จากกรณี น.ส.พิยดา อายุ 19 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับในคดีหลอกขายโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นเหตุให้น้องก้อง เด็กชายนักเรียนชั้น ม.2 อายุ 14 ปี ที่ อ.เชียงดาว เชียงใหม่ เครียดจนเส้นเลือดในสมองแตกเสียชีวิตนั้น ในกรณีนี้สามารถแก้ไขได้ด้วยพระราชบัญญัติการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ให้ข้อคิดเห็นจากกรณีการหลอกขายโทรศัพท์ผ่านการซื้อขายออนไลน์ว่า ควรที่จะใช้พระราชบัญญัติการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา พ.ศ.2551 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2562 ใน พรบ.นี้ มีระบุไว้ดังนี้:
“มาตรา 7 ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญามีหน้าที่ในการดูแลให้คู่สัญญาปฏิบัติการชำระหนี้ตามระยะเวลาและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาดูแลผลประโยชน์ โดยดูแลรักษาเงิน ทรัพย์สิน หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้บรรดาที่คู่สัญญาได้ส่งมอบให้อยู่ในความครอบครองของตน พร้อมทั้งดำเนินการส่งมอบเงินหรือจัดให้มีการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิในทรัพย์สินให้แก่คู่สัญญา” ดังนั้นจึงไม่ใช่ให้คู่ซื้อและผู้ขายติดต่อกันเองโดยไม่มีผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงได้บ่อยๆ
“มาตรา 17 เมื่อคู่สัญญาตกลงกันให้มีผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา ให้ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาดำเนินการจัดทำสัญญาดูแลผลประโยชน์ตามมาตรา 6
ในกรณีที่คู่สัญญาตกลงกันให้ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญามีหน้าที่ดูแลการปฏิบัติตามสัญญาที่มีการชำระเงิน ให้ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาดำเนินการเปิดบัญชีดูแลผลประโยชน์เพื่อสัญญารายนั้นกับสถาบันการเงิน และนำเงินที่ได้รับจากคู่สัญญาฝ่ายที่ต้องชำระเงินฝากไว้ในบัญชีดูแลผลประโยชน์ดังกล่าวภายในหนึ่งวันทำการ
ให้ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาออกหลักฐานรับรองการฝากเงินส่งให้คู่สัญญาฝ่ายที่ต้องชำระเงินทุกครั้ง โดยให้ถือว่าหลักฐานดังกล่าวเป็นหลักฐานในการปฏิบัติเกี่ยวกับการชำระหนี้เงินตามสัญญา และให้ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาแจ้งเป็นหลักฐานให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งทราบถึงการฝากเงินนั้นโดยเร็ว ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และระยะเวลาที่คณะกรรมการประกาศกำหนด”
ดังนั้นในการซื้อขาย (ออนไลน์) ใดๆ ผู้ซื้อผู้ขายก็พึงชำระเงินผ่านระบบนี้ ทำให้โอกาสที่จะถูกโกงไม่มี เพราะมีผู้คอยดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาให้ แม้จะมีค่าธรรมเนียมในการนี้บ้าง แต่ก็น่าจะคุ้มที่จะคุ้มครองผลประโยชน์จากการถูกฉ้อโกงได้ อย่างไรก็ตามกฎหมายนี้ยังไม่มีลักษณะบังคับ ยังเป็นในลักษณะตกลงกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายว่าจะทำสัญญาหรือไม่ ซึ่งเป็นการเปิดช่องโหว่ให้มีการโกงกันได้ (หากไม่ได้ตกลงทำการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา)
ถ้ามีกฎหมายที่เข้มงวดรองรับ ปัญหาการฉ้อโกงก็จะลดน้อยหรือหายไปได้ ผู้ขายสินค้าก็จะมีความน่าเชื่อถือขึ้น เป็นการสร้างแบรนด์ทางหนึ่ง
พระราชบัญญัติ
การดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๑
เป็นปีที่ ๖๓ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา
พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๓ มาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา พ.ศ. ๒๕๕๑”
มาตรา ๒[๑] พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้
“กิจการดูแลผลประโยชน์” หมายความว่า การทำหน้าที่เป็นคนกลางเพื่อดูแลการชำระหนี้ของคู่สัญญาให้เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาดูแลผลประโยชน์ โดยกระทำเป็นทางค้าปกติและได้รับค่าตอบแทนหรือค่าบริการ
“สัญญาดูแลผลประโยชน์” หมายความว่า สัญญาที่ทำขึ้นระหว่างคู่สัญญากับผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา โดยผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาตกลงจะดูแลการชำระหนี้ของคู่สัญญาให้เป็นไปตามที่คู่สัญญาตกลงกันไว้
“คู่สัญญา” หมายความว่า คู่สัญญาตามสัญญาต่างตอบแทนใด ๆ ที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งมีหนี้ในการโอนหรือส่งมอบทรัพย์สินหรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ และคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งมีหนี้ในการชำระเงินตามสัญญา
“ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา” หมายความว่า ผู้ซึ่งได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการดูแลผลประโยชน์ตามพระราชบัญญัตินี้
“บัญชีดูแลผลประโยชน์” หมายความว่า บัญชีเงินฝากที่ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาเปิดไว้กับสถาบันการเงินในนามของตนเพื่อประโยชน์ของคู่สัญญา
“สถาบันการเงิน” หมายความว่า
(๑) ธนาคารพาณิชย์และบริษัทเงินทุนตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน
(๒) ธนาคารที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะ
“ใบอนุญาต” หมายความว่า ใบอนุญาตประกอบกิจการดูแลผลประโยชน์
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการกำกับการประกอบกิจการดูแลผลประโยชน์
“กรรมการ” หมายความว่า กรรมการกำกับการประกอบกิจการดูแลผลประโยชน์
“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่กับออกกฎกระทรวงและประกาศเพื่อปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงและประกาศนั้น เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
