวอื่นออกมาตามถนนถนนธนะรัชต์สร้างความแตกตื่นและเป็นอันตรายต่อทั้งคนและสัตว์ป่า โดยเฉพาะช้างเชือกนี้ได้สร้าง “วีรกรรม” หลากหลาย เช่น:
1. 29 ตุลาคม 2562 “พี่ดื้อ” ได้ใช้ตัวเบียดข้างรถเก่งนักท่องเที่ยว ก่อนจะขึ้นไปยืนคร่อมรถและทับจนหลังคาด้านหลังยุบกระจก โดยจุดเกิดเหตุเป็นบริเวณดงงูเห่า ถนนธนะรัชต์ กม.30 จ.นครราชสีมา
2. 4 มกราคม 2563 “เจ้าดื้อ” เดินเข้ามาในลานกางเต้นท์ที่ 1 ฝั่งร้านอาหาร จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้เดินปลุกนักท่องเที่ยวให้ตื่นเพื่อความปลอดภัย จากนั้น "เจ้าดื้อ" ได้ลงมือรื้อเต้นท์ไป 2 หลัง. . .
3. 15 มกราคม 2564 เจ้าหน้าที่คาดว่าช้างป่าที่ทำร้ายนักท่องเที่ยวเสียชีวิต 1 คนเป็นเจ้าดื้อ <2>
ถนนที่ขอนำเสนอเพื่อเป็นแบบอย่างการสร้างที่เขาใหญ่นี้ เป็นถนนเส้นนี้มีสมญาว่าถนน 10 อุโมงค์ หรือเรียกว่าอุโมงค์ "เช้ฉ่าน" (Hsuehshan) <3> อยู่ตามทางหลวงหมายเลขที่ 5 ของไต้หวัน เชื่อมระหว่างนครไทเปกับจังหวัดยิหลานทางภาคตะวันออกของเกาะไต้หวันนั่นเอง โดยถนนเส้นนี้เป็นทางยกระดับ และเจาะอุโมงค์ขนาดยาวเข้าไปในป่าเขา เพื่อให้รบกวนสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด แต่ที่แน่ๆ ก็คือในระหว่างการก่อสร้าง คงต้องรบกวนกันบ้าง ใช่ว่าห้ามแตะต้องไปเลย
อุโมงค์นี้ เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงหมายเลข 5 เริ่มก่อสร้างในเดือนกรกฎาคม 2534 และแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2549 มีระยะทางทั้งหมด 12.941 เมตร เป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร และอนุญาตให้วิ่งด้วยความเร็ว 60-90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง การก่อสร้างสะพานนานถึง 15 ปีนี้ ทำให้สูญเสียชีวิตผู้ก่อสร้างไปถึง 25 คน แต่ก็ทำให้เกิดความสะดวกในการเดินทาง แทนที่จะต้องเดินทางตามไหล่เขา ซึ่งอันตรายเป็นอย่างมาก
ในประเทศไทยมีถนนผ่านเขาใหญ่และเขาอื่นๆ หลายแห่ง โดยเฉพาะที่เขาใหญ่มีสัตว์ป่าเสียชีวิตเพราะรถ ขณะเดียวกันผู้คนที่ผ่านไปมาก็เคยเสียชีวิตเพราะสัตว์เช่นกัน และยังทำให้เสียเวลาและทรัพยากรต่อทุกฝ่าย หากมีการก่อสร้างถนนเช่นนี้ อาจมีค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างมากกว่า และตัดถนนได้ตรงกว่า ทำให้ประหยัดต้นทุนในระยะยาว บางช่วงอาจเป็นอุโมงค์ บางช่วงก็เป็นทางด่วน สามารถใช้งานได้ตลอดไป ถนนแบบนี้จะร่นระยะทางการขนส่งและคมนาคมได้เป็นอย่างดี เป็นผลดีต่อประเทศชาติและประชาชนโดยรวม
นี่จึงจะเป็นการแก้ไขปัญหาระหว่างคนกับสัตว์ป่าอย่างยั่งยืน ได้ประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ไม่เป็นการส่งเสริมการทำลายป่าแต่อย่างใด
อ้างอิง
<1> ช็อก ช้างเขาใหญ่ เหยียบคุณตาวัย 80 ดับคาเต็นท์ผากล้วยไม้ คาดได้กลิ่นอาหาร. ไทยรัฐ 15 มกราคม 2564. https://www.thairath.co.th/news/local/northeast/2013023
<2> ทำไม? "เจ้าดื้อ" ช้างป่าเขาใหญ่ทำร้ายคนตาย. Thai PBS. 15 มกราคม 2564. https://news.thaipbs.or.th/content/300326
<3> Hsuehshan Tunnel, Taiwan. https://goo.gl/i2kXNU