บททั่วไป
มาตรา ๕ ในการทำสัญญาต่างตอบแทนใด ๆ คู่สัญญาอาจตกลงกันจัดให้มีผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา โดยการทำสัญญาดูแลผลประโยชน์และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๖ สัญญาดูแลผลประโยชน์ต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของคู่สัญญาและผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา และอย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้
(๑) ชื่อและที่อยู่ของคู่สัญญาและผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา
(๒) วันที่ทำสัญญาดูแลผลประโยชน์
(๓) ชื่อสัญญาต่างตอบแทนที่กำหนดระหว่างคู่สัญญา
(๔) ระยะเวลาหรือเงื่อนไขในการส่งมอบทรัพย์สินหรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้และการส่งมอบเงินของคู่สัญญา
(๕) หลักเกณฑ์ในการโอนเงินออกจากบัญชีดูแลผลประโยชน์
(๖) สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดของคู่สัญญาและผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา
(๗) ค่าตอบแทนและค่าบริการอื่นที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผลประโยชน์
(๘) รายการอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
มาตรา ๗ ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญามีหน้าที่ในการดูแลให้คู่สัญญาปฏิบัติการชำระหนี้ตามระยะเวลาและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาดูแลผลประโยชน์ และดูแลรักษาเงิน ทรัพย์สิน หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ที่คู่สัญญาได้ส่งมอบให้อยู่ในความครอบครองของตนพร้อมทั้งดำเนินการส่งมอบเงินและจัดให้มีการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิในทรัพย์สินให้แก่คู่สัญญา
นอกจากหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาอาจให้บริการอื่นที่เกี่ยวข้องกับสัญญาดูแลผลประโยชน์ตามที่มีข้อตกลงกับคู่สัญญาได้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
มาตรา ๘ ในกรณีที่คู่สัญญามิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ให้คู่สัญญาออกค่าตอบแทนในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาตามมาตรา ๗ วรรคหนึ่ง ฝ่ายละเท่ากัน และหากคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอให้มีการปฏิบัติหน้าที่เพิ่มเติมตามมาตรา ๗ วรรคสอง ให้คู่สัญญาฝ่ายนั้นเป็นผู้ออกค่าบริการตามที่ร้องขอ
อัตราค่าตอบแทนหรือค่าบริการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
ค่าตอบแทนหรือค่าบริการที่ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญามีสิทธิได้รับตามวรรคหนึ่งห้ามเรียกเก็บจากเงินในบัญชีดูแลผลประโยชน์
การประกอบกิจการดูแลผลประโยชน์
มาตรา ๙ บุคคลตามมาตรา ๑๐ ผู้ใดประสงค์จะประกอบกิจการดูแลผลประโยชน์ต้องได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ
การขอรับใบอนุญาตและการออกใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๑๐ ผู้ซึ่งประสงค์จะได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๙ ต้องเป็นสถาบันการเงิน หรือนิติบุคคลอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ในการออกกฎกระทรวงกำหนดให้นิติบุคคลใดประกอบกิจการดูแลผลประโยชน์ตามวรรคหนึ่งจะกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการดำรงฐานะการเงิน การวางหลักประกันหรือหลักเกณฑ์อื่นใดให้นิติบุคคลดังกล่าวต้องปฏิบัติเพิ่มเติมจากหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ก็ได้
มาตรา ๑๑ ห้ามบุคคลใดนอกจากผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อในธุรกิจว่า “ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา” หรือคำอื่นใดที่มีความหมายเช่นเดียวกัน
มาตรา ๑๒ ห้ามผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาซึ่งมีส่วนได้เสียกับคู่สัญญาไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญากับคู่สัญญาซึ่งตนมีส่วนได้เสีย
กรณีใดจะถือว่าเป็นการมีส่วนได้เสียกับคู่สัญญาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
มาตรา ๑๓ ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาต้องจัดทำทะเบียนเกี่ยวกับสัญญาดูแลผลประโยชน์ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาต้องรักษาทะเบียน และสำเนาสัญญาดูแลผลประโยชน์ไว้ไม่น้อยกว่าห้าปีนับแต่วันที่ได้ลงรายการครั้งสุดท้ายในทะเบียนหรือวันที่ทำสัญญาดูแลผลประโยชน์ โดยจะเก็บไว้ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์หรือรูปแบบใดก็ได้
มาตรา ๑๔ ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาต้องจัดเก็บทรัพย์สินของคู่สัญญาแยกออกจากทรัพย์สินของตน โดยต้องจัดทำบัญชีทรัพย์สินของคู่สัญญาแต่ละรายแยกออกจากบัญชีทรัพย์สินของตน รวมทั้งเก็บรักษาบัญชีดังกล่าวตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
มาตรา ๑๕ ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญายื่นรายงานหรือเอกสารใด ๆ เกี่ยวกับการประกอบกิจการดูแลผลประโยชน์ โดยจะให้ทำคำชี้แจงเพื่ออธิบายหรือขยายความแห่งรายงานหรือเอกสารนั้นด้วยก็ได้
มาตรา ๑๖ ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาผู้ใดประสงค์จะเลิกประกอบกิจการดูแลผลประโยชน์ ให้ยื่นคำขออนุญาตต่อรัฐมนตรีเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าหกสิบวันก่อนเลิกประกอบกิจการ
ในการยื่นคำขออนุญาตตามวรรคหนึ่ง ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาต้องแสดงหลักฐานว่าได้ดำเนินการดังต่อไปนี้เรียบร้อยแล้ว
(๑) การบอกกล่าวให้คู่สัญญาและผู้มีส่วนได้เสียทราบและใช้สิทธิตามกฎหมาย
(๒) การจัดการหรือโอนสัญญาดูแลผลประโยชน์ที่ยังมีผลผูกพันอยู่ให้ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญารายอื่นดำเนินการแทนตามที่คู่สัญญาตกลงกัน
(๓) การจัดการโอนเงินในบัญชีดูแลผลประโยชน์หรือทรัพย์สินที่อยู่ภายใต้บังคับสัญญาดูแลผลประโยชน์คืนให้แก่คู่สัญญา ในกรณีที่คู่สัญญาประสงค์จะเลิกสัญญาดูแลผลประโยชน์หรือไม่สามารถโอนสัญญาดูแลผลประโยชน์ให้ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญารายอื่นไปดำเนินการแทนได้
ในการพิจารณาอนุญาตตามวรรคหนึ่ง รัฐมนตรีจะกำหนดเงื่อนไขหรือมีคำสั่งให้ผู้ยื่นคำขออนุญาตปฏิบัติด้วยก็ได้
ให้ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาส่งคืนใบอนุญาตแก่รัฐมนตรีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งอนุญาตให้เลิกประกอบกิจการ
สิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญาและผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา
มาตรา ๑๗ เมื่อคู่สัญญาตกลงกันให้มีผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา ให้ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาดำเนินการจัดทำสัญญาดูแลผลประโยชน์ตามมาตรา ๖ และดำเนินการเปิดบัญชีดูแลผลประโยชน์เพื่อสัญญารายนั้นกับสถาบันการเงิน และนำเงินที่ได้รับจากคู่สัญญาฝ่ายที่ต้องชำระเงินฝากไว้ในบัญชีดูแลผลประโยชน์ดังกล่าวภายในหนึ่งวันทำการ
ให้ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาออกหลักฐานเป็นหนังสือรับรองการฝากเงินส่งให้คู่สัญญาฝ่ายที่ต้องชำระเงินทุกครั้ง โดยให้ถือว่าหลักฐานดังกล่าวเป็นหลักฐานในการปฏิบัติเกี่ยวกับการชำระหนี้เงินตามสัญญา และให้ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาแจ้งเป็นหนังสือให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งทราบถึงการฝากเงินนั้นโดยทันที
ในกรณีที่ทรัพย์สินที่คู่สัญญาต้องส่งมอบหรือโอนสิทธิเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่มีหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน ให้ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญามีหนังสือแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดินทราบและให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าวบันทึกเป็นหลักฐานไว้ว่าอสังหาริมทรัพย์นั้นอยู่ภายใต้บังคับแห่งสัญญาดูแลผลประโยชน์ และห้ามจดทะเบียนโอนสิทธิในทรัพย์สินนั้นจนกว่าจะได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา
มาตรา ๑๘ ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาต้องมีหนังสือแจ้งให้คู่สัญญาทราบถึงรายการฝากหรือโอนเงิน และจำนวนเงินคงเหลือในบัญชีดูแลผลประโยชน์ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
มาตรา ๑๙ ในกรณีที่คู่สัญญาได้ปฏิบัติตามข้อตกลงที่กำหนดไว้ในสัญญาดูแลผลประโยชน์ครบถ้วนแล้ว ให้ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาโอนเงินพร้อมดอกผลจากบัญชีดูแลผลประโยชน์ให้แก่คู่สัญญาซึ่งเป็นฝ่ายที่ต้องโอนหรือส่งมอบทรัพย์สิน และจัดให้มีการโอนหรือส่งมอบทรัพย์สินหรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ตามสัญญาให้แก่คู่สัญญาซึ่งเป็นฝ่ายที่ต้องชำระเงิน
ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง หากคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งปฏิเสธการรับชำระหนี้ ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๒๓ มาใช้บังคับ
มาตรา ๒๐ การโอนเงินจากบัญชีดูแลผลประโยชน์ ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาต้องโอนเข้าบัญชีของคู่สัญญาซึ่งมีสิทธิได้รับเงินโดยตรง และต้องแจ้งเป็นหนังสือให้คู่สัญญาดังกล่าวทราบโดยทันที
มาตรา ๒๑ การเลิกสัญญาดูแลผลประโยชน์ไม่ว่าด้วยเหตุใด ไม่กระทบสิทธิของผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาที่จะได้รับค่าตอบแทนและค่าบริการเพื่อการงานที่ตนได้จัดทำไปแล้วตามสัญญาดูแลผลประโยชน์ เว้นแต่การเลิกสัญญาเกิดจากความผิดของผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา
มาตรา ๒๒ เมื่อสัญญาดูแลผลประโยชน์เลิกกัน ให้ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาพิจารณาดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(๑) ให้คู่สัญญาฝ่ายที่ต้องชำระเงินได้รับเงินและดอกผลจากบัญชีดูแลผลประโยชน์ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาดูแลผลประโยชน์ หรือ
(๒) ให้คู่สัญญาฝ่ายที่ต้องโอนหรือส่งมอบทรัพย์สินหรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ได้รับเงินและดอกผลจากบัญชีดูแลผลประโยชน์ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาดูแลผลประโยชน์
ให้คณะกรรมการประกาศกำหนดระยะเวลาการดำเนินการตาม (๑) หรือ (๒)
มาตรา ๒๓ เว้นแต่ในสัญญาดูแลผลประโยชน์จะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ในกรณีที่มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของคู่สัญญาตามสัญญาดูแลผลประโยชน์ ห้ามผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาส่งเงินหรือโอนทรัพย์สินให้แก่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจนกว่าคู่สัญญาจะได้ทำความตกลงกันหรือศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด
มาตรา ๒๔ เมื่อสัญญาดูแลผลประโยชน์สิ้นสุดลง และได้มีการโอนเงินออกจากบัญชีดูแลผลประโยชน์หมดสิ้นแล้ว ให้ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาปิดบัญชีดูแลผลประโยชน์ตามมาตรา ๑๗ วรรคหนึ่ง และแจ้งให้คู่สัญญาทราบโดยทันที
มาตรา ๒๕ ในกรณีที่ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาตกเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ หรือถูกทางการหรือหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลตามกฎหมายอื่นสั่งระงับการดำเนินกิจการบางส่วนหรือทั้งหมด ให้เงินในบัญชีดูแลผลประโยชน์และทรัพย์สินที่อยู่ภายใต้บังคับสัญญาดูแลผลประโยชน์ได้รับความคุ้มครองโดยไม่ถือเป็นทรัพย์สินที่อยู่ภายใต้การยึดหรืออายัดในคดีแพ่งซึ่งผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือเป็นทรัพย์สินที่อาจแบ่งแก่เจ้าหนี้ในคดีล้มละลายของผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาหรือเป็นทรัพย์สินที่อยู่ภายใต้การห้ามจำหน่าย จ่าย หรือโอน ตามคำสั่งระงับการดำเนินกิจการบางส่วนหรือทั้งหมด
เมื่อผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาตามวรรคหนึ่งถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และคณะกรรมการดำเนินการแยกเงินในบัญชีดูแลผลประโยชน์และทรัพย์สินที่อยู่ภายใต้บังคับสัญญาดูแลผลประโยชน์ รวมทั้งมีอำนาจดำเนินการดังต่อไปนี้
(๑) รวบรวมเงินในบัญชีดูแลผลประโยชน์และทรัพย์สินที่อยู่ภายใต้บังคับสัญญาดูแลผลประโยชน์และจัดสรรคืนให้แก่คู่สัญญา ในกรณีที่คู่สัญญาประสงค์จะเลิกสัญญาดูแลผลประโยชน์
(๒) โอนสัญญาดูแลผลประโยชน์ที่ยังมีผลผูกพันอยู่ให้ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญารายอื่นดำเนินการแทนตามที่คู่สัญญาตกลงกัน
(๓) ประนีประนอมยอมความ ฟ้องร้อง ต่อสู้คดี หรือดำเนินการอื่นใด เพื่อให้การจัดการเงินในบัญชีดูแลผลประโยชน์และทรัพย์สินที่อยู่ภายใต้บังคับสัญญาดูแลผลประโยชน์เสร็จสิ้นไป
ในการดำเนินการตามวรรคสอง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และคณะกรรมการจะมอบอำนาจให้บุคคลใดดำเนินการแทนก็ได้
การกำกับดูแลและตรวจสอบ
มาตรา ๒๖ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการกำกับการประกอบกิจการดูแลผลประโยชน์” ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการ อธิบดีกรมที่ดิน ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย และผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่เกินห้าคนซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นกรรมการ
ให้ปลัดกระทรวงการคลังแต่งตั้งข้าราชการของกระทรวงการคลังเป็นเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการ
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งตามวรรคหนึ่ง ต้องมีความรู้ ความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ในด้านการเงิน การบัญชี ภาษี กฎหมาย การคุ้มครองผู้บริโภค หรือการซื้อขายทรัพย์สิน
มาตรา ๒๗ ให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลังทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการ รับผิดชอบงานธุรการ งานประชุม การศึกษาข้อมูล และกิจการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับงานของคณะกรรมการ
มาตรา ๒๘ ให้คณะกรรมการมีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีเกี่ยวกับการออกประกาศตามพระราชบัญญัตินี้
(๒) ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการประกอบกิจการดูแลผลประโยชน์ตามมาตรา ๗ มาตรา ๑๒ มาตรา ๑๓ มาตรา ๑๔ มาตรา ๑๘ และมาตรา ๒๒
(๓) ออกประกาศกำหนดค่าตอบแทนและค่าบริการอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการดูแลผลประโยชน์ตามมาตรา ๘
(๔) ปฏิบัติการอื่นตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ หรือตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย
ประกาศตาม (๒) และ (๓) เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
มาตรา ๒๙ ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งมีวาระดำรงตำแหน่งคราวละสองปี
ในกรณีที่กรรมการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ แต่ยังมิได้แต่งตั้งกรรมการใหม่ ให้กรรมการนั้นปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนจนกว่าจะได้แต่งตั้งกรรมการใหม่
กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้
มาตรา ๓๐ นอกจากพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) รัฐมนตรีให้ออก เพราะบกพร่องหรือทุจริตต่อหน้าที่ หย่อนความสามารถหรือมีความประพฤติเสื่อมเสีย
(๔) เป็นบุคคลล้มละลาย
(๕) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๖) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
(๗) เป็นกรรมการ ผู้จัดการ บุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการ หรือพนักงานของผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา
มาตรา ๓๑ ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ รัฐมนตรีอาจแต่งตั้งผู้อื่นเป็นกรรมการแทนได้ และให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน
ในกรณีที่มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ให้ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มขึ้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับแต่งตั้งไว้แล้ว
มาตรา ๓๒ การประชุมคณะกรรมการ ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม
ในการประชุมคณะกรรมการ ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุม หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุมแทน
การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนนถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
มาตรา ๓๓ ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการมอบหมายได้
ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๓๒ มาใช้บังคับแก่การประชุมของคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม
มาตรา ๓๔ ในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) เข้าไปในสถานที่ประกอบกิจการของผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาในระหว่างเวลาทำการของสถานที่นั้นเพื่อตรวจสอบกิจการของผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา รวมทั้งเก็บรวบรวมเอกสารหลักฐาน หรือข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา
(๒) อายัดเอกสาร หรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบหรือดำเนินคดีซึ่งต้องไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวัน
(๓) สั่งให้กรรมการ ผู้จัดการ บุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการ หรือพนักงานของผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญามาให้ถ้อยคำหรือให้แสดงหรือส่งสมุดบัญชี เอกสาร ดวงตราหรือสิ่งอื่นอันเกี่ยวกับกิจการ สินทรัพย์ และหนี้สินของผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาและบุคคลข้างต้น
ในการปฏิบัติหน้าที่ตาม (๑) พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องไม่กระทำการอันมีลักษณะเป็นการข่มขู่หรือเป็นการค้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๓๕ ในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๓๔ ให้บุคคลซึ่งเกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกตามสมควร
มาตรา ๓๖ ในการปฏิบัติหน้าที่ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องทุกครั้ง
บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
มาตรา ๓๗ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
การอุทธรณ์
มาตรา ๓๘ คำสั่งให้ชำระค่าปรับทางปกครองของคณะกรรมการตามมาตรา ๓๙ วรรคสองหรือมาตรา ๔๐ ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญามีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีได้ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง
รัฐมนตรีต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่ง ให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันได้รับอุทธรณ์
คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด
บทกำหนดโทษ
ส่วนที่ ๑
โทษทางปกครอง
มาตรา ๓๙ ในกรณีที่ปรากฏแก่คณะกรรมการว่าผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาผู้ใดดำเนินกิจการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๗ วรรคสอง มาตรา ๑๓ มาตรา ๑๕ มาตรา ๑๘ หรือมาตรา ๒๔ ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้ปรับปรุง ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืน หรือปฏิบัติให้ถูกต้องหรือเหมาะสมภายในระยะเวลาที่กำหนด
ในกรณีที่ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการพิจารณามีคำสั่งลงโทษปรับทางปกครองไม่เกินหนึ่งแสนบาท
มาตรา ๔๐ ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๑๐ วรรคสอง หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๒ มาตรา ๑๔ มาตรา ๑๗ หรือมาตรา ๒๒ ให้คณะกรรมการพิจารณามีคำสั่งลงโทษปรับทางปกครองไม่เกินห้าแสนบาท
มาตรา๔๑ ในการพิจารณาออกคำสั่งลงโทษปรับทางปกครอง ให้คณะกรรมการคำนึงถึงความร้ายแรงแห่งพฤติกรรมที่กระทำผิด
ในกรณีผู้ถูกลงโทษปรับทางปกครองไม่ยอมชำระค่าปรับทางปกครอง ให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการบังคับทางปกครองตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมาใช้บังคับโดยอนุโลม และในกรณีที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ดำเนินการบังคับตามคำสั่ง หรือมีแต่ไม่สามารถดำเนินการบังคับทางปกครองได้ ให้คณะกรรมการมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อบังคับชำระค่าปรับ ในการนี้ถ้าศาลปกครองเห็นว่าคำสั่งให้ชำระค่าปรับนั้นชอบด้วยกฎหมาย ให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาและบังคับให้มีการยึดหรืออายัดทรัพย์สินขายทอดตลาดเพื่อชำระค่าปรับได้
มาตรา ๔๒ ในกรณีที่ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาต้องรับโทษปรับทางปกครอง ให้กรรมการผู้จัดการ หรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการของผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญานั้นต้องรับโทษปรับทางปกครองตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดนั้น หรือตนได้จัดการตามสมควรเพื่อป้องกันมิให้เกิดความผิดนั้นแล้ว
มาตรา ๔๓ ให้รัฐมนตรีตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตของผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาได้ เมื่อปรากฏว่าผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาใด
(๑) ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือคำสั่งของรัฐมนตรีตามมาตรา ๑๖ วรรคสาม
(๒) เคยถูกลงโทษปรับทางปกครองและกระทำการอันเป็นความผิดอย่างเดียวกันและถูกลงโทษปรับทางปกครองซ้ำอีก
(๓) กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติที่มีโทษทางอาญาตามพระราชบัญญัตินี้
(๔) กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการของผู้ดูแลประโยชน์ของคู่สัญญากระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา ๔๘
ให้ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาซึ่งถูกเพิกถอนใบอนุญาตตามวรรคหนึ่งหมดสิทธิในการประกอบกิจการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญานับแต่วันที่มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต
คำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ไม่กระทบกระเทือนถึงสัญญาดูแลผลประโยชน์ที่ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาได้ทำไว้กับคู่สัญญาก่อนถูกเพิกถอนใบอนุญาตและยังมีผลผูกพันอยู่ และให้คณะกรรมการมีอำนาจดำเนินการโอนสัญญาดูแลผลประโยชน์ที่ยังมีผลผูกพันอยู่ให้ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญารายอื่นดำเนินการแทนตามที่คู่สัญญาตกลงกัน โดยให้ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการดังกล่าว
ในการดำเนินการตามวรรคสาม คณะกรรมการจะมอบอำนาจให้บุคคลใดดำเนินการแทนก็ได้
ส่วนที่ ๒
โทษอาญา
มาตรา ๔๔ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท
มาตรา ๔๕ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๑ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท
มาตรา ๔๖ ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๖ วรรคหนึ่งและวรรคสี่ มาตรา ๒๐ หรือมาตรา ๒๓ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท
มาตรา ๔๗ ผู้ใดขัดขวางหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๓๔ หรือไม่อำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๓๕ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๔๘ กรรมการ ผู้จัดการ บุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการ หรือพนักงานของผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาผู้ใด กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(๑) หลอกลวงคู่สัญญาด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงที่ควรบอกให้แจ้งเกี่ยวกับกิจการที่ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญามีหน้าที่กระทำเพื่อประโยชน์ของคู่สัญญาและการกระทำดังกล่าวทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินของคู่สัญญา
(๒) ยักยอกหรือทำให้เงินในบัญชีดูแลผลประโยชน์ลดลงจากจำนวนที่คู่สัญญาได้ฝากไว้
(๓) ครอบครองทรัพย์สินของคู่สัญญาซึ่งผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาได้รับไว้เนื่องจากการประกอบกิจการตามพระราชบัญญัตินี้ และเบียดบังเอาทรัพย์สินนั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สาม
(๔) ทำให้เสียหาย ทำลาย เปลี่ยนแปลง ตัดทอน หรือปลอมบัญชีหรือเอกสารของผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาที่จัดทำขึ้นตามหน้าที่ในการประกอบกิจการตามพระราชบัญญัตินี้
(๕) กระทำการหรือไม่กระทำการโดยอาศัยโอกาสที่ตนมีตำแหน่งหน้าที่ดังกล่าวโดยทุจริตจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ของคู่สัญญา
มาตรา ๔๙ บรรดาความผิดในส่วนที่ ๒ นี้ ยกเว้นมาตรา ๔๘ ให้คณะกรรมการเปรียบเทียบที่รัฐมนตรีแต่งตั้งมีอำนาจเปรียบเทียบได้
คณะกรรมการเปรียบเทียบตามวรรคหนึ่ง ให้มีจำนวนสามคน ซึ่งคนหนึ่งต้องเป็นพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
เมื่อคณะกรรมการเปรียบเทียบได้ทำการเปรียบเทียบกรณีใดและผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามคำเปรียบเทียบภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการเปรียบเทียบกำหนดแล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๕๐ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดในส่วนที่ ๒ นี้ ยกเว้นมาตรา ๔๘ เป็นนิติบุคคล กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดนั้น หรือตนได้จัดการตามสมควรเพื่อป้องกันมิให้เกิดความผิดนั้นแล้ว
บทเฉพาะกาล
มาตรา ๕๑ พระราชบัญญัตินี้ไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินการตามหนังสือธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ประกอบธุรกิจ Escrow Account ลงวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๔๔ หรือประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การอนุญาตให้บริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการจัดให้มีบัญชีดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา (Escrow Account) ลงวันที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ และในกรณีที่ธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทเงินทุนดังกล่าวประสงค์จะประกอบกิจการดูแลผลประโยชน์ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ดำเนินการขอรับใบอนุญาตภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
มาตรา ๕๒ ผู้ใดใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อหรือคำอื่นใดที่มีความหมายเช่นเดียวกันอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๑๑ อยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ดำเนินการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากระบบการทำสัญญาจะซื้อจะขายอสังหาริมทรัพย์หรือการทำสัญญาต่างตอบแทนอื่นใดในปัจจุบัน ดำเนินการโดยอาศัยความน่าเชื่อถือระหว่างคู่สัญญาเป็นหลักในการชำระหนี้ตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญา การที่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาหรือมีเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของคู่สัญญา จะทำให้ระบบการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์หรือการทำสัญญาต่างตอบแทนเกิดความเสี่ยงหรือหยุดชะงักอันส่งผลกระทบต่อคู่สัญญาและระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ดังนั้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่คู่สัญญาและสร้างความมั่นคงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ สมควรให้มีคนกลางที่มีความมั่นคงและน่าเชื่อถือเพื่อทำหน้าที่ดูแลการชำระหนี้ของคู่สัญญาให้เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติ
การดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา (ฉบับที่ ๒)
พ.ศ. ๒๕๖๒
------
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๒
เป็นปีที่ ๔ ในรัชกาลปัจจุบัน
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ
ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา
พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล
ซึ่งมาตรา ๒๖ ประกอบกับมาตรา ๓๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้
โดยอำศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
เหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อส่งเสริมให้การกำกับดูแลกิจการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อันจะเป็นการอำนวยความสะดวก และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจมากยิ่งขึ้น ซึ่งการตราพระราชบัญญัตินี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของ
สภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๒”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิกบทนิยามคำว่า “คู่สัญญา” ในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติ การดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา พ.ศ. ๒๕๕๑
มาตรา ๔ ให้ยกเลิกความใน (๔) และ (๕) ของมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติ การดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา พ.ศ. ๒๕๕๑ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(๔) ระยะเวลาหรือเงื่อนไขในการส่งมอบทรัพย์สินหรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ หรือ การส่งมอบเงินตามที่คู่สัญญาตกลงกัน
(๕) หลักเกณฑ์ในการโอนเงินออกจากบัญชีดูแลผลประโยชน์ ในกรณีที่สัญญากำหนดให้มีการส่งมอบเงิน”
มาตรา ๕ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติการดูแล
ผลประโยชน์ของคู่สัญญา พ.ศ. ๒๕๕๑ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๗ ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญามีหน้าที่ในการดูแลให้คู่สัญญาปฏิบัติการชำระหนี้
ตามระยะเวลาและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาดูแลผลประโยชน์ โดยดูแลรักษาเงิน ทรัพย์สิน หรือ
เอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้บรรดาที่คู่สัญญาได้ส่งมอบให้อยู่ในความครอบครองของตน พร้อมทั้ง
ดำเนินการส่งมอบเงินหรือจัดให้มีการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิในทรัพย์สินให้แก่คู่สัญญา”
มาตรา ๖ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๗ มาตรา ๑๘ มาตรา ๑๙ และมาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา พ.ศ. ๒๕๕๑ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๑๗ เมื่อคู่สัญญาตกลงกันให้มีผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา ให้ผู้ดูแล
ผลประโยชน์ของคู่สัญญาดำเนินการจัดทำสัญญาดูแลผลประโยชน์ตามมาตรา ๖
ในกรณีที่คู่สัญญาตกลงกันให้ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญามีหน้าที่ดูแลการปฏิบัติตามสัญญา
ที่มีการชำระเงิน ให้ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาดำเนินการเปิดบัญชีดูแลผลประโยชน์เพื่อสัญญารายนั้นกับสถาบันการเงิน และนำเงินที่ได้รับจากคู่สัญญาฝ่ายที่ต้องชำระเงินฝากไว้ในบัญชีดูแลผลประโยชน์
ดังกล่าวภายในหนึ่งวันทำการ
ให้ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาออกหลักฐานรับรองการฝากเงินส่งให้คู่สัญญาฝ่ายที่ต้องชาระเงินทุกครั้ง โดยให้ถือว่าหลักฐานดังกล่าวเป็นหลักฐานในการปฏิบัติเกี่ยวกับการชาระหนี้เงินตามสัญญา และให้ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาแจ้งเป็นหลักฐานให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งทราบถึงการฝากเงินนั้นโดยเร็วทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และระยะเวลาที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
ในกรณีที่ทรัพย์สินที่คู่สัญญาต้องส่งมอบหรือโอนสิทธิเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่มีหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน หรือหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด ให้ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญามีหนังสือแจ้งให้พนักงาน
เจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดิน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุดทราบ และให้
พนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าวบันทึกเป็นหลักฐานไว้ว่าอสังหาริมทรัพย์นั้นอยู่ภายใต้บังคับแห่งสัญญาดูแล
ผลประโยชน์ และห้ามจดทะเบียนโอนสิทธิในทรัพย์สินนั้นจนกว่าจะได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากผู้ดูแล
ผลประโยชน์ของคู่สัญญา
มาตรา ๑๘ ในกรณีที่คู่สัญญาตกลงกันให้ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญามีหน้าที่ดูแลการปฏิบัติตามสัญญาที่มีการชำระเงิน ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาต้องแจ้งหลักฐานให้คู่สัญญาทราบถึงรายการฝากหรือโอนเงิน และจำนวนเงินคงเหลือในบัญชีดูแลผลประโยชน์ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
มาตรา ๑๙ ในกรณีที่คู่สัญญาได้ปฏิบัติตามข้อตกลงที่กำหนดไว้ในสัญญาดูแลผลประโยชน์
ครบถ้วนแล้ว และไม่มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญาตามสัญญาดูแลผลประโยชน์
ให้ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาโอนเงินพร้อมดอกผลจากบัญชีดูแลผลประโยชน์ หรือจัดให้มีการโอน
หรือส่งมอบทรัพย์สินหรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ตามที่ระบุไว้ในสัญญาดูแลผลประโยชน์
มาตรา ๒๐ ในกรณีที่มีการโอนเงินจากบัญชีดูแลผลประโยชน์ ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาต้องโอนเข้าบัญชีของคู่สัญญาซึ่งมีสิทธิได้รับเงินโดยตรง และต้องแจ้งหลักฐานการโอนเงินให้
คู่สัญญาดังกล่าวทราบโดยทันที”
มาตรา ๗ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๒ แห่งพระราชบัญญัติการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา พ.ศ. ๒๕๕๑ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๒๒ ในกรณีที่คู่สัญญาตกลงให้ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญามีหน้าที่ดูแลการปฏิบัติ
ตามสัญญาที่มีการชำระเงิน เมื่อสัญญาดูแลผลประโยชน์เลิกกัน ให้ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา
พิจารณาดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(๑) ให้คู่สัญญาฝ่ายที่ต้องชาระเงินได้รับเงินและดอกผลจากบัญชีดูแลผลประโยชน์ตามที่
กำหนดไว้ในสัญญาดูแลผลประโยชน์ หรือ
(๒) ให้คู่สัญญาฝ่ายที่ต้องโอนหรือส่งมอบทรัพย์สินหรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ได้รับเงินและดอกผลจากบัญชีดูแลผลประโยชน์ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาดูแลผลประโยชน์การดำเนินการตาม (๑) หรือ (๒) ต้องกระทำภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการประกาศกำหนด”
มาตรา ๘ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติการดูแลผลประโยชน์ของ
คู่สัญญา พ.ศ. ๒๕๕๑ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๒๔ ในกรณีที่คู่สัญญาตกลงให้ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญามีหน้าที่ดูแลการปฏิบัติ
ตามสัญญาที่มีการชำระเงิน เมื่อสัญญาดูแลผลประโยชน์สิ้นสุดลงและได้มีการโอนเงินออกจากบัญชีดูแล
ผลประโยชน์หมดสิ้นแล้ว ให้ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาปิดบัญชีดูแลผลประโยชน์ตามมาตรา ๑๗
วรรคสอง และแจ้งให้คู่สัญญาทราบโดยทันที”
มาตรา ๙ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๘ แห่งพระราชบัญญัติการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา พ.ศ. ๒๕๕๑ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๒๘ ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) กำกับดูแลและส่งเสริมการประกอบกิจการดูแลผลประโยชน์
(๒) เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีเกี่ยวกับการออกประกาศตามพระราชบัญญัตินี้
(๓) ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการประกอบกิจการดูแลผลประโยชน์ตามมาตรา ๗
มาตรา ๑๒ มาตรา ๑๓ มาตรา ๑๔ มาตรา ๑๗ มาตรา ๑๘ และมาตรา ๒๒
(๔) ออกประกาศกำหนดค่าตอบแทนและค่าบริการอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการ
ดูแลผลประโยชน์ตามมาตรา ๘
(๕) กำหนดหลักเกณฑ์เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาปัญหาที่อาจเกิดขึ้นอันเนื่องมาจาก
การใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้
(๖) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ หรือ
ตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย
ประกาศตาม (๓) และ (๔) เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้”
มาตรา ๑๐ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๓๙ แห่งพระราชบัญญัติการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา พ.ศ. ๒๕๕๑ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๓๙ ในกรณีที่ปรากฏต่อคณะกรรมการว่าผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาผู้ใดดำเนินกิจการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๗ วรรคสอง มาตรา ๘ วรรคสอง มาตรา ๑๓ มาตรา ๑๕ มาตรา ๑๗ วรรคสาม มาตรา ๑๘ หรือมาตรา ๒๔ ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้ปรับปรุง ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืน หรือปฏิบัติให้ถูกต้องหรือเหมาะสมภายในระยะเวลาที่กำหนด”
มาตรา ๑๑ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔๐ แห่งพระราชบัญญัติการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา พ.ศ. ๒๕๕๑ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๔๐ ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๑๐ วรรคสอง หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๒ มาตรา ๑๔ มาตรา ๑๗ วรรคหนึ่ง วรรคสอง หรือวรรคสี่ หรือมาตรา ๒๒ ให้คณะกรรมการพิจารณามีคำสั่งลงโทษปรับทางปกครองไม่เกินห้าแสนบาท”
มาตรา ๑๒ บรรดาประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัติการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา พ.ศ. ๒๕๕๑ ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเพียงเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ จนกว่าจะมีประกาศตามพระราชบัญญัติการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
การดำเนินการออกประกาศตามวรรคหนึ่ง ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวัน
นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หากไม่สามารถดำเนินการได้ให้รัฐมนตรีรายงานเหตุผลที่ไม่อาจ
ดำเนินการได้ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ
มาตรา ๑๓ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
ผู้รับสนองพระราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติการดูแลผลประโยชน์ของ
คู่สัญญา พ.ศ. ๒๕๕๑ ใช้บังคับเฉพาะแก่สัญญาต่างตอบแทนที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งมีหนี้ในการโอนหรือส่งมอบทรัพย์สินหรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ และคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งมีหนี้ในการชำระเงินเท่านั้น ไม่สามารถใช้บังคับแก่สัญญาต่างตอบแทนอื่นได้ สมควรแก้ไขให้สามารถใช้บังคับแก่สัญญาต่างตอบแทนอื่นได้ด้วยเพื่อประโยชน์แก่ประชาชน และสมควรแก้ไขหน้าที่ของผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา วิธีการรับรองการฝากเงินและการแจ้งการฝากเงินไปยังคู่สัญญาให้มีความคล่องตัวยิ่งขึ้น และกำหนดให้คณะกรรมการกำกับการประกอบกิจการดูแลผลประโยชน์มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อช่วยในการส่งเสริมการประกอบธุรกิจการดูแลผลประโยชน์มากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้